จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : สายใยรัก / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

สายใยรัก

 

ทั้งชนที่เจริญแล้วและชนเผ่าห่างไกลความเจริญ สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกผูกพันลึกซึ้งมั่นคงไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าลูกยังเล็กหรือโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

“มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์มัทรี เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ถ่ายทอดความห่วงหาอาทรของพระนางมัทรีเมื่อรู้ว่าลูกน้อยทั้งสอง ‘ชาลีและกัณหา’ หายไปเอาไว้อย่างสะเทือนใจ พระนางเพียรเสาะหาทุกหนแห่ง ความกลัดกลุ้มห่วงใยทำให้เกิดอาการตาฝาดหูฝาด มองเห็นและได้ยินไปเอง

“พระลูกเอ่ยเจ้าเคยมาเที่ยวเล่นแม่แลไม่เห็นแล้ว โอ้แลเห็นแต่สระแก้วอยู่อ้างว้างวังเวงใจ…พระโสตฟังให้หวาดแว่วว่าสำเนียงเสียงพระลูกแก้วเจ้าบ่นอยู่งึมๆ พุ่มไม้ครึ้มเป็นเงาๆ ชะโงกเงื้อม พระเนตรเธอแลเหลือบให้ลายเลื่อมเห็นเป็นรูปคนตะคุ่มๆ อยู่คล้ายๆ แล้วหายไป”

การบุกป่าฝ่าดงตามหาลูกน้อยนานแสนนานตั้งแต่เย็นจนค่ำโดยไม่พบร่องรอยใดๆ ทำให้พระนางรันทดท้อสิ้นหวัง

“สมเด็จอรไทเธอเที่ยวตะโกนกู่กู๋ก้อง พระพักตร์เธอฟูมฟองนองไปด้วยน้ำพระเนตรเธอโศกา จึ่งตรัสว่าโอ้โอ๋เวลาปานฉะนี้เอ่ยจะมิดึกดื่น จวนจะสิ้นคืนค่อนรุ่งไปเสียแล้วหรือกระไรไม่รู้เลย พระพายรำเพยพัดมารี่เรื่อยอยู่เฉื่อยฉิว อกแม่นี้ให้อ่อนหิวสุดละห้อย ทั้งดาวเดือนก็เคลื่อนคล้อยลงลับไม้ สุดที่แม่จะติดตามเจ้าไปในยามนี้ ฝูงลิงค่างบ่างชะนีที่นอนหลับ ก็กลิ้งกลับเกลือกตัวอยู่ยั้วเยี้ย ทั้งนกหกก็งัวเงียเหงาเงียบทุกรวงรัง แต่แม่เที่ยวเซซังเสาะแสวงทุกแห่งห้องหิมเวศทั่วประเทศทุกราวป่า”

เมื่อทุ่มเทพลังกาย พลังใจ พลังความคิดไปจนสิ้น พระนางมัทรีจึงสุดสิ้นทุกสิ่งที่มี ดังที่รำพันว่า

“สุดสายนัยนาที่แม่จะตามไปเล็งแล สุดโสตแล้วที่แม่จะซับทราบฟังสำเนียง สุดสุรเสียงที่แม่จะร่ำเรียกพิไรร้อง สุดฝีเท้าที่แม่จะเยื้องย่องยกย่างลงเหยียบดินก็สุดสิ้นสุดปัญญาสุดหาสุดค้นเห็นสุดคิด จะได้พานพบประสบรอยพระลูกน้อยแต่สักนิดไม่มีเลย”

ถึงสิ้นสุดพระกำลังก็ไม่ย่อท้อหยุดยั้ง ยังคงตามหาทั้งน้ำตาไหลรินไม่ขาดสาย จนล้มสลบลงต่อหน้าพระเวสสันดรพระสวามี

 

แม้แม่จะมีชาติตระกูลสูงส่งหรือเป็นเพียงคนสามัญ ความรักความห่วงใยก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน ความปลอดภัยของลูกสำคัญเหนือสิ่งใด ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนกำเนิดพลายงาม ลางร้ายหลายอย่างทำให้นางวันทองนึกถึงลูกชาย เมื่อถามบ่าวไพร่ได้ความว่า ‘เห็นตามพ่อขุนช้างไปกลางไพร’ นางก็ยิ่งกังวลด้วยรู้แก่ใจว่าพลายงามหาใช่ลูกขุนช้างไม่ ‘นางแคลงผัวกลัวจะพาไปฆ่าเสีย น้ำตาเรี่ยเรี่ยตกซกซกไหล’ ความเป็นห่วงทำให้นาง

 

“ออกนอกรั้วตัวคนเดียวเที่ยวเดินไป            โอ้อาลัยเหลียวแลชะแง้เงย

เห็นคุ่มคุ่มพุ่มไม้ใจจะขาด                       พ่อพลายงามทรามสวาทของแม่เอ๋ย

เจ้าไปไหนไม่มาหาแม่เลย                       ที่โคกเคยวิ่งเล่นไม่เห็นตัว

ฤๅล้มตายควายขวิดงูพิษขบ                     ไฉนศพสาบสูญแม่ทูนหัว

ยิ่งเย็นย่ำค่ำคลุ้มชอุ่มมัว                         ยิ่งเริ่มรัวเรียกร่ำระกำใจ”

 

นางวันทองหวาดระแวงว่าลูกจะเป็นอันตรายเพราะสัตว์ร้ายในป่าใหญ่ เมื่อไม่รู้ว่าลูกเป็นตายร้ายดี จิตใจก็ทุกข์ระทมยิ่งนัก สารพัดเสียงที่ดังระงมในป่ายามค่ำคืนทั้งเสียงนกกา หมาจิ้งจอก แมลงนานาชนิด (จิ้งหรีด จักจั่น เป็ดผี ฯลฯ) ทำให้นางยิ่งหวาดหวั่น

 

“นางวันทองมองหาละล้าละลัง                 ฤๅผีบังซ่อนเร้นไม่เห็นเลย”

 

นางถึงกับบนบานผีสางเทวดาให้ได้พบลูก ไม่ลดละความพยายาม ยังตามหาต่อไป “ตะโกนเรียกพลายงามทรามสวาดิ ใจจะขาดคนเดียวเที่ยวตามหา” แม้นางจะกลัวแสนกลัว แต่ห่วงลูกมากกว่า ในที่สุดความพยายามก็เป็นผล

 

“ตรงเซิงซุ้มคุ่มเคียงนางเมียงมอง                 เห็นลูกร้องไห้สะอื้นยืนเหลียวแล

ความดีใจไปกอดเอาลูกแก้ว                       แม่มาแล้วอย่ากลัวทูนหัวแม่

เป็นไรไม่ไปเรือนเที่ยวเชือนแช                    แม่ตามแต่ตะวันบ่ายเห็นหายไป”

 

เมื่อรู้จากลูกว่าถูกขุนช้างทำร้าย รอดตายเพราะพวกขุนแผนมาช่วยไว้ทัน นางวันทองจึงเล่าความจริงให้ลูกรู้ว่าพ่อแท้ๆ คือขุนแผน เป็นศัตรูกับขุนช้าง เนื่องจากพ่อติดคุก ขุนช้าง ‘มันทำถึงสาหัส’ จะพึ่งใครก็ไม่ได้ ตอนนี้ที่เห็นจะพึ่งได้คือย่าทองประศรีที่เมืองกาญจน์ (มารดาของขุนแผน) ‘แม้นไปถึงพึ่งพาย่าพ่อพลาย จะสบายบุญปลอดตลอดไป’

นางวันทองมองความปลอดภัยของพลายงามเป็นหลัก ยอมให้ลูกรักไปไกลตัว แม้จะกลัวอันตรายที่อาจจะเกิดกับลูกระหว่างเดินทางตามลำพัง แต่กลัวอันตรายจากขุนช้างมากกว่า นางจึงตัดสินใจให้ลูกพรากไปจากอก พาลูกไปฝากขรัวนาก สมภารวัดเขาชนไก่ไว้หนึ่งคืน

 

