ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | วิกฤตโควิดระลอกใหม่ ภายใต้รัฐล้มเหลว

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดประเทศไทยก็เข้าสู่การระบาดระลอกใหม่อย่างที่ทุกคนหวั่นเกรง และถึงแม้ใครต่อใครจะคาดเดาตั้งแต่ก่อนสิ้นปีว่าเชื้อจะพุ่งหลังปีใหม่

การเผชิญกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นจริงๆ ก็ทำให้คนกังวลมากกว่าที่คิด เพราะหมายถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครควบคุมอะไรได้เลย

หมอยง-ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ และหมอที่สนับสนุนรัฐบาลบอกมาตั้งแต่เดือนธันวาคมว่า “โอมิครอน” ไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ความไม่น่ากลัวที่คนเหล่านี้พูดถึงคือ “อาการ” ทางสุขภาพของโอมิครอนที่มีน้อยเมื่อเทียบกับโควิดสายพันธุ์อื่นๆ แต่ประเด็นคือโควิดไม่ได้เป็นปัญหาแค่เรื่องทางสุขภาพ แต่ยังมีมิติทางสังคม

สำหรับคนที่มีรายได้หรือมีอันจะกิน โอมิครอนก็แค่เชื้อร้ายที่เดี๋ยวก็หาย หากนอนพักดีๆ กินยาให้ครบ และกักตัวตามที่หมอกำหนด

แต่สำหรับคนรายได้น้อยและแทบไม่มีอะไรจะกิน การติดโควิดคือการไม่มีรายได้ในช่วงที่ต้องเข้ารับการรักษา 14 วัน รวมทั้งต้องกักตัวเองต่อเนื่องอีก 14 วัน

หนึ่งเดือนที่ต้องกักตัวอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับข้าราชการหรือมนุษย์เงินเดือน แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ หรือมีอาชีพที่หยุดงานก็ไม่ได้เงิน อย่างขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, ขับแท็กซี่, ยาม, แม่ค้า ฯลฯ โควิดหมายถึงหนึ่งเดือนที่รายได้หลักของตัวเองและครอบครัวจะหายวับไปในทันที

โอมิครอนในมิติสุขภาพเป็นเรื่องธรรมชาติที่ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในตัวบุคคล แต่ผลกระทบที่โอมิครอนมีต่อแต่ละคนต่างกันนั้นเป็นเรื่องทางสังคม

คนที่บอกว่าโอมิครอนไม่น่ากลัวจึงพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว

หมอมนูญ-นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ คือหนึ่งในบุคลากรการแพทย์ที่มีบทบาท “กูรูโควิด” ช่วงไวรัสระบาด แต่ทันทีที่หมอมนูญบอกว่าโอมิครอนไม่น่ากลัว เปรียบเสมือน “วัคซีนธรรมชาติ” เดี๋ยวทุกคนก็ติดเชื้อหมด สักพักภูมิคุ้มกันจะเกิด คำวิจารณ์ที่สังคมมีต่อหมอมนูญก็ดุเดือดไม่แพ้คำวิจารณ์หมอยงกรณีวัคซีนจีน

อันที่จริงคนที่ประเมินโอมิครอนแบบนี้ไม่ได้มีแค่หมอมนูญ สื่อ, หมอ หรือคนทั่วไปที่สร้างทฤษฎีว่าโอมิครอนคือ “วัคซีนธรรมชาติ” ที่จะกวาดล้างจนเป็น “ตัวปิดเกม” โควิดสายพันธุ์อื่นๆ นั้นมีเยอะไปหมด แต่ไม่มีใครพูดชัดๆ จนคนฟังเห็นปัญหาของแนวคิดนี้ชัดเท่าที่หมอมนูญประกาศมา

สรุปแบบสั้นที่สุด คำพูดเรื่องโอมิครอนคือ “วัคซีนธรรมชาติ” ที่จะมีบทบาทเป็น “ตัวปิดเกม” การระบาดทั้งหมดนั้นเป็นเพียงข้อสังเกต (Observation) ที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซ้ำยังเป็นข้อสังเกตไม่มีประเทศไหนรับรองจนนำไปปฏิบัติเลย

