พยัคฆ์ร้าย 2565 (จบ) ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พยัคฆ์ร้าย 2565 (จบ)

ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า!

 

“หากปราศจากความเสมอภาคแล้ว เราจะไม่สามารถยุติการระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดอื่นๆ ได้เลย”

Peter Sands (Global Fund)

 

หมายเหตุผู้เขียน : ในส่วนแรกของบทความนี้ได้นำเสนอถึงปัญหาที่รัฐบาลไทยต้องเผชิญในปี 2565 และในส่วนที่สองนี้ จะนำเสนอเพิ่มเติมจากที่กล่าวแล้วนั้น

 

4) สงครามความยากจน : ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยอย่างมากจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มคนจน หรืออาจกล่าวได้ว่าชีวิตทางสังคมของคนไทย โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นล่างน่าจะประสบปัญหาความยากลำบากมากขึ้น

การพาตัวเองกลับเข้าสู่การจ้างงานครั้งใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติของเศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ซึ่งหากพิจารณาในอดีตจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 จะเห็นได้ว่าหนึ่งในผลกระทบที่สำคัญก็คือ ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์

ดังนั้น ในวิกฤตเศรษฐกิจไทยของยุคโควิด จะพบว่าปัญหาความมั่นคงของมนุษย์น่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 อย่างเห็นได้ชัด

อีกทั้งยังเห็นสัญญาณความหนักหน่วงของปัญหานี้จากการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 93

และต้องถือว่าตัวเลขเช่นนี้คือสัญญาณของวิกฤตชีวิตของคนไทยอีกด้วย และยังถูกซ้ำเติมจากปัญหา “ช่องว่าง” ที่ส่งผลให้เกิด “ความไม่เท่าเทียม” ในสังคม

อันทำให้แนวโน้มของความไม่เท่าเทียมเป็นประเด็นสำคัญอีกส่วนของชีวิตคนไทย

วิกฤตเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 นำไปสู่การเลิกจ้างงาน และการปิดตัวลงของภาคธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ประเด็นความมั่นคงของมนุษย์มีความสำคัญอย่างมาก และภาครัฐจะต้องใส่ใจมากขึ้น

ผลที่เกิดจะทำให้เรื่องของการจัดสวัสดิการทางสังคมได้รับความสนใจในเชิงนโยบายมากขึ้นด้วย หรืออาจคาดการณ์ในอนาคตได้ว่า ข้อเรียกร้องเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” (welfare state) จะเป็นประเด็นสำคัญ เพราะชีวิตของผู้คนจำนวนมากในสังคมต้องเผชิญกับความยากลำบากในชีวิต

อันทำให้การสร้าง “ระบบสวัสดิการแห่งรัฐ” เป็นหัวข้อสำคัญเชิงนโยบาย แทนที่จะพึ่งพาอยู่กับนโยบายประชานิยมแบบ “แจกเงิน” เป็นหลัก ซึ่งไม่ยั่งยืนในทางปฏิบัติ

ผู้นำทางการเมืองจะต้องตระหนักเสมอว่า รัฐสมัยใหม่มีความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาของประชาชนในยามวิกฤต

ฉะนั้น ผลจากวิกฤตโรคระบาดที่ขยายไปสู่การเป็นวิกฤตความมั่นคงของมนุษย์นั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการความช่วยเหลือที่ชัดเจน

และหากปราศจากนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนแล้ว ประเด็นนี้อาจกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วย

อีกทั้งผลของการแก้ปัญหาความมั่นคงของมนุษย์จะเป็นโอกาสของการสร้าง “ความมั่นคงทางสังคม” ของไทยในอนาคตอีกด้วย

กล่าวคือ การสร้างความมั่นคงของมนุษย์จะมีผลโดยตรงต่อการทำให้ความมั่นคงทางสังคมของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะสังคมไม่ได้แข็งแรงด้วยการมีกองทัพที่เข้มแข็ง แต่ด้วยการมีความมั่นคงของมนุษย์ที่เข้มแข็ง

 

5) สงครามของคนหนุ่มสาว : ปัญหากบฏคนรุ่นใหม่

ในอีกมุมหนึ่งของปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างระหว่าง “คนต่างวัย” ในประเด็นทางการเมือง และการกำหนดทิศทางของประเทศ

ผลที่เกิดขึ้นนำไปสู่ “สงครามระหว่างเจน” ที่ปรากฏในรูปแบบต่างๆ ความพยายามของคนหนุ่มสาวที่พยายามเปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

และนำไปสู่การใช้มาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวดของฝ่ายรัฐ และเชื่อว่าการลงโทษด้วยการจับกุมคุมขังจะสร้างความกลัว และทำให้การต่อต้านรัฐบาลลดระดับลง

