กินทีละ ‘คำ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

กินทีละ ‘คำ’

 

จะโดยเผอเรอ หรือจงใจก็ตาม

แต่คำให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

กลับสะท้อนข้อมูลบางอย่างน่าสนใจ

เมื่อ พล.อ.ประวิตรเปิดเผยว่า “ได้มา 4,500 ที่นั่ง และขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ ไม่เห็นชมเลยว่าได้เยอะ”

สร้างความมึนงงให้กับสื่อมวลชน เพราะพรรคพลังประชารัฐมิได้ประกาศตนเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ เลยทั้งโดยตรง (ที่หมิ่นเหม่จะผิดกฎหมาย) และโดยอ้อม

จนทำให้ พล.อ.ประวิตรมาแก้และขยายความเพิ่มเติมว่า

“ที่บอกพรรคพลังประชารัฐได้นายก อบต.และ ส.อบต. 4,500 ที่นั่ง นั้นเพราะว่าเขาเป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้หมายถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่บอกว่าขอบคุณ คือขอบคุณสมาชิกพรรคเหล่านี้ที่ได้ช่วย แต่สื่อไม่เข้าใจ คอยจับผิดอยู่เรื่อย”

เป็นการรีบกันเอา “พรรคพลังประชารัฐ” ออกไป เพื่อไม่ให้มีปัญหาทางกฎหมาย หรือร้องเรียนในภายหลัง

 

แน่นอนว่า ตัวเลขการได้นายก อบต.และ ส.อบต. 4,500 ที่นั่ง จาก 5,300 ที่นั่งของสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ

ต้องถือว่าสูง และอาจเรียกได้ว่าเป็นแลนด์สไลด์ทางการเมืองระดับท้องถิ่นทีเดียว

ถือเป็นความน่าประหลาดใจ และต้องพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่

และถ้าจริง จะมีการขยายผลความสำเร็จอันน่าประหลาดใจนี้อย่างไร

เพราะ พล.อ.ประวิตร และคนในพรรคพลังประชารัฐไม่เคยมีการกล่าวถึงการลงสนามเลือกตั้งท้องถิ่น

แต่จู่ๆ กลับมีการเคลม “ผล” เลือกตั้งเหนือกว่าฝ่ายการเมืองอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่างลิบลับกับคณะก้าวหน้า ที่จริงจังกับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนี้มาก โดยส่ง อบต.ลงทั้งหมด 196 แห่งทั่วประเทศไทย

แต่ปรากฏว่าคณะก้าวหน้าชนะเลือกตั้ง 38 แห่ง

ใน17 จังหวัด ได้แก่ 1.กาฬสินธุ์ 2.ขอนแก่น 3.ชัยภูมิ 4.เชียงใหม่ 5.นครปฐม 6.นครราชสีมา 7.น่าน 8.บึงกาฬ 9.พิษณุโลก 10.เพชรบูรณ์ 11.มหาสารคาม 12.ร้อยเอ็ด 13.ศรีสะเกษ 14.สุพรรณบุรี 15.หนองคาย 16.หนองบัวลำภู และ 17.อุดรธานี

นำไปสู่การเสนอข่าวของบางสื่อว่า คณะก้าวหน้าแพ้ยับ แพ้แบบแลนด์สไลด์

ถือเป็นความล้มเหลวอีกครั้งของคณะก้าวหน้า ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า จะไม่เห็นด้วยกับการสรุปเช่นนั้น

โดยระบุว่า สื่อที่นำเสนอผลการเลือกตั้ง อบต.ของคณะก้าวหน้า โดยพาดหัวและนำเสนอข่าวไปในทางที่อาจสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้อ่าน เป็นการพาดหัวที่หวังผลทางการเมืองหรือไม่ ตนทราบดีว่าตั้งแต่มีการเลือกตั้ง อบจ., เทศบาล และล่าสุดคือ อบต. ฝ่ายที่ไม่ชอบคณะก้าวหน้าก็จะบอกว่าคณะก้าวหน้าแพ้

“แต่สำหรับผมและคณะที่ทำงานการเมืองท้องถิ่นเป็นครั้งแรก คิดว่าเราไม่แพ้ เพราะสถิติ ตัวเลข เปอร์เซ็นต์ที่เราได้รับไม่ได้ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ล่าสุดคือการเลือกตั้ง อบต. ประกาศว่าเป้าหมายคือ 30 อบต. ชนะมาเกินคาดถึง 38 อบต. แต่กลับบอกว่าแพ้ยับ หรือแพ้แลนด์สไลด์ จากที่ส่งทั้งหมด 196 แห่ง คิดเป็นเป็นร้อยละ 19.4 ซึ่งสูงมาก”