มองในมิติสุขภาพ ความเชื่อว่าโอมิครอนคือ “ตัวปิดเกม” โควิดสายพันธุ์อื่นๆ วางอยู่บนสมมุติฐานว่าเชื้อจะไม่มีการกลายพันธุ์อีก แต่โควิดจะกลายพันธุ์หรือไม่เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้ ความเชื่อว่าโอมิครอนจะเป็นเสมือน “วัคซีนธรรมชาติ”

จึงเป็นการคาดเดาที่ไม่มีรากฐานที่พิสูจน์ได้เลย

เท่าที่มีข้อมูลปรากฏตอนนี้ ฝรั่งเศสเพิ่งเจอโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ชื่อ B.1640.1 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากแคเมอรูน “กูรูโควิด” อย่างหมอธีระวัฒน์-นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุว่า โควิดตัวนี้หนีภูมิคุ้มกันได้คล้ายโอมิครอน ซ้ำยังอาจมาแทนโอมิครอนได้ด้วย ซึ่งก็เท่ากับว่าทฤษฎี “วัคซีนธรรมชาติ” ยังห่างไกลจากความจริง

มองในแง่นโยบายสาธารณะ คำพูดเรื่อง “เดี๋ยวทุกคนก็จะติดเชื้อกันหมด” จนโควิดหยุดระบาดนั้น คล้ายกับแนวคิดเรื่อง “ภูมิคุ้มกันหมู่” หรือ Herd Immunity ซึ่งเชื่อว่าเมื่อคนติดเชื้อมากๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันมาก และเมื่อสังคมมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ในที่สุดเชื้อก็จะแพร่หรือระบาดไม่ได้เลย

แน่นอนว่าช่วงที่โควิดระบาดใหม่ๆ ในปี 2563 มีประเทศอย่างอังกฤษหรือสวีเดนที่เชื่อว่าการปล่อยให้ “ทุกคนติดเชื้อกันหมด” คือวิธีหยุดการระบาดที่ดีที่สุด แต่เมื่อเชื้อลุกลามจนทั้งสองประเทศมีคนตายหรือคนป่วยหนักมากขึ้นเรื่อยๆ นโยบายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่แบบนี้ก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

มองในแง่ผลกระทบทางสังคม คำประกาศว่าโอมิครอนคือวัคซีนธรรมชาติทำให้เกิดความรู้สึกว่าไวรัสไม่ใช่เรื่องอันตราย ซ้ำยังอาจชวนให้เข้าใจว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องป้องกันการระบาดต่อไป ผลก็คือทุกคนมีโอกาสเป็น Super Spreader ที่แพร่เชื้อสู่คนอื่นโดยไม่รู้ว่าตัวเองแพร่เชื้อเลย

ยิ่งคำนึงว่าไวรัสคือเชื้อที่มีโอกาสทำให้คนตายและป่วยถึงขั้นเข้า ICU ก็ยิ่งเห็นความบิดเบี้ยวทางตรรกะของคำพูดว่าไวรัสคือ “วัคซีนธรรมชาติ” ขึ้นไปอีก เพราะวัคซีนคือการสร้างภูมิคุ้มกันจนคนไม่ป่วย หรือป่วยแต่มีอาการน้อยมาก และการที่คนติดเชื้อแล้วหายไม่ได้ทำให้เชื้อเป็นวัคซีนได้เลย

ปฏิกิริยาที่สังคมมีต่อของหมอมนูญสะท้อนความกังวลที่คนมีต่อมาตรการควบคุมการระบาดของรัฐบาล และไม่ว่าใครจะบอกว่าโอมิครอนไม่อันตรายในแง่สุขภาพ อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็วที่นำไปสู่การเพิ่มโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยก็ยืนยันว่าการระบาดอันตรายอยู่ดี

ถ้าเทียบกับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคมที่ผู้ติดเชื้อโอมิครอนไม่ถึงหลักร้อย ปรากฏการณ์ที่อุบลราชธานีต้องย้ายผู้ป่วยไปโรงพยาบาลสนาม หรือ กทม.ต้องเตรียมศูนย์พักคอย 40 แห่งและเตียงอีกเกือบ 25,000 เตียง ก็สะท้อนว่าโอมิครอนทำให้เกิดสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจจริงๆ

หนึ่งในปัญหาหลักของโอมิครอนคือความเร็วในการระบาดที่มากจนอาจทำให้ระบบสาธารณสุขพัง และเมื่อคำนึงว่าขณะนี้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อวันละกว่า 1 ล้าน ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสมีผู้ติดเชื้อใหม่ราววันละ 2 แสน ก็ต้องถือว่าโอมิครอนทำให้การระบาดของโควิดเพิ่มในอัตราเร่งที่น่ากลัว

ต่อให้โอมิครอนจะอันตรายต่อบุคคลน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่พุ่งอย่างรวดเร็ว จำนวนคนป่วยหนักหรือถึงแก่ชีวิตก็มีโอกาสพุ่งสูงตามไปด้วย

ไม่ต้องพูดถึงอัตราการครองเตียงที่จะกระทบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยโรคอื่น หรือแม้กระทั่งโอกาสที่บุคลากรแพทย์จะติดเชื้อตาม

แน่นอนว่าประเทศไทยรอบที่แล้วมีผู้เสียชีวิตหรือติดเชื้อน้อยกว่าสหรัฐและยุโรป แต่ปัญหาคือคนไทยส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจีนซึ่งมีสมรรถนะในการต้านโอมิครอนต่ำมาก โอกาสที่ไทยจะเผชิญการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลเกินความเป็นจริง

แม้กรุงเทพฯ จะมีผู้ติดเชื้อมากอันดับต้นๆ เหมือนรอบที่แล้ว แต่จังหวัดอื่นในภาคอีสานก็มีผู้ติดเชื้อในครอบครัวมากจนเห็นได้ชัด ส่วนชลบุรีก็มีผู้ติดเชื้อจากร้านอาหารและผับมากผิดสังเกต

ทั้งหมดนี้ชี้ว่าการระบาดระลอกนี้มาจากการไม่ระวังตัวอย่างเคร่งครัดในพื้นที่ส่วนตัวหรือกึ่งส่วนตัว

ไม่ว่าการไม่ระวังตัวนี้จะเกิดจากอะไรระหว่างความไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ, เมาเละ, ไม่แคร์การระบาด หรือเชื่อคนบางกลุ่มว่าโอมิครอนไม่อันตราย เส้นทางสู่การระบาดระลอกใหม่ของประเทศไทยก็กำลังเริ่มต้นขึ้นจนไม่มีทางหลีกเลี่ยงความสับสนอลหม่านรอบใหม่ได้เลย

ถ้าปัญหาหลักของการระบาดรอบที่แล้วคือมาตรการควบคุมการระบาดที่สับสนไปมาของรัฐบาล ปัญหาหลักของการระบาดระลอกนี้ก็คือรัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ

ล่าช้าราวกับไม่ต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะสาเหตุอะไรก็ตาม

โอมิครอนคือสถานการณ์ที่ควรตระหนักโดยไม่ตระหนก แต่การไม่ตระหนกไม่ได้หมายความถึงความเชื่องช้าในการแก้ปัญหาของคุณประยุทธ์ซึ่งป้จจุบันยังคงเป็นหัวหน้า ศบค. ทว่ากลับหายไปเฉยๆ ตั้งแต่ช่วงหยุดยาวปีใหม่มาหลายวันจนเหมือนประเทศไทยไม่มีผู้นำในความเป็นจริงอยู่เลย

การระบาดระลอกใหม่หมายถึงการเสียโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจ และความเชื่อว่าประเทศมีโอกาสฟื้นฟูคือหัวใจของการทำให้คุณประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อไป ความล่าช้าของรัฐรอบนี้อาจเกิดจากความต้องการจำกัดผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ความล่าช้าก็ทำให้เกิดปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจอยู่ดี

สำหรับประเทศที่อยู่ภายใต้ภัยคุกคามโควิดมาเป็นปีที่สาม โศกนาฏกรรมที่น่าเศร้าที่สุดคือการมีผู้นำประเทศคนเดิมซึ่งไม่มีพัฒนาการแก้ไขปัญหาอะไร

รัฐกลายเป็นตัวถ่วงมากกว่าเป็นตัวกระตุ้นการแก้ปัญหา

และความกังวลของประชาชนมาจากความไม่เชื่อมั่นรัฐบาล