‘ร่างทรง’ ดึกดำบรรพ์ เข้าสิงด้วยขวัญในศาสนาผี/สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

‘ร่างทรง’ ดึกดำบรรพ์

เข้าสิงด้วยขวัญในศาสนาผี

 

พิธีเข้าทรงสมัยดั้งเดิมเริ่มแรกประกอบด้วยกิจกรรมโดยสรุปกว้างๆ ดังนี้ (1.) ร่างทรงเป็นผู้หญิง ส่วนผู้ชายเป็นร่างทรงสมัยหลัง (2.) ต้องมีคำทำนายบอกชุมชนทั้งหมดเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ในการทำมาหากิน และบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ไม่ทำนายส่วนบุคคล (3.) เป็นพิธีกรรมรวมหมู่ของคนทั้งชุมชน แต่ไม่เป็นกิจกรรมปัจเจกบุคคล (4.) เกี่ยวข้องความเชื่อเรื่องขวัญทางศาสนาผี แต่ไม่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องวิญญาณจากอินเดียในทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ ฯลฯ

การเข้าทรงผ่านร่างทรงแล้วมีคำทำนาย เป็นพิธีกรรมรวมหมู่ตามความเชื่อเกี่ยวกับขวัญทางศาสนาผีของชุมชนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อคลายความตึงเครียดของคนในชุมชนเกษตรกรรมยังชีพที่ล้าหลังทางเทคโนโลยี ต้องพึ่งพาน้ำฟ้าน้ำฝนตามฤดูกาลที่ผันแปรโดยไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดน้ำแล้งหรือน้ำหลากท่วมข้าวกล้าในนาเน่าตายสิ้น

ผู้หญิงร่างทรงเสมือนผู้เป็นใหญ่

เข้าทรง หมายถึง “ผีขวัญ” หรือผี (คืออำนาจเหนือธรรมชาติ) เข้าสิงสู่ร่างของผู้รับการเข้าสิงซึ่งเรียก “ร่างทรง” แล้วเชื่อว่าการกระทำและข้อความพูดจาทำนายทายทักของร่างทรงล้วนเป็นจริงจากอำนาจเหนือธรรมชาติของผี ทั้งนี้ เป็นไปตามความเชื่อว่าผีกับคนมีการติดต่อไปมาหากันตลอดเวลาเป็นปกติ (พงศาวดารล้านช้าง)

ร่างทรง เป็นสื่อหรือตัวกลาง (medium) ของอำนาจเหนือธรรมชาติ (คือผี) ที่อาศัยชั่วคราวในการติดต่อสื่อสารกับมนุษย์หรือคนในชุมชน ร่างทรงสมัยเริ่มแรกเป็นผู้หญิงที่เป็นใหญ่ในพิธีกรรมทำหน้าที่เสมือนหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) พบหลักฐานและร่องรอย ดังนี้

(1.) ผู้หญิงมีพลังอำนาจสูงส่ง (เหนือกว่าผู้ชาย) ได้รับยกย่องเป็น “มด” (แปลว่าผู้มีพลังอำนาจ) เพราะผู้หญิงมีมดลูกที่บันดาลความมีชีวิตของมนุษย์ออกจากมดลูก (ซึ่งผู้ชายทำไม่ได้)

ผู้หญิงเป็นมด แต่บางทีเรียกหมอมด (แสดงว่าหมอกับมดมีความหมายร่วมกัน) แปลว่า ผู้ชำนาญการใดการหนึ่งซึ่งมีพลังอำนาจทางศาสนาผีที่ติดต่อสื่อสารได้กับผีฟ้าซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติที่ใครๆ จะทำได้ แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่เฮี้ยนและไม่เป็นที่รับรู้ทั่วไป จะถ่ายทอดการสืบต่อเฉพาะผู้อยู่ในตระกูลคนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ที่ได้รับเลือกเท่านั้น

ผีฟ้า มีอำนาจเหนือธรรมชาติสูงสุดอยู่บนฟ้า หมายถึง ผู้เป็นใหญ่บนฟ้า บางทีเรียกเจ้าแห่งฟ้า หรือเจ้าฟ้า เป็นแหล่งรวมพลังขวัญของคนชั้นนำที่ตายแล้วของเผ่าพันธุ์ ถูกส่งขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองคนที่ยังไม่ตายอยู่ในชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์ (ต่อมาผีฟ้าถูกเรียกอีกชื่อว่าแถน ซึ่งได้จากภาษาฮั่นว่าเทียน แปลว่าฟ้า หมายถึงผู้เป็นใหญ่บนฟ้า)

(2.) คำทำนายเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ เป็นความทรงจำที่ได้จากการสั่งสมประสบการณ์ตรงหลายชั่วอายุของคนในตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือคนชั้นนำ ซึ่งถ่ายทอดด้วยวิธีบอกเล่าปากต่อปากเป็นที่รับรู้ทั่วไป

ดังนั้น ผู้หญิงที่เป็นร่างทรงผีฟ้าต้องเป็นบุคคลพิเศษที่มีสายตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์หรือคนชั้นนำ จึงเป็นเจ้าพิธีทำขวัญ (หมายถึงสู่ขวัญ, เรียกขวัญ, ส่งขวัญ) เพื่อบอกผีฟ้าบันดาลสิ่งที่ต้องการให้ผู้รับทำขวัญ หรือให้คนทั้งชุมชนมีความร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร

[ประเพณีอีสานเรียกเข้าทรงว่า “เทียม” (หมายถึงไม่แท้) และเรียกร่างทรงว่า “นางเทียม” (หมายถึงไม่ใช่ร่างแท้) หรือ “ล่าม” (หมายถึงตัวกลาง) ส่วนประเพณีล้านนาเรียกร่างทรงว่า “ม้าขี่” (ไม่รู้หมายถึงอะไร?)]

จากร่องรอยความเป็นมาทั้งหมดนั้น ทำให้เชื่อว่าร่างทรงซึ่งเป็นผู้หญิงมีพลังอำนาจติดต่อสื่อสารได้กับผีฟ้าคือหัวหน้าเผ่าพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานโบราณคดีโครงกระดูกเพศหญิงเรียก “เจ้าแม่โคกพนมดี” ราว 3,000 ปีมาแล้ว (ขุดพบที่บ้านโคกพนมดี อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) และรูปพิธีเข้าทรงมีขับลำคลอแคนและฟ้อนหลายพันปีมาแล้ว (ลายเส้นบนเครื่องมือสำริดพบที่เมืองดงเซิน เวียดนาม)

เข้าทรงดั้งเดิมเริ่มแรกเป็นกิจกรรมรวมหมู่ของชุมชนดึกดำบรรพ์ ได้แก่ เข้าทรงผีฟ้าและรักษาคนป่วย

เข้าทรงผีฟ้า เป็นกิจกรรมสำคัญของพิธีเลี้ยงผีฟ้าประจำปีในหน้าแล้งเดือน 5 (ทางจันทรคติ) เริ่มด้วยร่างทรงขับลำคลอแคนเชิญผีฟ้าลงทรง จากนั้นร่างทรงบอกคำทำนายของผีฟ้าเรื่องฟ้าฝนของฤดูการผลิตที่จะเริ่มในเดือน 6 (ทางจันทรคติ) ว่าจะมีฝนตกมากน้อยขนาดไหน? ข้าวปลาอาหารจะเสียหายหรือได้ผลอย่างไร? เพื่อคนในชุมชนซึ่งเป็นชาวไร่ชาวนาจะได้เตรียมตัวรับสถานการณ์ ซึ่งมีความสำคัญมากๆ ต่อความอยู่รอดของคนในชุมชน หลังจากนั้นผีฟ้าทำพิธีบำบัดคนเจ็บไข้ได้ป่วย

หน้ากาก สวมพรางหน้าจริงของร่างทรงเมื่อเข้าทรงสมัยดั้งเดิมเริ่มแรก เพราะหน้ากากเป็นตัวแทนของอำนาจเหนือธรรมชาติตามต้องการของชุมชน พบหลักฐานหลายแห่ง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นภาพเขียนบนเพิงผา เช่น ผาแต้ม (จ.อุบลราชธานี), เขาสามร้อยยอด (จ.ประจวบคีรีขันธ์) หลังจากนั้นหน้ากากเข้าทรงยังถูกใช้สืบเนื่องความเชื่อตราบจนทุกวันนี้ในการละเล่นและการแสดงโขน

ผ้าปิดตา (เช่นเดียวกับหน้ากาก) ใช้ปิดตาร่างทรงเมื่อเข้าทรงแม่ศรี (คือแม่ข้าวหรือแม่โพสพ) รวมทั้งเข้าทรงผีเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ผีครก, ผีสาก, ผีข้อง, ผีนางด้ง, ผีลิงลม ฯลฯ เป็นการละเล่นในพิธีเลี้ยงผีประจำปีในหน้าแล้งเดือน 5 (ทางจันทรคติ) ส่วนชื่อเข้าทรง “แม่ศรี” มีขึ้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียประสมประสานความเชื่อพื้นเมืองเข้าด้วยกันเป็นผี, พราหมณ์, พุทธ