การเคลื่อนไหวอย่างไม่ท้อถอย จนอาจต้องเรียกว่า “สงครามคนหนุ่มสาว” เป็นประเด็นสำคัญทั้งในทางการเมืองและความมั่นคง

แม้ในปี 2564 พวกเขาเหล่านี้จะสร้างปรากฏการณ์ “กบฏคนรุ่นใหม่” แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับการ “ปราบปรามทางกฎหมาย” อย่างหนัก

แม้จะดูเหมือนฝ่ายรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะการยุติของ “ม็อบดินแดง” แต่ก็ไม่มีใครกล้ารับประกันว่า สงครามคนหนุ่มสาวจะไม่หวนคืนสู่ท้องถนนในกรุงเทพฯ อีกครั้ง

และบางทีกบฏคนรุ่นใหม่ในปี 2565 อาจจะเข้มข้นมากขึ้น จนอาจเป็นวิกฤตอีกชุด

 

6) สงครามศรัทธาทหาร : ปัญหาความมั่นคงของสถาบันกองทัพ

วันนี้ผู้นำทหารอาจจะต้องตระหนักว่า ในขณะที่รัฐบาลของผู้นำทหารเผชิญกับวิกฤตศรัทธาเช่นไร กองทัพก็เผชิญกับวิกฤตศรัทธาเช่นนั้นไม่แตกต่างกัน

ความรู้สึกของประชาชนในหลายภาคส่วนไม่ได้มองกองทัพด้วยสายตาที่เป็นบวกแต่อย่างใด

ประกอบกับผู้นำกองทัพและสถาบันทหารในช่วงที่ผ่านมามีภาพลักษณ์เชิงลบ แม้จะยังมีสื่อที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดที่ยังทำหน้าที่เป็น “กองเชียร์” อยู่บ้าง

แต่เสียงเชียร์เช่นนี้ไม่ได้มีพลังเช่นในช่วงของการรัฐประหาร

ผู้นำกองทัพอาจต้องยอมรับความจริงว่าภาพลักษณ์ของสถาบันกองทัพตกต่ำลงมาก และการคิดแก้ปัญหาด้วยการใช้ “ปฏิบัติการจิตวิทยา” (ปจว.) ตลอดรวมถึงการสร้างข่าวปลอมผ่าน “ปฏิบัติการข่าวสาร” หรือ “ไอโอ” นั้น ไม่อาจช่วยแก้ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของทหารได้ หากแต่จะต้องลดบทบาททางการเมืองลงให้ได้

วิกฤตศรัทธาของสถาบันทหารเป็นผลโดยตรงจากประเด็น “ลัทธิพาณิชยนิยมในกองทัพ” (military commercialism) อันมีนัยยะถึงการแสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทหารในกองทัพ ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจทางทหารเข้าไปมีบทบาทในรัฐวิสาหกิจ

ประเด็นสำคัญอีกส่วนเป็นเรื่องของ “ธุรกิจอาวุธ” ที่เอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับผู้นำทหารในระดับสูง และนำไปสู่ “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandal) จนกองทัพกลายเป็นสถาบันที่สังคมไม่ให้ความเชื่อถือ และสังคมมองว่าการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์ของนายทหารระดับสูงและกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (ปัญหาเงินทอน) มากกว่าจะตอบสนองต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งการจัดซื้อเรือดำน้ำและรถถังเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้

อีกทั้งผลจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประเทศต้องประสบกับวิกฤตทางสังคมอย่างมากนั้น ทำให้เกิดข้อเรียกร้องที่จะชะลอ และ/หรือยุติการจัดซื้อยุทโธปกรณ์

และยิ่งสังคมเผชิญหน้ากับการระบาดของโลกมากเท่าใด สังคมก็ยิ่งไม่เห็นความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธที่มีมูลค่าสูงมากเท่านั้น

ดังจะเห็นถึงการนำเอาภาพของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยจัดซื้อจากจีนมาทำเป็นเรื่องตลกขบขันล้อเลียนทหาร

สภาวะดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนที่ทหารเผชิญวิกฤตศรัทธา และการไม่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมอีกด้วย

 

7) สงครามความอดอยาก : ความมั่นคงด้านอาหาร

ปัญหาคู่ขนานกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 คือ สภาวะความผันผวนของอากาศ

หากความผันผวนของอากาศรุนแรงและขยายตัวไปมากขึ้นแล้ว ชนบทอาจจะไม่ใช่พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะรองรับการตกงานของคนเช่นในปี 2540 ได้แต่อย่างใด

วิกฤตโควิดที่กำลังพาคนตกงานจากเมืองกลับสู่ชนบท เพียงเพื่อพบว่าชนบทเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่อันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ และอาจจะทำให้ภาคเกษตรมีปัญหา ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลิตผลทางการเกษตร และอาจเกิดปัญหา “ความมั่นคงด้านอาหาร” ได้

