สินทรัพย์ดิจิตอลร้อนแรงข้ามปี คนรุ่นใหม่แห่ลุยทะลุ 2 ล้านบัญชี สรรพากรไม่ตกยุคไล่บี้ภาษี/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

สินทรัพย์ดิจิตอลร้อนแรงข้ามปี

คนรุ่นใหม่แห่ลุยทะลุ 2 ล้านบัญชี

สรรพากรไม่ตกยุคไล่บี้ภาษี

 

เทรนด์การลงทุนที่ร้อนแรงทั่วโลก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็คือ การเทรดสินทรัพย์ดิจิตอลประเภท “คริปโตเคอร์เรนซี่” ที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่เข้ามาสนใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยราคาที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความผันผวนรุนแรงแบบที่ไม่มีเพดานราคา

โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลทั่วโลกมีมูลค่าตามราคาตลาดประมาณ 2.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนั้นกว่า 40% มาจาก “บิตคอยน์” (BTC) โดยช่วงสิ้นปีมีการซื้อขายอยู่ที่ระดับ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

“บิตคอยน์” ถือเป็นเหรียญที่ฮอตขึ้นมาแรกๆ โดยช่วงที่ผ่านมาทำราคาสูงสุดทะลุ 6 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ล่าสุดก็ร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 4.64 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ

อีกเหรียญที่ได้รับความสนใจและกำลังมาแรงไม่แพ้กันก็คือ “อีเทอเรียม” (ETH) ก็เป็นอีกเหรียญที่คาดว่าจะมาแรงต่อเนื่องในปี 2565 โดยล่าสุดราคาอยู่ที่ระดับ 3.76 พันดอลลาร์สหรัฐ

 

ขณะที่เหรียญในประเทศไทย ที่ได้รับความสนใจและร้อนแรงที่สุดก็คือเหรียญ “KUB” (Bitkub Coin) ที่พัฒนาโดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ทำสถิติราคาสูงทะลุ 580 บาทไปแล้ว ที่ได้รับแรงหนุนสำคัญจากกรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ประกาศส่งบริษัทลูกเข้าไปลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด รวมถึงการเดินสายผนึกกำลังร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์ของคริปโตเคอร์เรนซี่

นอกจากนี้ ยังมีเหรียญ “Jfin” (JFIN Coin) ในเครือ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ซึ่งราคาปัจจุบันอยู่ระดับกว่า 130 บาท

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิตอลในประเทศไทยในปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าคึกคักเป็นอย่างมาก โดยมีกระแสผู้เล่นรายใหม่เข้ามาตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดือนมกราคม 2564 ที่มีคนไทยเปิดพอร์ตซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่อยู่ทั้งสิ้น 4.7 แสนบัญชี ได้เพิ่มขึ้นถึง 1.979 ล้านบัญชีในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยข้อมูลถึงสิ้นปีก็ทะลุ 2 ล้านบัญชี และคาดว่าในปีนี้ก็จะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สาเหตุที่คนไทยหันมาสนใจซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลเพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะผู้ซื้อขายสามารถลงทุนสินทรัพย์ดิจิตอลทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ด้วยตนเอง โดยใช้จำนวนเงินไม่มาก เพราะสามารถซื้อขายเป็นหน่วยย่อยได้”

ขณะเดียวกันปัจจุบันภาคเอกชนเริ่มให้ความสนใจกับการประยุกต์ใช้สินทรัพย์ดิจิตอลกับธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือการนำทรัพย์สินมาแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิตอล ทำให้กระแสนิยมการใช้งานสินทรัพย์ดิจิตอลในประเทศไทยแพร่หลายอย่างรวดเร็ว

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าจะได้เห็นการพัฒนาและการนำไปใช้งานใหม่ๆ ของสินทรัพย์ดิจิตอลอีกมาก ทั้งในส่วนที่นำมาประยุกต์ใช้ในภาคการเงินและอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยการกำกับดูแลนั้น ก.ล.ต.ได้มีการติดตามแนวทางจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามพัฒนาการและความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิตอล โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการสร้างนวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการคุ้มครองผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาด

“ก.ล.ต.ยึดหลักสนับสนุนการพัฒนาควบคู่กับการคุ้มครองผู้ลงทุน และมีแนวทางกำกับดูแลให้มีความเท่าทันต่อพัฒนาการของธุรกิจและสภาพการณ์ปัจจุบัน ให้เทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพัฒนาการด้านนวัตกรรมทางการเงิน โดยยังคงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิตอลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องสำคัญให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

อย่างไรก็ดี เนื่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 บางส่วนอาจไม่สอดคล้องกับลักษณะการใช้งานสินทรัพย์ดิจิตอลที่เปลี่ยนแปลงไป ก.ล.ต.จึงเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนทั้งในประเด็น “การเสนอขายสินทรัพย์ดิจิตอล” และ “การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล” โดยร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลอื่นที่เกี่ยวข้องมาช่วยพิจารณาการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงต่อไป

พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิตอลที่มีลักษณะของการระดมทุน ได้แก่ โทเค็นดิจิตอลเพื่อการลงทุน (investment token) และโทเค็นดิจิตอลเพื่อการใช้ประโยชน์ซึ่งสินค้าหรือบริการที่ยังไม่สามารถใช้ได้ทันที (utility token ไม่พร้อมใช้) ภายใต้ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ไปกำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

 

อีกความเคลื่อนไหวสำคัญที่อยู่ในความสนใจของแวดวงผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิตอล ก็คือกรณีที่ “กรมสรรพากร” ออกมาประกาศให้บุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และในปีภาษี 2564 ที่กรมสรรพากรให้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2565 นั้น ทางกรมสรรพากรได้ปรับปรุงแบบแสดงรายได้โดยเพิ่มช่องรายได้จากการลงทุน จาก “คริปโตเคอร์เรนซี่” หรือ “โทเค็นดิจิตอล” เพื่อให้ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ประเภทนี้ได้ยื่นแสดงเงินได้ด้วย

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การเทรดสินทรัพย์ดิจิตอล หรือคริปโตเคอร์เรนซี่นั้น พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 กำหนดไว้ชัดเจนว่า หากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร (capital gain) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อที่จะให้ตลาดซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ (Exchange) ทำหน้าที่หักภาษีส่งกรมสรรพากร

“ถ้ามีกำไรจากการเทรดบิตคอยน์ก็เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่จะต้องมายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40(4) ภายในเดือนมีนาคม 2565 กรมสรรพากรจะมีช่องให้ติ๊กสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี่ เพื่อให้ผู้เสียภาษีสำแดงเงินได้ หากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่น กรมมีระบบ data analytics ตรวจสอบได้ และกรมสรรพากรมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้ เช่น การเรียกบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิตอลมาให้ข้อมูล เป็นต้น” นายเอกนิติกล่าว

อย่างไรก็ดี ความร้อนแรงของการซื้อขาย “สินทรัพย์ดิจิตอล” ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการเงินยุคใหม่ กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของโลกการเงิน ที่เป็นโจทย์ท้าทายของหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะสร้างสมดุลระหว่างการคุมความเสี่ยง กับการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีการเงินอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร