แตกต่างอย่างเชื่อมั่นและเข้าใจ จากแฟชั่นถึงเรื่องอื่นๆ กับ ‘ต้นหน’/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

แตกต่างอย่างเชื่อมั่นและเข้าใจ

จากแฟชั่นถึงเรื่องอื่นๆ กับ ‘ต้นหน’

 

จากหนัง ‘SuckSeed ห่วยขั้นเทพ’ กับบท ‘เป็ด’ วัยเด็ก  ต้นหน ตันติเวชกุล เด็กเนิร์ดชั้น ป.6 ผู้ได้รับรางวัลหนอนหนังสือดีเด่นจากโรงเรียนสาธิตประสานมิตร ก็ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงแบบไม่เคยนึก ไม่เคยฝัน

“ณ ตอนนั้นผมไม่ดูหนังไทย ไม่ดูละครไทย โลกของเรามีแค่หนังสือแล้วก็เพลงคลาสสิค”

ตอนทีมแคสติ้งไปที่โรงเรียน เขาจึงอยู่นิ่งๆ แต่กลับเข้าตาทีมงาน และแม้จะปฏิเสธไม่ไปแคสต์ในครั้งแรก แต่พอทางนั้นกลับมาอีกรอบ ยืนยันว่าอยากได้จริงๆ เขาจึง “ไปก็ได้” ด้วยความเกรงใจ

ต้นหนในวัย 22 ที่นอกจากจะมีผลงานการแสดงหลายเรื่อง อาทิ ‘ฮอร์โมนส์วัยว้าวุ่น’, ‘เพื่อนเฮี้ยน…โรงเรียนหลอน’ แล้ว ยังจับมือ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงรุ่นพี่ ตั้งวงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ ป๊อป ชื่อ mints

“จริงๆ ความฝันของผมตั้งแต่เด็ก คือเป็นนักดนตรีนี่แหละครับ” คนที่เรียนเปียโนมาตั้งแต่อยู่ ป. 2 และคิดจะเป็นนักเปียโนคลาสสิคในวัยนั้น ก่อนพลิกฝันอยากเป็นร็อกสตาร์ตอนได้ฟังเพลงของ ตูน บอดี้สแลม และเปลี่ยนใจอีกครั้งเมื่อได้รู้จักวงดนตรี THE 1975 ว่าการเป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงก็น่าสนใจ เล่า

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วสิ่งที่บัณฑิตจากคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รู้สึกว่าลงตัวที่สุดในตอนนี้ คือการได้ทำวงดนตรีดังกล่าว ด้วยความตั้งใจว่า

“อยากจะเป็นกระบอกเสียงของคนเจเนอเรชั่นเรา ในเรื่องทุกเรื่อง ความรัก, ปัญหาสังคม, เจเนอเรชั่น แก๊ป จะเอาทุกเรื่องของวัยรุ่นที่เราอยากจะเป็นเพื่อนกับเขา อยากจะบอกกับคนฟังว่า เฮ้ย! คุณยังมีผมที่ยังรู้สึกเหมือนกัน เราเข้าใจ”

เมื่อให้พูดถึงตัวเอง ต้นหนบอกว่าสิ่งหนึ่งซึ่งรู้แน่ คือ “ผมเป็นคนขี้เกียจ” บอกแล้วก็หัวเราะ

ก่อนบอกต่อ “แล้วก็เป็นคนอยากทำอะไรก็ทำ คือถ้ามีแพชชั่นกับอะไรมากๆ ก็จะทำอยู่แบบนั้น แต่ถ้าหมดเมื่อไหร่ คือไม่เอาเลย”

“แต่คนใกล้ๆ คนสนิทมากๆ จะรู้สึกว่าผมมีหลายบุคลิก เป็นคนที่บางทีก็เอนเนอร์จี้เยอะมากๆ บางทีก็เอนเนอร์จี้นิ่งมากๆ เหมือนกัน”

“แล้วค่อนข้างชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบคุยกับใครถ้าไม่จำเป็น”

การกินข้าวคนเดียว ดูหนังคนเดียว จึงทำได้สบายๆ ไม่ติด

ส่วนเรื่องการแต่งตัว ที่ผสมปนเปกันไปทั้งเสื้อยืด กางเกง กระโปรง ทาสีเล็บ โน่นนั่นนี่ ก็เป็นเรื่องที่ทำอยู่ตลอด

“อยากใส่อะไรก็ใส่ไปเหอะ ถ้ามันถูกต้องตามกาลเทศะ แล้วไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน” ต้นหนว่า

ทั้งนี้ ช่วงแรกๆ ที่ใส่ เขาบอกว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการได้เห็นศิลปินวงโปรด THE 1975 ใส่ แล้วรู้สึกว่าเท่ อยากลองใส่บ้าง

“ไม่ได้คิดด้วยว่าจะต้องแสดงความเห็น UNISEX ออกมา ต้องแสดงความเป็นบอย หรือเป็นอะไร แค่รู้สึกว่าวันนี้อยากแต่งแบบนี้ ก็แต่ง พูดตรงๆ ว่าไม่ได้อยากจะมาเป็นกระบอกเสียง ไม่ได้ทำเพื่ออยากจะ Stand Out แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป ตอนนี้ถ้าผมเป็นหนึ่งเสียงที่สามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ ผมก็จะทำ”

