คำ ผกา | บริหารประเทศง่ายหรือเราง่าว

คำ ผกา

ข้าวราคาตก ก็ปลูกหมามุ่ยสิ หมามุ่ยส่งออกได้ราคาดีนะ

น้ำท่วมนาข้าว พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสสิ มีน้ำก็มีปลาไง ทำไมไม่เปลี่ยนไปทำประมง เดี๋ยวน้ำลดค่อยกลับมาปลูกข้าวใหม่

ผักชีแพง โอ๊ย ง่ายมาก ที่ของทหารมีเยอะแยะ เดี๋ยวปลูกมาแจกเลย

รถบรรทุกประท้วงหยุดเดินรถเพราะน้ำมันแพง ไม่เป็นไร รถทหารมีเยอะ เดี๋ยวเอารถทหารมาช่วยขนของ

ฯลฯ

ฉันคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ที่มีความสามารถทำให้เราเหวอ เอ๋อ ใบ้รับประทานได้มากที่สุดเท่าที่จะมีใครในโลกนี้สามารถทำได้

เพราะแต่ละวิสัยทัศน์ที่เสนอมาเป็นทางเลือกเพื่อแก้ปัญหานั้นทำให้เราต้องชั่งใจหนักมากว่าเราควรจะสานสนทนาต่อ หรือทำเป็นไม่ได้ยินเพราะกับบางอย่างกับบางคน

เราเลือกที่จะไม่วิสาสะด้วย เพราะมันเสียเวลาและเป็นการดูถูกสติปัญญาตัวเอง เช่นเดียวกับที่เราจะไม่ทะเลาะกับคนบ้าและไม่เถียงกับคนโง่

แต่ถ้าคนบ้าและโง่นั้นไม่ใช่คนที่กำลังใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน เราก็อาจทำเป็นไม่ได้ยินได้ แต่ในกรณีที่คนคนนั้นไม่ใช่แค่ลุงข้างบ้าน เราจะทำเป็นไม่เห็น ไม่ได้ยินก็กระไรอยู่

และจนถึงนาทีที่ฉันนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ ฉันก็ไม่แน่ใจว่า นายกฯ คนปัจจุบันของเรารู้หรือยังว่า ประเทศชาตินั้นคือหน่วยทางสังคมการเมืองที่ซับซ้อน

มีผู้คนอาศัยอยู่ในหน่วยทางสังคมการเมืองนี้เกือบเจ็ดสิบล้านคน

และในเจ็ดสิบล้านคนนี้เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอาชีพ ชาติพันธุ์ ศาสนา อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อ รสนิยม ผลประโยชน์ และในทุกๆ มิติแห่งความหลากหลายนี้มีทั้งด้านมีลงรอยกัน และไม่ลงรอยกัน

ผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง อาจกลายเป็นปัญหาของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ผักชีที่แพง อาจเป็นประโยชน์ของชาวสวน แต่คือการเสียผลประโยชน์ของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ดังนั้น การบริหารประเทศจึงไม่ใช่เรื่องง่าย (อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยพูด)

เพราะมันหมายถึงความพยายามจะให้ทุกคนทุกกลุ่มที่อาศัยในหน่วยการเมืองที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ที่ต่างมีผลประโยชน์ที่ต่างและขัดกันให้อยู่ร่วมกันให้ได้ในแบบ win-win ด้วยกันทุกฝ่าย

ดังนั้น คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของผู้บริหารประเทศ (นอกจากจะต้องมาตามวิถีทางประชาธิปไตย) คือต้องเห็นภาพที่เขาเรียกว่า “มหภาค” ไม่ใช่ “จุลภาค” – ความคิดประเภท ไม่มีรถบรรทุก ง่ายมาก เดี๋ยวเอารถทหารมาขนแทน นั้นเข้าใจว่าผู้พูดอาจคิดว่าหน่วยการเมืองที่เรียกว่า “ประเทศชาติ” นั้นมีคนอยู่อาศัยสักห้าสิบคนในพื้นที่สิบไร่

