E-DUANG : โครงสร้าง การเมือง และเศรษฐกิจ เศรษฐกิจ คือฐานของ “การเมือง”

มีความเชื่อมั่นจากบางกลุ่ม บางฝ่าย มองว่า การชูประเด็นการเมืองขึ้นสูงในการเลือกตั้ง อาจไม่สามารถสร้างคะแนนและความนิยมจนสามารถได้ชัยชนะอย่างที่เรียกว่า”แลนด์สไลด์”

เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่จะรุมเร้าและสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า

ท่ามกลางความยากลำบากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด มาตรการ”ชัตดาวน์”ทำให้ตกงาน ขาด รายได้ เรื่องปากท้องจึงมีความสำคัญกว่าเรื่องทางการเมือง

การที่บางพรรคการเมืองจะนำเอาปัญหาและความยากลำบาก ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาชูเพื่อสร้างประเด็นในทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องไร้สาระไม่ประสบความสำเร็จ

ความโน้มเอียงที่จะเกิดขึ้นก็คือ ความโน้มเอียงที่จะต้องชูปม ในทางเศรษฐกิจมากกว่าปมจากปัญหาทางการเมือง

ความโน้มเอียงเช่นนี้สะท้อนวิธีคิดที่มีลักษณะ”สุดโต่ง”

นั่นก็คือ อาจสุดโต่งทางเศรษฐกิจกระทั่งมองข้ามการเมือง นั่นก็คือ อาจสุดโต่งทางการเมืองกระทั่งมองข้ามเศรษฐกิจ

แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งจากสภาวะ”สุดโต่ง”ในทางความคิดเช่นนี้เคยปรากฏมาแล้ว และเกิดการตั้งคำถามอันเริ่มจาก”หากการเมืองดี”ความเลวร้ายไม่ว่าในทางเศรษฐกิจ ในทางสังคมก็คงไม่เกิด

ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากเด็กนักเรียนในกลุ่ม”นักเรียนเลว” ไม่ว่าจะเป็นคำถามจาก”เยาวชนปลดแอก”ทั้งหลาย

แท้จริงแล้ว ยากอย่างยิ่งที่จะแยกเศรษฐกิจออกจากการเมือง

นั่นก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมที่เห็นและเป็นอยู่ล้วนมีรากฐานการบริหารในแบบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หากไม่มี”ระบอบประยุทธ์”ความเลวร้ายก็คงจะไม่”ปรากฏ”

เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ยากแค้นลำเค็ญย่อมนำไปสู่คำถามว่าเป็นเพราะใคร

ภาพและท่วงทำนองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เด่นชัด

เด่นชัดในฐานะเป็นตัวแทนแห่ง”ระบอบ” เมื่อประสานเข้ากับที่มาแห่งอำนาจก็ทะลุปรุโปร่งว่าเนื่องจากเหตุปัจจัยใดทางการเมือง

เนื่องจาก”การเมือง”คือเงาสะท้อนแห่งสภาพทาง”เศรษฐกิจ”