“ที่สำคัญนิยามของคำว่าแพ้หรือชนะแลนด์สไลด์ คืออะไร เป็นเรื่องธรรมดามากถ้าจะไปจับจ้องหาจาก 196 เขตที่คณะก้าวหน้าให้การสนับสนุน โดยดูเฉพาะในส่วนที่แพ้ แล้วหยิบเอามาขยาย โหมกระพือประโคมข่าว เพื่อให้บรรดากองเชียร์ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายที่ไม่อยากเห็นความก้าวหน้า ได้สะใจเล่น ในขณะที่ความสำเร็จของเขตที่ได้รับชัยชนะถึง 38 แห่งนั้นเว้นไว้ไม่พูดถึง” นายชำนาญกล่าว

 

กรณีข้างต้นถูกขยายความเพิ่มเติมโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า

โดยเริ่มจากการสรุปภาพรวมว่า คณะก้าวหน้าส่ง อบต.ลงทั้งหมด 196 แห่งทั่วประเทศไทย

ชนะเลือกตั้ง 38 แห่ง คิดเป็น 19.4% ของจำนวนที่ส่งทั้งหมด

นายก อบต.มีอายุเฉลี่ย 53 ปี และอายุน้อยที่สุด 35 ปี

ในจำนวนนี้มีนายก อบต.ที่เป็นผู้หญิง 3 คน และเป็นผู้ชาย 35 คน ซึ่งถือว่ายังทำได้ไม่ดีนัก โดยในครั้งหน้าจะสนับสนุนผู้สมัครที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น

ในจำนวนนี้เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองมาแล้ว 23 คน

และไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองหรือหน้าใหม่ 15 คน

“เรารู้สึกดีใจ พอใจและภูมิใจกับผลงานในการเลือกตั้งครั้งนี้มาก” นายธนาธรระบุ

 

ขณะเดียวกัน นายธนาธรเปรียบเทียบในเชิงสถิติด้วยว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 สมัยพรรคอนาคตใหม่ส่ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด 350 เขต สามารถชนะเลือกตั้ง 30 เขต คิดเป็น 8.6%

ต่อมาเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ในการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คณะก้าวหน้าส่ง 42 แห่ง ไม่ชนะเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ.เลย

ส่วนเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ในการเลือกตั้งเทศบาล ส่ง 106 แห่ง ชนะเลือกตั้ง 16 แห่ง คิดเป็น 15%

สำหรับ อบต.นั้น ได้มา 38 แห่ง คิดเป็น 19.4% จากจำนวนที่ส่ง

จากสถิตินี้เอง ทำให้นายธนาธรและคณะก้าวหน้าชี้ว่าเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด

จึงไม่อาจถือว่า “พ่ายยับ” อย่างที่ว่ากัน

 

นอกจากไม่ได้แพ้แล้ว นายธนาธรยังระบุคณะก้าวหน้าได้โอกาสที่จะบริหารท้องถิ่น

โดยระดับเทศบาลมีงบประมาณต่อปีรวมกัน 1,341,324,537 บาท ครอบคลุมประชากรรวม 165,474 คน

ระดับ อบต.มีงบประมาณ 1,649,351,116 บาท ครอบคลุมประชากรรวม 244,409 คน

ถ้ารวมทุกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีงบประมาณทั้งหมด 2,990,693,653 บาท และมีจำนวนประชากรรวม 409,883 คน

สามารถผลักดันนโยบายหลักที่มีอย่างหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับปากท้อง และรายได้ของประชากร

เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวในระดับชุมชน นโยบายน้ำประปาสะอาด การแยกขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี เพราะเราเชื่อว่าการที่เราออกแบบนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่โดนใจประชาชนจะทำให้เราได้รับโอกาสจากพี่น้องประชาชน

“ในการเลือกตั้งเทศบาล เราได้นายกเทศบาล 16 คน จึงเป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าไปบริหารงานจริง และจากการบริหารจริง 6 เดือน ก็ได้ทำเรื่องต่างๆ มากมาย ทำให้พี่น้องเห็นถึงความตั้งใจการทำงานของเรา” นายธนาธรระบุ

และว่า ที่ผ่านมาได้ทำนโยบายให้เป็นจริงในระดับเทศบาล อย่างแน่วแน่ จริงจัง และไม่ย่อท้อ ถึงจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองถูกยุบพรรค ก็ยังทำงานการเมืองต่อ ถูกกลั่นแกล้งนานา ถูกฟ้องดำเนินคดีก็ยังมุ่งมั่นทำงานต่อ เพื่อให้ประชาชนเห็นถึงความแน่วแน่การทำนโยบายให้เกิดขึ้นจริงในทุกระดับ