คำว่าเป็นภาพในระดับมหภาค ย่อมหมายถึงการเห็นภาพรวม และภาพใหญ่ ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์ไปกันหมด ซึ่งไม่จำเป็นต้องคิดค้นอะไรใหม่ด้วยตนเอง เพราะในโลกนี้มีทฤษฎีการเมือง-เศรษฐกิจ สอง-สามสำนักใหญ่ๆ ให้เลือกใช้ตามศรัทธา

เช่น ถ้าศรัทธาแนวคิดประชาธิปไตยสังคมนิยม คนที่เป็นผู้บริหารประเทศจะให้ความสำคัญกับการเฉลี่ยทรัพยากรให้พลเมืองมากกว่าการครอบครองทรัพย์สินของปัจเจกบุคคลที่อาจมีศักยภาพมากกว่าคนอื่นเลยถือครองได้มากกว่า

ดังนั้น หลักการบริหารประเทศเช่นนี้ ก็จะเน้นการจัดเก็บภาษีในสัดส่วนที่สูงมาก และนำเอาภาษีนั้นมาใช้จ่ายในการ “ถัวเฉลี่ย” คุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ทุกคนเรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี มีบ้านเช่าราคาถูกที่รัฐอุดหนุน มีขนส่งสาธารณะคุณภาพดีราคาถูก

มีเงินเกษียณอายุให้อัตราที่ทำให้พลเมืองทุกคนไม่ต้องนั่งคำนวนว่า จะตายอายุเท่าไหร และควรมีเงินเก็บเท่าไร เพื่อดูแลตนเองในยามแก่เฒ่า

เน้นสร้าง “สาธารณะประโยชน์” เช่น สวนสาธารณะ ห้องสมุดสาธารณะ สนามกีฬาของสาธารณะ เพื่อให้พลเมืองมาใช้ facility ที่รัฐสร้างร่วมกันผลก็คือ ภาระในการพาลูกไปเล่นกีฬา หรือซื้อหนังสือให้ลูก ซื้อหนังสือให้ตัวเอง ก็ไม่เป็นภาระของปัจเจกบุคคล

คนสิบคนไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือเล่มเดียวกันคนละเล่ม แต่หนังสือหนึ่งเล่มสามารถเสิร์ฟคนได้สิบคน ถ้าเราเลือกใช้ระบบห้องสมุดสาธารณะ

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศที่สมาทานการบริหารประเทศแนวนี้คือ จะไม่มีใครร่ำรวยมากเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครยากจนจนน่าสงสาร น่าสงเคราะห์

ทุกๆ อาชีพมีเงินเดือน รายได้ สวัสดิการที่ใกล้เคียงกัน ผลที่เกิดขึ้นต่อการบริหารค่าครองชีพก็จะไม่มีประเด็นเรื่องน้ำมันแพง ของขึ้นราคา คนเดือดร้อน รถบรรทุกประท้วง เอารถทหารมาขนของแทน-ไม่ใช่-ภาระการบริหารราคาน้ำมันจะเป็น “ต้นทุน” ของภาครัฐที่ “บริหารขนส่งมวลชน” เพราะคนเกือบทั้งประเทศใช้จักรยาน และใช้ขนส่งมวลชนมากกว่าใช้รถยนต์ส่วนตัว ปัญหาน้ำมันราคาแพงจึงกระทบต่อคนตัวเล็กๆ น้อยมาก เท่ากับเป็นการบังคับให้รัฐเป็นคนคิดว่าจะดีลกับราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างไร?

และนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ประเทศเหล่านี้สร้างอำนาจต่อรองกับประเทศผู้ค้าน้ำมันด้วยการหันไปใช้พลังงานทางเลือก ออกแบบขนส่งสาธารณะให้ดี และวางผังเมืองเพื่อประตุ้นให้คนเดิน และปั่นจักรยานมากกว่าขับรถที่จำเป็นต้องใช้น้ำมัน

ในประเทศแบบนี้จะไม่มีประเด็นเรื่อง “ผักชีแพงแก้ด้วยเอาทหารไปปลูกผักชี”

ราคาผัก ผลไม้ อาหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเรื่องการใช้ที่ดิน น้ำ สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สุขภาพ และการค้าระหว่างประเทศ