[เลี้ยงผีฟ้าหน้าแล้งเดือน 5 เป็นพิธีกรรมทางศาสนาผีหลายพันปีมาแล้ว ก่อนมีการติดต่อรับวัฒนธรรมอินเดีย แต่เดือน 5 (ทางจันทรคติ) ตรงกับเดือนเมษายน (ทางสุริยคติ) และตรงกับมหาสงกรานต์ (ขึ้นราศีเมษ) ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในวัฒนธรรมอินเดียที่อุษาคเนย์รับเข้ามาสมัยหลังแล้ว แผ่ถึงชุมชนไทยเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง นับแต่นั้นพิธีเลี้ยงผีฟ้าหน้าแล้งเดือน 5 ก็ถูกผนวกแล้วเหมารวมเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของสงกรานต์ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักฐานข้างต้น เพราะความจริงแล้วเป็นพิธีกรรมต่างกันทางความเชื่อ และมีที่มาไม่เกี่ยวกัน เพียงแต่ทำกิจกรรมในช่วงเวลาเดียวกันเท่านั้น]

ร่างทรงผู้ชาย มีในบางเผ่าพันธุ์ที่ยกย่องผู้ชายเป็นใหญ่ เช่น ผู้ไท (เมืองแถน) ในเวียดนาม แต่โดยทั่วไปผู้ชายเป็นร่างทรงเมื่อช่วงเวลาหลังการแผ่เข้ามาจากอินเดียของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลังสถาปนาลัทธิเทวราช (ราวหลัง พ.ศ.1400) เนื่องเพราะลัทธิเทวราช (ซึ่งไม่มีในอินเดีย) คือการประสมประสานเข้าด้วยกันระหว่างความเชื่อเรื่องขวัญในศาสนาผี กับความเชื่อเรื่องเทวะ (เทวดา) ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้พิธีเข้าทรงและร่างทรงไม่เหมือนเดิม

ความเหลื่อมล้ำทำให้ร่างทรงแพร่หลาย

ความเหลื่อมล้ำสุดโต่งทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมือง ทำให้คน (ในแง่ปัจเจก) ทุกระดับรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย เป็นแรงกระตุ้นให้พึ่งพาอำนาจเหนือธรรมชาติผ่านร่างทรงเพื่อขอความมั่นคงและปลอดภัย หรืออย่างน้อยได้รู้ล่วงหน้าถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะมีในอนาคต จะได้เตรียมรับสถานการณ์

ร่างทรงและพิธีเข้าทรงถูกปรับเปลี่ยนตามต้องการอย่างไร้ขอบเขตให้เป็นเรื่องส่วนบุคคลเพื่อสนองเศรษฐกิจตลาด ซึ่งพบทั่วไปในไทยทุกวันนี้

 

ร่างทรงเป็นหญิงมีพลังอำนาจเสมือนหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (ซ้าย) “เจ้าแม่โคกพนมดี” โครงกระดูกเพศหญิงราว 3,000 ปีมาแล้ว ประดับประดาด้วยลูกปัดเปลือกหอย ราว 120,000 เม็ด แล้วยังมีแสดงอำนาจ เช่น แผ่นวงกลมมีเดือย, กำไลข้อมือ และเครื่องประดับศีรษะ ฯลฯ [ภาพจากหนังสือ สยามดึกดำบรรพ์ : ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยสุโขทัย โดย ชาร์ลส ไฮแอม และรัชนี ทศรัตน์ สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2542] (ขวา) พิธีเข้าทรงเก่าสุดขณะนี้ ราว 2,500 ปีมาแล้ว คนแต่งคล้ายหญิง 3 คน นุ่งยาวปล่อยชายสองข้าง มีเครื่องประดับเป็นขนนกและใบไม้สวมหัว ร่วมกันขับลำคำคล้องจองแล้วเป่าแคนคลอ พร้อมฟ้อนประกอบ [ลายเส้นจำลองจากลายสลักบนขวานสำริด ขุดพบในหลุมศพเมืองดงเซิน ริมแม่น้ำซองมา จ.ถั่นหัว เวียดนาม (อ้างในหนังสือ ร้องรำทำเพลง พ.ศ.2532 หน้า 113)]