“แล้วเล่าความตามจริงทุกสิ่งไป                     เจ้าคุณได้โปรดด้วยช่วยธุระ

เอาลูกอ่อนซ่อนไว้เสียในห้อง                       เผื่อพวกพ้องเขามาหาอย่าให้ปะ

ท่านขรัวครูผู้เฒ่าว่าเอาวะ                           ไว้ธุระเถิดอย่ากลัวที่ผัวเลย

ถ้าหากว่ามาค้นจนถึงห้อง                           กูมิถองก็จงว่าสีกาเอ๋ย

ฆ่าลูกเลี้ยงเอี้ยงดูกูไม่เคย                            อย่าทุกข์เลยลุงจะช่วยลูกอ่อนไว้”

 

นางวันทองเตรียมการให้ลูกทุกอย่างรวมทั้งเสบียงเดินทางโดยมิให้ขุนช้างระแคะระคาย เมื่อถึงเวลานัดหมายตอนย่ำรุ่ง นางลอบออกจากเรือนพาลูกไปลาท่านสมภาร แล้วชี้ทางไปเมืองกาญจน์ให้ สุนทรภู่ถ่ายทอดภาพการจากลาสะท้อนสายใยรักของแม่ลูกไว้อย่างจับใจ

 

“ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                                 ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล

สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                            แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา

เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น                      แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา

แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวับวิญญา                โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง”

 

แม้พระนางมัทรีและนางวันทองต้องพลัดพรากจากลูก วันข้างหน้ายังมีโอกาสพบกัน ต่างกับแม่ของนางลำหับ ซมพลาและฮเนาไม่มีโอกาสนั้น ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสรุปอวสานรักสามเส้าของเงาะหนุ่มสาวเผ่าซาไกไว้ในบทละครเรื่อง “เงาะป่า” ว่า

 

“ดูดุ๊ความรักนักหนาหนอ                           มาลวงล่อโลมพาคนอาสัญ

ถึงสามศพสยบเรียงเคียงกัน                        ล้วนทาสรักทั้งนั้นอนาถใจ”

 

ภาพของลูกที่ไร้ลมหายใจพรากความสุขของผู้ให้กำเนิดไปอย่างไม่มีวันหวนคืน หมดสิ้นความหวังกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

 

(สามแม่) “โอ้ลูกเราสามราเลี้ยงมายาก ยามจะพรากเหมือนเหมือนฟ้าแลบแปลบเดียวหาย

(ทั้งหมด) น่าสงสารสามแม่ล้วนแก่กาย เลี้ยงลูกคล้ายฝูงนกที่กกฟอง

(สามแม่) ถนอมมากมิให้พรากไปหนไหน มาเหมือนไข่กระทบแยกแตกเปนสอง

(ทั้งหมด) สงสารล้ำน้ำตาอาบหน้านอง เหมือนรางรองธารามาแต่ธาร

(สามแม่) แม่เลี้ยงมาหวังว่าจะฝากร่าง มาขาดกลางเหมือนต้นไม้ใครประหาร

(ทั้งหมด) สงสารนักความรักมาขาดราน เหมือนเด็ดก้านบัวสดไม่หมดใย

(สามแม่) โอ้แต่นี้แม่จะมีแต่ร้อนเร่า เหมือนเพลิงเผาลวกลนต้นไม้ไหม้

(ทั้งหมด) สงสารจริงยิ่งล้นบ่นพิไร เหมือนเชื้อไฟสุมขอนจะร้อนนาน

(สามแม่) แม่จะเปนเช่นต้นไม้ตายเพราะลูก เห็นก็ถูกควรลับดับสังขาร

(ทั้งหมด) สงสารแท้เห็นไม่รอดคงวอดปราณ เหมือนไฟผลาญไพรพนัศเหลือตัดรอน”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ความรักของแม่ไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าลูกจะมีชีวิตหรือไร้ชีวิต ความรักที่แม่มีต่อลูกก็ไม่เคยจืดจาง

เพราะลูกคือความรักความผูกพัน มิใช่ผลพลอยได้จากการสมสู่ของตัวผู้ตัวเมีย อย่างนั้นมัน ‘สัตว์’ ไม่ใช่ ‘คน’