“จริงๆ เมื่อก่อนผมค่อนข้างตีกรอบเรื่องเพศมากๆ ว่าชาย หญิงเป็นแบบนี้ ผมไม่เอาเพื่อนที่เป็นเพศที่สาม อันนี้พูดตรงๆ คือยอมรับความผิดพลาดในอดีต ว่ามันแย่มากๆ แล้วทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกแย่อยู่”

 

ส่วนเหตุที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนใจ ต้นหนบอกว่า “เริ่มจากเราโตขึ้น ได้เห็นอะไรมากขึ้นในโลกนี้ เห็นว่ายังมีอะไรนอกกรอบที่เราเคยคิดไว้”

เรื่องคนวิพากษ์วิจารณ์ เจ้าตัวบอกว่าก็มีบ้าง

“เรื่องนี้เป็นเจเนอเรชั่น แก๊ป ที่คลาสสิคมากฮะ แต่ทุกปัญหาก็ต้องอาศัยการพูดคุยและรับฟังจากทั้ง 2 ฝ่าย เด็กก็ต้องฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เองก็ต้องฟังเด็ก แล้วก็ใจเย็นๆ ฮะ อยากบอกทุกคนในเจนผม ว่าการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ต้องใช้เวลา”

“เรื่องแฟชั่น จริงๆ แฟชั่นมาไกลมากแล้วนะ ที่ต่างประเทศการใส่กระโปรงหรือการทาเล็บไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศไทยเพิ่งจะมา Normal Life กัน ทุกคนใจเย็นๆ นะ ทุกเรื่องที่จะรณรงค์ เรื่องที่เรากำลังจะขอ หรือเรื่องที่เรากำลังพูดถึงอยู่ตอนนี้ก็ต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนแปลง ทุกการเปลี่ยนแปลงมันต้องต่อ เพื่อให้ได้มา ไม่มีทางได้มาแบบพรุ่งนี้หรอก มันต้องใช้เวลา เป็นเกมยาวทุกเรื่องเลยนะ”

ส่วนผู้ใหญ่ในบ้าน เจ้าตัวบอกยิ้มๆ ว่าเขาเข้าใจ อย่างไรก็ดี พ่อซึ่งเป็นคนชอบแต่งตัวก็อาจจะมีคอมเมนต์ในเชิง กระโปรงตัวที่เขาเลือกใส่ บางทีสีไม่แมตช์กับองค์ประกอบอื่น หรือไม่ก็ตัวนี้ ตัวนั้นใส่แล้วไม่เท่

เรื่องที่คนอื่นๆ อาจมองว่าเขาจะเป็นแบบอย่างให้เด็กรุ่นหลังเกิดความสับสนทางเพศหรือไม่ ต้นหนบอกก็อาจจะมี

“แต่ถ้าถามผม ผมไม่ค่อยแคร์นะ ผมรู้สึกว่ามันคนละเรื่องกัน แฟชั่นก็คือแฟชั่น การแต่งตัวก็คือการแต่งตัว มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณจะเป็นเพศไหน อะไรอย่างนี้”

“คุณเป็นใคร คุณเป็นเพศไหน คุณก็สามารถแต่งตัวอย่างที่คุณต้องการได้”

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คนแต่งต้องเข้าใจ คือแต่งไปแล้วอาจได้รับฟีดแบ็กไม่พึงประสงค์กลับมา

“อย่างผม ผมก็เจอ”

โดยถ้ามาจากคนที่ไม่รู้จัก ใครก็ไม่รู้ เขาจะโนสน โนแคร์ หากเมื่อฟีดแบ็กนั้นมาจากอาจารย์ที่เคารพ “เราก็ค่อนข้างเฮิร์ตเหมือนกัน”

“แต่ว่าก็ทำให้ได้เรียนรู้ ว่าการที่เราจะยืนหยัดในสิ่งที่เราชอบ ชอบในสิ่งที่เราเชื่อมั่น มันต้องแลกด้วยอะไรหลายๆ อย่าง อันนี้แค่ขนาดเป็นเรื่องของการแต่งตัวนะ ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องคอลล์เอาต์การเมือง ที่ยิ่งแล้วใหญ่”

“ผมเองพยายามทำความเข้าใจว่ามนุษย์มีหลายแบบ แล้วเขาก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินเรา เอาจริงๆ เรื่องนี้มันพูดยาก เพราะมันไม่ใช่ความผิดใคร คือก็เข้าใจว่าคนเราเติบโตมาคนละบริบท หมายถึงว่าพูดในมุมเด็กกับผู้ใหญ่ด้วย บางทีเราอาจจะงง ว่าทำไมไม่เข้าใจเรา หรือว่าช่วงนี้เรื่องการเมืองมันเดือดมากๆ ทำไม 2 ฝั่งแบ่งกันชัดเจน ก็รู้สึกว่าบริบทสังคมมันแตกต่างกัน คนที่โตมาในยุคนั้น กับคนที่โตมาในยุคนี้ไม่เหมือนกันเลย completely แตกต่างอ่ะ เราเฮิร์ต เราเสียใจได้ โกรธได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจ ว่าทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น”

“วิธีของผมคือพยายามทำความเข้าใจ ว่าโตมาคนละแบบ ถ้าพูดแล้วไม่เข้าใจก็คือต่างคนต่างอยู่ คุณก็อยู่ในโลกของคุณ ผมก็อยู่ในโลกของผม”

“แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็ยังเชื่อมั่น ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้องครับ”