“ในระดับ อบต. เราจะเริ่มทำงานทันที โดยเพื่อนของเราที่อยู่ที่พรรคก้าวไกลก็จะทำงานการเมืองระดับชาติ ส่วนเราจะลงมือทำงานในระดับท้องถิ่นอย่างจริงจัง เราไม่ได้มีแค่ทฤษฎีและนโยบาย เพราะการทำงานการเมืองท้องถิ่นอนุญาตให้เราลงมือทำจริง เราไม่ได้มีนโยบายที่เป็นตัวอักษร แต่เราทำให้มันเป็นจริงได้” นายธนาธรกล่าวอย่างมั่นใจ

และนายธนาธรยังประกาศอีกว่า ก้าวต่อไปจะไม่อยู่แค่นี้ เพราะอีกไม่กี่เดือนจะมีการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ซึ่งคณะก้าวหน้าก็จะส่งผู้สมัครพวกเราเข้าแข่งขันด้วย จากนั้นอีกไม่นาน ประมาณ 1-2 ปีก็จะเลือกตั้งในระดับ อบจ.อีกรอบ ซึ่งก็ตั้งเป้าว่าในระดับนี้ ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าจะต้องได้ความไว้วางใจของประชาชนให้เข้ามาบริหารในระดับจังหวัดด้วย

นายธนาธรย้ำว่าจะทำงานท้องถิ่นแบบต่อเนื่องเพื่อให้กลไกนี้ได้หมุนวนประมาณ 2-3 รอบ ปลายทางของเราคือ การยืนยันว่าเราทำงานการเมืองเพราะเราเชื่อว่าประเทศไทยดีกว่านี้ได้

 

จากจุดยืนและเป้าหมายข้างต้น

ทำให้ความพยายามขับเคลื่อนการเมือง ตั้งแต่พื้นฐานคือ อบต. ของนายธนาธร และคณะก้าวหน้า ถูกมองว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ “กินข้าวทีละคำ”

ไม่ได้เร่งรีบ วูบวาบ

หรือน่าตื่นใจกับตัวเลข 4,500 ที่นั่ง ที่ลั่นออกมาจากปากของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งหากจริงก็ยังไม่มีใครทราบ จำนวนมหึมานี้จะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร หรือจะเป็นเพียง “ฐาน” ให้กับการเมืองในระดับชาติเท่านั้น

ซึ่งแตกต่างกับคณะก้าวหน้าที่ย้ำถึงการทำงานท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่นายธนาธรระบุจะให้กลไกนี้ได้หมุนวนประมาณ 2-3 รอบ 8-12 ปี

ซึ่งคงต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก

เพราะจะต้องเผชิญแรงเสียดทานอย่างสูง

สูงเหมือนตอนที่นายธนาธรผลักดันพรรคอนาคตใหม่

จนถูกเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เป็นเวลา 10 ปี จากคดีหัวหน้าพรรคปล่อยเงินกู้ให้พรรคตัวเอง โดยห้ามเป็น กก.บห. หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองอื่นและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี จนต้องปรับเปลี่ยนมาต่อสู้ในนาม “คณะก้าวหน้า” ลงสู่สนามการเมืองพื้นฐาน

กระนั้นก็ยังเผชิญอุปสรรคทั้งในนามคณะและส่วนตัว

ในนามคณะก้าวหน้า ตอนนี้ก็ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งสอบ ฐานดำเนินการคล้ายคลึงกับพรรคการเมืองช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ. เข้าลักษณะเป็นพรรคการเมือง มีความผิดตามมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่

หากนายธนาธร, นายปิยบุตร แสงกนสกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช ถูกชี้ว่าเข้าข่ายลักษณะความผิดทางกฎหมาย อาจต้องรับผลในคดีเพิ่มเติม โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองอีก 5 ปี

นอกจากนี้ นายธนาธรยังเป็นจำเลยในคดีที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีไลฟ์วัคซีนพระราชทานอีกด้วย

ซึ่งไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร

 

เส้นทางการเมืองของนายธนาธรและคณะก้าวไกลจึงไม่ราบรื่น

สามารถเกิดเหตุอันไม่พึงประสงค์ได้ตลอดเวลา

แต่ก็ดูจะหลีกเลี่ยงยาก และต้องทำใจหนักแน่นว่า การเมือง “ใหม่” เป็นการเดินทางไกล

ซึ่งจำต้องประสานกันไปกับการการปักธง “ความคิด” ด้วย

จึงต้องอดทน อดกลั้นอย่างสูง

พร้อมๆ กับการรู้จักเรียนรู้ มุ่งมั่น “กินข้าวทีละคำ” ที่แม้ช้า แต่ก็มั่นคง