ลูกปัดหินสีจากอินเดีย และหยกจีน ฝีมือช่างมลายูที่บ้านดอนตาเพชร ‘สถานีการค้า’ เมื่อ พ.ศ.500 / On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

ลูกปัดหินสีจากอินเดีย

และหยกจีน ฝีมือช่างมลายู

ที่บ้านดอนตาเพชร

‘สถานีการค้า’ เมื่อ พ.ศ.500

 

หลังจากที่ปิดปรับปรุงไปเสียนาน ในที่สุดนิทรรศการถาวร “ประวัติศาสตร์-โบราณคดีก่อนพุทธศตวรรษที่ 18” ที่จัดแสดงอยู่ในอาคารมหาสุรสิงหนาท พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ใกล้ท้องสนามหลวง) ก็ได้เปิดให้เข้าชมบางส่วนแล้ว ซึ่งก็ประกอบไปด้วย ห้องศิลปะเอเชีย, ห้องก่อนประวัติศาสตร์, ห้องทวารวดี และห้องศรีวิชัย คงเหลือแค่ห้องลพบุรี ที่ยังไม่เปิดให้เข้าชม

(ถึงแม้ว่าจะยังไม่เรียบร้อยดีนักก็ตาม โดยเฉพาะในส่วนของป้ายอธิบายความต่างๆ แต่เอาน่า ถือเสียว่ากรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ท่านอุตส่าห์ใจดีให้เราเข้าชมโบราณวัตถุก่อนให้หายคิดถึง)

น่าดีใจที่การจัดแสดงครั้งนี้นอกจากจะมีความสวยงาม และสื่อสารกับคนดูได้ดีกว่าแต่ก่อนแล้ว ในบอร์ดนิทรรศการที่เปรียบเทียบ เรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทย กับวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลก ตามลำดับเวลา (timeline) นั้น ก็ยังมีเรื่องราวของ “ประชาชน” อย่าง เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และรวมถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 เอาไว้ด้วย (แม้จะไม่มีรายละเอียด หรือคำอธิบายอะไรในบอร์ดเลย แถมเรายังไม่อาจแน่ใจได้นักว่า เมื่อบอร์ดต่างๆ เหล่านี้ถูกตรวจรับเมื่อส่งมอบงานแล้ว จะยังมีเรื่องราวที่ว่าหรือไม่ก็ตาม แต่นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของคนรุ่นใหม่ในแวดวงพิพิธภัณฑ์ และกรมศิลปากร) เพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย

แต่สิ่งที่ผมอยากจะพูดถึงในที่นี้ ไม่ได้เป็นเรื่องภาพรวมของการจัดแสดง หลังจากปรับปรุงใหม่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ของกรมศิลปากรหรอกนะครับ เรื่องที่ผมอยากจะพูดถึงเป็นเพียงแค่การจัดแสดงของ 2 ชิ้น ที่ได้มาจากแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่ชื่อว่า “บ้านดอนตาเพชร”

 

บ้านดอนตาเพชร ตั้งอยู่ที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พูดง่ายๆ ว่าอยู่ในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่กลอง-ท่าจีน ซึ่งถือเป็นต้นธารของประวัติศาสตร์ไทย เพราะมีแหล่งโบราณคดีที่ก่อเกิดเป็นรัฐยุคแรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นเมืองอู่ทอง ที่ จ.สุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี (นครปฐมโบราณ) เมืองคูบัว ที่ จ.ราชบุรี เป็นต้น

กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชรอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็พอสรุปได้ว่า ดอนตาเพชรเคยเป็นสถานีการค้าที่สำคัญในยุคเหล็ก เมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว คือประมาณ พ.ศ.500 นั่นเอง

แต่การขุดค้นทางโบราณคดีครั้งที่สำคัญที่สุดที่บ้านดอนตาเพชร ดำเนินงานในช่วงขวบปี พ.ศ.2527-2528 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร กับมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพราะในการขุดค้นครั้งนั้นได้มีการค้นพบ “ลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงห์”

ซึ่งก็คือเจ้าลูกปัดที่ถูกนำมาจัดแสดงอยู่ที่ห้องก่อนประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ ที่ผมอยากจะพูดถึงนั่นเอง

 

“คาร์เนเลียน” (Carnelian) นั้นเป็นแร่ ที่ไม่มีอยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ แต่พบมากอยู่ทางแคว้นเดคข่าน ทางตะวันตกของประเทศอินเดีย โดยเฉพาะที่บริเวณใกล้เมืองรัตนปุระ