แม้ปัญหานี้ยังไม่รุนแรงมากในสังคมไทย แต่ก็เป็นประเด็นที่ละเลยไม่ได้

ตัวแบบของการเชื่อมโยงระหว่างโรคระบาดกับความมั่นคงด้านอาหารเกิดในหลายสังคม การระบาดนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการผลิตอาหาร

จนทำให้เกิดความกังวลว่า การระบาดจะนำไปสู่ความขาดแคลนอาหาร และอาจขยายตัวเป็น “วิกฤตด้านอาหาร” (Food Crisis) ได้ในอนาคต

 

8) สงครามอากาศ : ความมั่นคงด้านอากาศ

ปัญหาอีกชุดที่สังคมไทยเผชิญเป็นประเด็นสำคัญคู่ขนานกับการระบาดของโควิด-19 คือ “ปัญหาความมั่นคงด้านอากาศ” (Climate Security)

ตัวอย่างในสังคมไทย เช่น ความรุนแรงของไฟป่าและความรุนแรงของฝุ่นพิษที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในภาคเหนือและภาคกลาง

ประเด็นดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา “ความมั่นคงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ” (climate change and security) เช่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในไทยเองด้วย

วันนี้ผู้นำการเมืองไทยต้องตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงใหม่ที่ไม่ใช่ภัยคุกคามแบบเดิม

แต่เป็นดัง “สงครามอากาศ” ที่เป็นปัญหาของโลกยุคปัจจุบัน

 

9) สงครามประชาธิปไตย : ความมั่นคงระหว่างประเทศ

สถานะของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศนับจากรัฐประหารที่เกิดติดต่อกันทั้งสองครั้งในปี 2549 และ 2557 ตกต่ำลงอย่างมาก เพราะหากวัดด้วยดัชนีขององค์กรประชาธิปไตยอย่าง The Freedom House แล้ว จะเห็นได้ว่าสถานะของประเทศในปี 2564 เป็นแบบ “ไม่เสรี” (Not Free) ได้คะแนน 30 ในคะแนนเต็ม 100 (ในปี 2563 ได้ 32 คะแนน)

ซึ่งการวัดเช่นนี้บ่งชี้สถานะของประเทศในเวทีสากลที่ชัดเจน และยังสำทับด้วยการที่รัฐบาลไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมประชาธิปไตยที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาจัดขึ้น

สภาวะเช่นนี้ถือเป็นเสมือน “สงครามการเมือง” อีกแบบ และผู้นำไทยต้องตระหนักว่า สถานะของประเทศในเวทีโลกและในเวทีภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญ

การตกต่ำลงของสถานะเช่นนี้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศกลายเป็น “รัฐอำนาจนิยม” ซึ่งไม่เป็นจุดขายในทางการเมืองแต่อย่างใด

การฟื้นสถานะของประเทศในเวทีโลกภายใต้แนวรบของ “สงครามประชาธิปไตย” เป็นโจทย์สำคัญในอนาคต รัฐบาลอาจจะเชื่อว่า รัฐไทยสามารถเกาะกระแสอำนาจนิยมไปได้ เพราะการสนับสนุนทางการเมืองจากรัฐมหาอำนาจใหญ่ในเอเชีย

แต่การกระทำเช่นนั้น จะบังคับให้ไทยต้องยืนกับจีนอย่างปราศจากทางเลือกอื่น

ซึ่งสงครามประชาธิปไตยจะมีผลต่อการต่างประเทศและการเมืองภายในของไทยในปี 2565 ด้วย

 

เสือร้าย 2565!

ถ้าประเทศไทยในปี 2565 ไม่สามารถพลิกฟื้นตัวเองได้จากสงครามโควิด-19 สงครามชุดอื่นๆ จะตามมาสมทบ จนอาจเกิดเป็น “สงครามปีเสือ” ซึ่งภาวะเช่นนี้จะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต

อย่างไรก็ตาม วันนี้สถานะของไทยในด้านต่างๆ อ่อนแอลงอย่างมาก และต้องเผชิญกับเงื่อนไข “ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า วิสัยทัศน์เก่า” อีกด้วย

ดังนั้น ภูมิทัศน์ของประเทศไทยในปีเสือจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคำถามสำคัญคือ ปีเสือของไทยจะเป็นเสืออะไร…

“เสือทะยาน” หรือ “เสือป่วย”

แต่แน่นอนว่า ไทย 2565 ไม่ใช่ “พยัคฆ์ร้าย 007”

และนายกฯ ไทยก็ไม่ใช่ “เจมส์ บอนด์” ด้วย (55)!