ประเทศที่คิดการณ์ไกล ย่อมคิดเรื่องยกระดับราคาสินค้าการเกษตร มากกว่ากดราคาสินค้าการเกษตรให้ถูก ยกระดับราคาสินค้าการเกษตร ลดต้นทุนการผลิต มีเทคโนโลยีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ย่อมแปลว่า เกษตรกรใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกน้อยลง ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น ผดุงความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติได้

ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับสวัสดิการเต็มที่จากรัฐ ไม่ต้องซื้อรถขับเอง ไม่ต้องผ่อนบ้าน ไม่ต้องส่งลูกเรียนพิเศษสิบที่ ไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพแพงๆ ก็จะมีรายได้เหลือเฟือที่จะซื้อสินค้าการเกษตรในราคา “สูง” เพราะการขายสินค้าการเกษตรได้แพง แปลว่าเกษตรกรมีรายได้ที่สมศักดิ์ศรี สมเหตุสมผล

ถ้าไม่สมาทานสำนักประชาธิปไตยสังคมนิยมแบบนี้ แต่จะสมาทานประชาธิปไตยเศรษฐกิจเสรีนิยม รัฐก็จะวางแผนอีกแบบ เน้นการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการแข่งขันอย่างเท่าเทียม

แต่พอได้โอกาสนั้นแล้ว ใครแกร่งกว่า เก่งกว่าก็ชนะ ไม่มีการเรียนฟรีนะ แต่เป็นเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา จะได้ไม่เรียนทิ้งเรียนขว้าง กู้มาเรียนจะได้เรียนสาขาที่ทำเงินได้ เพราะขืนเรียนวิชาที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ก็เสี่ยงตกงาน ไม่มีเงินคืน กยศ. มหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบ จะได้ไม่เช้าชามเย็นชาม สาขาไหนไม่ทำเงินก็ยุบๆ ไป

บริหารประเทศแบบมีดีมานด์ ซัพพลายเป็นเครื่องนำทาง กระตุ้นให้คนแข่งขัน มากกว่ารัฐไปอุ้มชู ไม่แทรกแซงกลไกตลาด ทั้งนี้ หลายๆ ประเทศก็ใช้แนวทางลูกผสม เช่น เศรษฐกิจ การค้าเป็นเสรีนิยม แต่เรื่องภาษีกับรัฐสวัสดิการหันไปใช้แนวทางสังคมนิยม แต่พอมาเรื่องเกษตรกรกลับใช้นโยบายประชานิยม (เพื่อดึงคะแนนนิยมจากเกษตรกรที่เป็นเสียงที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง) ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกึ๋นผู้บริหารประเทศ

เพราะฉะนั้น เวลาที่คนบ่นว่าผักชีแพง เขาไม่ได้ต้องการผักชีที่ถูกลง แต่เขากำลังพูดถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศของนายกฯ ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาเจ็ดปีแล้ว และเราไม่เคยเห็นอะไรดีขึ้น

และยิ่งเห็นตำตาว่า นายกฯ ไม่รู้แม้กระทั่งว่า ประเทศคือหน่วยการเมืองอันประกอบไปด้วยผู้คนและกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายอันเกี่ยวข้อสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน แต่เหมือนนายกฯ จะคิดว่าบริหารประเทศเหมือนตัวเองเป็นหัวหน้าครอบครัว และประชาชนเป็นบริวารที่อาศัยร่มไม้ใบบุญหลังคาคุ้มกะลาหัวอยู่

ผักชีแพง – เออๆ – เดี๋ยวไปหาคนมาช่วยปลูกให้

มะนาวแพง – เออๆ – แดกมะม่วง มะดันไปก่อนสิ ไอ้ห่า บ่นอยู่ได้ กูทำงานทุกวันนี้ก็เหนื่อยตายชัก เดี๋ยวคนนั้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้จะเอาอย่างนั้น โธ่เว้ย เห็นใจกันบ้าง ไอ้ห่า