ดังนั้น บริเวณพื้นที่ดังกล่าวจึงได้กลายเป็นแหล่งผลิตลูกปัด ที่ทำจากหินคาร์เนเลียน (รวมถึงหินสีมีค่าอื่นๆ เช่น อาเกต [Agate] ที่มีแหล่งวัตถุดิบอยู่ในบริเวณนั้นเช่นเดียวกัน) มาตั้งแต่สมัยโบราณ

แน่นอนว่า หินคาร์เนเลียนไม่ได้มีแหล่งแร่อยู่เฉพาะบริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังพบในพื้นที่อื่นๆ ของโลก เช่น ประเทศศรีลังกา และประเทศเปรู รวมถึงพบบ้างเล็กน้อยในเขตพื้นที่ไซบีเรีย ประเทศรัสเซีย ประเทศบราซิล ประเทศเยอรมนี รวมถึงบางเกาะในเขตประเทศอินโดนีเซีย

แต่เมื่อพิจารณาจากรูปแบบของลูกปัดที่พบ และเทคนิควิธีในการหุงสีหินด้วยความร้อน เพื่อให้หินมีสีสดใสยิ่งขึ้น รวมไปถึงวิธีการเจาะรู (สำหรับใช้ร้อยเชือก) บนลูกปัดด้วยหัวเพชรแล้ว ก็ทำให้นักโบราณคดีรู้ได้ว่าลูกปัดหินคาร์เนเลียนที่พบจากบ้านดอนตาเพชร (และรวมถึงอีกหลายแหล่งโบราณคดีในประเทศไทย และอุษาคเนย์) นั้นผลิตขึ้นที่รัตนปุระนี่เอง

ที่สำคัญก็คือ คาร์เนเลียน จากรัตนปุระนั้น ถือเป็นหินคาร์เนเลียนเกรดพรีเมียมในตลาดโลก ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีการทับถมของแร่เหล็กในปริมาณสูง

ลูกปัดหินคาร์เนเลียนที่บ้านดอนตาเพชร จึงไม่ใช่แค่ลูกปัดที่ผลิตจากหินกึ่งรัตนชาติ (แต่ในยุคโน้นก็นับว่าเป็นอัญมณีนั่นแหละ) อิมพอร์ตไก่กาที่ไหน แต่เป็นของชั้นดีขึ้นห้างในตลาดการค้าโลกยุคโบราณเลยต่างหาก ยิ่งแกะสลักเป็นรูปสิงห์ด้วยแล้ว ก็ย่อมต้องเป็นของมีค่ามากกว่าปกติ

 

แน่นอนว่า หลังการขุดค้นที่บ้านดอนตาเพชร ก็มีการค้นพบลูกปัดรูปสิงห์ที่ทำจากหินคาร์เนเลียนชิ้นอื่นจากแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในอุษาคเนย์

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เรากลับไม่พบลูกปัดรูปร่างหน้าตาแบบเดียวกันนี้ที่รัตนปุระ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเลย

และนั่นก็หมายความว่า ลูกปัดคาร์เนเลียนรูปสิงห์นี้ ไม่ได้ผลิตขึ้นเพื่อให้คนพื้นเมือง ที่รัตนปุระใช้

แต่เป็นแบบที่ผลิตขึ้นเพื่อนำมาส่งทอดตลาดที่อุษาคเนย์ต่างหาก ซึ่งก็ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงสถานภาพ และกระเป๋าสตางค์ ของผู้คนที่บ้านดอนตาเพชร (แน่นอนว่า ผมหมายถึงเฉพาะคนชั้นสูง) เมื่อเรือน พ.ศ.500 ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

แต่ลูกปัดรูปสิงห์ที่ผลิตขึ้นจากหินคาร์เนเลียนก็ไม่ใช่ของมีค่าเพียงอย่างเดียวที่พบจากบ้านดอนตาเพชรหรอกนะครับ

สิ่งของอีกชิ้นที่ไม่ค่อยถูกนำมาพูดถึงกันนัก แต่ได้ถูกนำมาจัดแสดงอยู่คู่กันกับลูกปัดคาร์เนเลียนรูปสิงห์ในครั้งนี้

ซึ่งรู้จักกันในแวดวงโบราณคดีในชื่อของ “ตุ้มหูลิงลิงโอ” (Lingling-O) นั้นก็น่าสนใจไม่แพ้กันนัก

ลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงห์ และตุ้มหูลิงลิงโอ พบที่บ้านดอนตาเพชร ถูกจัดแสดงไว้คู่กันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ตุ้มหูชนิดนี้มีหลักฐานว่า ผลิตมาตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว (อันเป็นช่วงเวลาที่นิยมสมมุติชื่อเรียกในอุษาคเนย์ว่า ยุคหินใหม่) โดยจะพบกระจายตัวอยู่ตามภาคหมู่เกาะ ซึ่งสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลมลายู อันเป็น “คนเรือ” แห่งอุษาคเนย์ โดยหลักฐานเก่าแก่ที่สุดนั้นพบว่า ผลิตขึ้นที่หมู่เกาะ ในเขตประเทศฟิลิปปินส์

แต่ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าผลิตขึ้นที่ฟิลิปปินส์ แต่หินที่ถูกนำมาใช้ผลิตเป็นตุ้มหูชนิดนี้คือ “หยกเนฟไฟรต์” (Nephrite, หรือที่มักจะเรียกกันว่า หยกจีน) ก็ไม่ได้มีแหล่งวัตถุดิบอยู่ในอุษาคเนย์ภาคหมู่เกาะเลย แต่มีแหล่งหินอยู่ที่เกาะไต้หวันต่างหาก

พูดง่ายๆ ชาวมลายูที่ฟิลิปปินส์เมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว ได้ล่องเรือขึ้นไปยังเกาะไต้หวัน เพื่อนำเอาหินหยกมีค่า ที่หาไม่ได้ในย่านชุมชนของตนเอง มาจาระไนทำเป็นเจ้าตุ้มหูที่มีชื่อเรียกแปลกๆ ว่า ลิงลิงโอ ที่ตามหมู่เกาะในฟิลิปปินส์นี่แหละ

แต่ตุ้มหูชนิดนี้ไม่ได้พบในฟิลิปปินส์เท่านั้น เพราะมีการผลิตขึ้นอย่างสืบเนื่องยาวนาน จนกระทั่งเมื่อราว พ.ศ.500 หรือ 2,000 ปีที่แล้ว ก็ยังนิยมอยู่ในกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลมลายูอีกพวก ที่เรียกกันว่า “วัฒนธรรมซาหวิ่น” (Sa Huynh) คือบรรพชนของชาวจาม

ที่ในช่วงเวลานั้นมีศูนย์กลางอยู่แถบทางตอนกลางของประเทศเวียดนามในปัจจุบันนี้

 

เมื่อ พ.ศ.500 คนที่บ้านดอนตาเพชร ก็คงจะได้ตุ้มหูลิงลิงโอที่ว่านี่มาจากพวกคนเรือ ที่เรียกว่า ซาหวิ่น ซึ่งคนพวกนี้ก็ไปเอาหยกจีนจากเกาะไต้หวันมาผลิตอีกทอดหนึ่ง

ไม่ต่างอะไรจากที่พวกเขาไปนำเอาลูกปัดรูปสิงห์ที่ทำมาจากหินคาร์เนเลียน มาจากเมืองรัตนปุระ ในประเทศอินเดีย โดยลูกปัดหน้าตาแบบนี้เป็นลูกปัดที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อส่งออกมายัง “ตลาด” ที่อุษาคเนย์

และก็เป็นเพราะสถานภาพอย่างนี้ของผู้คนที่บ้านดอนตาเพชรนี่แหละครับ ที่ทำให้พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง-ท่าจีน เจริญขึ้นเป็นรัฐขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอู่ทอง หรือนครปฐม ฯลฯ อย่างที่นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์เรียกว่า วัฒนธรรมแบบทวารวดี และถือเอาเป็นยุคเริ่มต้นประวัติศาสตร์ของไทย

การนำทั้งตุ้มหูลิงลิงโอ และลูกปัดหินคาร์เนเลียนรูปสิงห์ ที่พบจากบ้านดอนตาเพชร มาจัดแสดงไว้คู่กันจึงมีพลังที่ชวนให้จินตนาการถึงภาพของ “สถานีการค้า” แห่งนี้เมื่อ พ.ศ.500 เป็นอย่างมาก

และคงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จะจัดวางมันไว้คู่กันเฉยๆ โดยไม่มีคำอธิบายถึงความสำคัญของโบราณวัตถุทั้งสองชิ้นนี้