จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : กระทาย / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

กระทาย

 

เห็นชื่อเรื่องอย่าเพิ่งคิดว่าเขียนผิดพิมพ์ผิด ไม่มีในสมัยนี้ ใช่ว่าสมัยก่อนไม่มี กระทาย หรือ กะทาย เป็นภาชนะเครื่องสานเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก แข็งแรงทนทาน ใช้มายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

บทละครครั้งกรุงเก่าเรื่อง “สังข์ทอง” เล่าถึงกระทายไว้หลายตอนเป็นภาชนะอเนกประสงค์ใส่ได้ทั้งของใช้ของกิน ตอนนางกำนัลเชิญ ‘เครื่องต้นเครื่องทองอลงการ์’ ที่ท้าวยศวิมลให้นำไปถวายนางจันทร์เทวี พระมเหสีที่อยู่ใน ‘กระท่อมกระจิริด แผงนิดขึ้นตั้งบังเป็นฝา เสื่อสาดมิได้รองกายา’ อีกทั้งเสื้อผ้ามีสภาพ ‘ผ้านุ่งรุงรังปะปุ ทะลุไม่เอาชิ้นได้’

ปฏิกิริยาของนางจันทร์เทวีก็คือ

 

“เมื่อนั้น                                      นางจันทร์อายใจเป็นหนักหนา

นางไม่สระสรงคงคา                        ใครจะว่าเท่าไรก็ไม่ฟัง

จับได้กระทายกินหมาก                   ออกจากทับน้อยเจ้าห่วงหลัง

แม่เอ๋ยฝากด้วยช่วยระวัง                  อยู่หลังท่านช่วยระวังทับ (ทับ=กระท่อม)

กาไก่จะกินเข้าปลา                         เมตตาข้าด้วยจงช่วยขับ

ผักปลาข้าไว้ที่ในทับ                        ฝากกับบ้านแล้วก็คลาไคล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ข้อความว่า ‘จับได้กระทายกินหมาก’ บอกให้รู้ว่านางจันทร์เทวีใส่หมากพลูและอุปกรณ์กินหมาก เช่น ครก สาก ฯลฯ เอาไว้ใน ‘กระทาย’ แสดงว่าภาชนะนี้ต้องใหญ่พอสมควร มีปากกว้าง ก้นลึกมากพอจะบรรจุสิ่งต่างๆ ไว้ในนั้นได้ นอกจากนี้ ตอนที่ท้าวยศวิมลและนางจันทร์เทวี ‘แปลงกายาเป็นคนต่ำช้าเข็ญใจ ปลอมเข้าไปเมืองสามนต์’ เพื่อตามหาพระโอรส กวีบรรยายภาพนางจันทร์เทวีว่า

 

“ของกินนั้นใส่ในกระทาย                  นางจันทร์โฉมฉายกระเดียดมา”

 

คำว่า ‘กระเดียด’ คือ เอาเข้าข้างสะเอว

รายละเอียดของกิริยา ‘กระเดียด’ ชัดเจนอยู่ใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์

“กระเดียด, อาการที่ผู้หญิงไปตลาดหฤๅไปไหน เอากระจาดฤๅกะโล่ใส่ที่บั้นเอวเดิรไป.”

 

เมื่อประมวลคำอธิบายจากพจนานุกรมหลายเล่ม ‘กะทาย’ คือ ภาชนะสานทึบด้วยไม้ไผ่ ทรงสูง กลางป่อง ลักษณะคล้ายกระบุง แต่เล็กกว่า ปากผาย ก้นเว้าอย่างรูปกระโถนป่องกลาง มีไม้ทรงสี่เหลี่ยมรองรับ ภาชนะนี้ใช้สำหรับใส่สิ่งของหรือพืชผล โบราณใช้เป็นเครื่องตวงข้าว 2 กระทาย เป็น 1 กระบุง มีอัตราเท่ากับครึ่งถังหรือ 10 ลิตร ลักษณะนามคือ ใบ และลูก

วรรณคดีหลายเรื่องบันทึกว่า กระทายคือ ภาชนะอเนกประสงค์ใส่ได้สารพัดตั้งแต่อุปกรณ์กินหมาก ผลไม้ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับไป จนถึงทรัพย์สินเงินทอง ฯลฯ

บทละครนอก เรื่อง “สังข์ทอง” ของรัชกาลที่ 2 เล่าถึงเจ้าเงาะต้อนรับขับสู้นางมณฑา พระมารดาของนางรจนาที่มาหาถึงกระท่อมปลายนา

 

“นั่งยองยองมองดูแล้วปูผ้า                  พนมมือเมินหน้าท่าแบกขวาน

ราวกับจะรับศีลสมภาร                      พังพาบกราบกรานท่านแม่ยาย

แล้วลุกมาหาครกตำหมาก                  ไม่พบสากเจ้ากรรมใครทำหาย

ล้วงมือค้นได้ในก้นกระทาย                 เอาปูนป้ายพลูใส่ลงในครก

ฉวยมีดผ่าหมากดิบหยิบใส่                  อุตส่าห์ตำตั้งใจมิให้หก

ทำเหมือนอยู่วัดวาดังทารก                  ประเคนครกเข้าไปให้แม่ยาย”

 

จะเห็นได้ว่า สากสำหรับตำหมากอยู่ในกระทายนี่เอง

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” อีไหมคนรับใช้ของสร้อยฟ้าหอบผลไม้ใส่กระทายไปถวายเถนขวาด