เราบ่นว่าผักชีแพง เพราะเรารู้ว่าค่าแรงของคนในประเทศนี้ถูก

และเราก็รู้อีกว่าเกษตรกรก็ไม่เคยร่ำรวยจากการปลูกผักชีขาย ไม่นับว่าท่ามกลางผักชีแพงนี้ ก็ยังมีปัญหาราคาลำไย ราคาข้าวเปลือก ราคายาง และทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเชื่อมโยงกันไปหมด ไม่อาจแยกเอามาแก้เป็นเรื่องๆ เป็นส่วนๆ ได้ เพราะไม่เช่นนั้นเราต้องบริหารประเทศแบบข้าวเปลือกถูก เดี๋ยวให้กองทัพมารับซื้อข้าวไปให้เลย ผักชีแพง เดี๋ยวให้ทหารปลูกผักชี ทุเรียนราคาตก เดี๋ยวให้ทหารทำทุเรียนกวนขาย ลำไยราคาแพง เดี๋ยวเอาที่ทหารทำสวนลำไย

เนื้อหมูแพงเหรอ ง่ายมาก เดี๋ยวให้ทหารเลี้ยงหมู ฯลฯ

ถ้าเราจะบริหารประเทศแบบนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศทหารแลนด์ก่อน (from Thailand to Taharnland)

จากนั้นเราต้องเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ว่า ประเทศนี้ดำเนินไปได้ด้วยทหาร เราไม่ต้องมีอาชีพนักดนตรี เชฟ ครู หมอ อะไรเลย เพราะทหารจะเข้ามาทำทุกอย่างเอง ทหารก่อสร้างก็ได้ เป็นหมอก็ได้ วงดนตรีก็มี เพาะปลูกก็เก่ง ขับรถก็ได้ จับโจรก็ดี สอนหนังสือก็เริ่ด ทำถนน ขุดคลอง สอนมหาวิทยาลัย เป็นศิลปิน เป็นช่างปั้น ช่างวาด ช่างแกะสลัก ตัดผ้า โค้ชกีฬา – มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ทหารทำไม่ได้

ให้ทหารเป็นนายกฯ แล้วประชาชนทุกคนก็เลิกพยายามจะทำงาน หรือทำอาชีพอะไรที่เคยทำ แล้วก็หันมารอรับการบริหารจากทหารอย่างเดียว จะเอาข้าว หมู ไข่ น้ำมัน น้ำปลา ก็ให้รัฐบาลจัดคิว แจกบัตรเหมือนบัตรประชารัฐ ถึงเวลาก็ไปรับสิ่งต่างๆ ตามคิว จะทำบ้าน ทำอะไรก็ไปลงทะเบียน จากนั้นก็รอวันนัด เดี๋ยวเขาก็ส่งทหารมาทำให้ ไม่ต้องบ่น ไม่ต้องอยากได้ใคร่มีอะไร มีแค่ความสำนึกในบุญคุณที่ทหารเป็นให้เธอแล้วทุกอย่าง

อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็หาทางย้ายประเทศไป-อยากลำบาก ดิ้นรนทำมาหากินเองช่วยไม่ได้-อยู่ในประเทศที่ไม่ต้องทำอะไร ถึงเวลาก็ถือบัตรคิวไปรับอาหาร แล้วยังจะบ่น

แต่ในเมื่อเราไม่ใช่ทหารแลนด์ แต่เป็นไทยแลนด์ เราย่อมทนไม่ได้ที่จะมีนายกฯ ที่ไม่รู้ว่าการบริหารประเทศคืออะไร และไม่รู้แม้กระทั่งว่า ประเทศนั้นแปลว่าอะไร

หนักกว่านั้น ยังทำราวกับว่าชาติทั้งชาติ ประเทศทั้งประเทศคือแหล่งเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ในฐานะที่เป็นปูนบำเหน็จของผู้ใดก็ตามที่ได้ขึ้นมาเป็น “นายกฯ” ที่แปลว่า หัวหน้าของ “ข้าราชการ” และมีข้าราชการเป็นไม้เป็นมือในการเก็บเกี่ยวบำเหน็จรางวัลนั้น หาใช่ “นายกฯ” ที่หมายถึง ผู้ที่ประชาชนไว้วางใจให้ขึ้นมาบริหารประเทศ

สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับประชาชนอย่างเราๆ ว่าจะอยู่ใน Thailand หรือ Taharnland และต้องทำอย่างไรให้บ้านเมืองนี้กลับมาเป็น Thailand ของเราอีกครั้ง