 

“ก็ทรุดนั่งวางกระทายไหว้ท่านขรัว                ว่าเจ้าตัวใช้ข้ามาหาเถน

ยกส้มสูกลูกไม้ไปประเคน                           เจ้าเณรรับถ่ายกระทายคืน”

 

เอาของเยี่ยมออกแล้วก็คืนกระทายให้อีไหมเป็นอันเรียบร้อย ในบทละครเรื่อง “สังข์ทอง” มีอยู่ตอนหนึ่งรัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายถึงพระบิดาพระมารดาของพระสังข์ปลอมตัวเป็นชาวบ้านเพื่อตามหาโอรส

 

“จึงหยิบย่ามละว้ามาสะพาย                      นางกระเดียดกระทายทำเหมือนไพร่”

 

ถ้าพิจารณาแค่ข้อความตรงนี้ประกอบกับเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนที่อีไหมเอากระทายใส่ผลไม้ไปพบเถนขวาด และตอนที่กวีเล่าถึงพี่เลี้ยงนางพิมพิลาไลยว่า ‘สายทองส่งกระทายให้บ่าวข้า อีมีรับมาขมีขมัน’ อาจทำให้เข้าใจว่า ‘กระทาย’ เป็นภาชนะใช้สอยของบ่าวไพร่ยากจนชนสามัญ แท้จริงแล้วใช้กันทั่วถึงทั้งคนมั่งมีและเข็ญใจ

ลองดูข้าวของในกระทายแล้วจะรู้

 

ตอนที่ท้าวยศวิมลและนางจันทร์เทวีตกลงใจจะปลอมตัวเข้าเมืองสามนต์ ก็พร้อมใจกันทำดังที่รัชกาลที่ 2 ทรงบรรยายว่า

 

“สั่งพลางทางเปลื้องเครื่องทรง                เอาซ่อนใส่ลงในย่ามใหญ่

นางถอดเครื่องประดับฉับไว                  ซ่อนใส่ในกระทายมิทันช้า”

….. ฯลฯ ……

พระหยิบย่ามละว้ามาตะพาย                นางกระเดียดกระทายตามหลัง

 

ในบทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” นางจระเข้วิมาลาเก็บข้าวของเพื่อไปอยู่กินกับไกรทอง หนุ่มหล่อหมอจระเข้

 

“จึงลุกเข้าไปในห้อง                             จัดแจงสิ่งของจะตามผัว

ผ้าผ่อนเงินทองของแต่งตัว                     แหวนหัวแหวนมณฑปครบครัน

แล้วเลือกของรักใคร่ใส่กระทาย               มากมายสารพัดจัดสรร”

 

โดยเฉพาะนางวันทองในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ใช้บริการกระทายอย่างเต็มที่ เนื่องจาก ‘ผัวไปเป็นความกับลูกชาย’ เมื่อแพ้คดีความก็ถูก ‘ส่งเข้าคุกประทุกทั้งขื่อคา พระพันวษากริ้วกราดคาดโทษตาย’ นางก็ต้องหา ‘ตัวช่วยคุณภาพ’ ด้วยการไขกำปั่น หรือหีบเหล็กสำหรับใส่เงินและของมีค่าต่างๆ

 

“เปิดฝาคว้าทองสองสามอัน                   แล้วหยิบขันปากสลักตักเงินตรา

ใส่ลงในกระทายเป็นหลายขัน                 ปากนั้นกอบเบี้ยเกลี่ยปิดหน้า

แล้วส่งให้อีเขียดกระเดียดมา                  ทั้งข้าวปลาหาไปใส่ขันโต

แล้วจัดแจงสำรองของกำนัล                  เนื้อฉมันน้ำผึ้งเป็นครึ่งโถ

ให้บ่าวเที่ยวซื้อหาปลาเทโพ                   บรรทุกเรือแตงโมแล้วรีบมา”

 

อุตส่าห์พาบ่าวไพร่หอบข้าวของมากมายไปในคุกก็เพื่อบรรเทาทุกข์ผัว

 

“บ้างแบกโต๊ะของกำนัลขันข้าวปลา           ถึงริมคุกขึ้นหาพัศดีกลาง

ของกำนัลให้ท่านพัศดี                          คุณพ่อได้ปรานีดีฉันบ้าง

จะไปขอส่งข้าวเจ้าขุนช้าง                      คุกตะรางอย่างไรฉันไม่เคย

พัศดีเรียกทำมะรงเนียม                        ช่วยพาพี่แกไปเยี่ยมผัวหน่อยเหวย”

 

แล้วงานนี้กระทายก็เป็นพระเอก ดังที่กวีเล่าว่า นางวันทองยืนยันให้ขุนช้างมั่นใจในตัวนางและใช้ ‘ตัวช่วยจากกระทาย’ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผัวสุดที่รัก

 

“อย่ากลัวเลยอย่างไรไม่ทิ้งกัน

ว่าพลางหยิบเงินในกระทาย                  ให้กับนายทำมะรงขมีขมัน

ทั้งนายร้อยนายใหญ่ให้ทั่วกัน                คนโทษทัณฑ์ให้ทานทุกคนไป

ฝากฝังสามีแล้วมิช้า                           ก็ลุกลาออกจากในคุกใหญ่

ให้เงินพัศดีกลางนางรีบไป                   ……………………………………..”

 

เอทีเอ็มเคลื่อนที่ในคุก หน้าตาอย่างนี้เอง