ความเห็น ‘นิธิ-พวงทอง’ ต่อคำวินิจฉัย ‘ล้มล้างการปกครอง’ ของ ‘ศาล รธน.’

หมายเหตุ : บทความเผยแพร่ครั้งแรก 19/11/2564

หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยว่าแกนนำคณะราษฎร อันประกอบไปด้วย “อานนท์ นำภา” “ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” และ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” มีการกระทำ “ล้มล้างการปกครอง” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

ทีมข่าวมติชนทีวีได้วิดีโอคอลไปขอรับฟังทัศนะต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวจากปัญญาชนสองรุ่น

ซึ่งให้ความเห็น (บางส่วน) ไว้ ดังนี้

นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักประวัติศาสตร์และปัญญาชนอาวุโส

“…มันปรากฏชัดแก่ทุกฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงว่า โอกาสที่คุณจะนำความเปลี่ยนแปลงแบบโดยสงบเข้ามาในสังคมนี่เกิดขึ้นได้ยากมาก หรือเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำไป

“แต่ที่ผมเคยพูดมาก่อนว่ามันจะจบลงที่ความรุนแรง เหตุผลโดยการดูย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ผมไม่เคยพบว่ารัฐไทยมีความสามารถในการที่จะประนีประนอมหาทางออกที่ไม่รุนแรง เวลาที่ประชาชนประท้วงคัดค้านอย่างเต็มที่ ได้สักครั้งหนึ่ง เว้นแต่ว่าประชาชนชนะ ในปี 2475

“แต่ว่าหลังจากนั้นมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ที่เป็นการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชน รัฐแทนที่จะหาทางออกร่วมกัน ที่จะออกได้โดยไม่ต้องฆ่ากัน โดยไม่ต้องยิงกัน รัฐไทยไม่เคยประสบความสำเร็จเลย

“เพราะฉะนั้น ผมถึงทำนายว่าครั้งนี้ก็ยิ่งไม่น่าประสบความสำเร็จ แต่พอมาเจอคำพิพากษาเมื่อวานนี้ (10 พฤศจิกายน) ผมคิดว่ามันแทบจะกำหนดจุดจบของเรื่องทั้งหมดไว้เลยว่าคุณจบอย่างนี้ ไม่มีทางจบอย่างอื่น…

“มันก็จะเหมือนกับที่มันเคยเกิดขึ้นทุกครั้ง ก็คือว่าทางออกสุดท้ายของรัฐไทยก็จะเป็นอย่างนี้เสมอ คือ ส่งทหารมายิงประชาชน แล้วก็ยิงอย่างนี้มาตั้งแต่ 14 ตุลา ยิงมาทุกครั้งที่มันเกิดความขัดแย้งแบบนี้

“ครั้งนี้ ยิ่งโอกาสหลังจากคำพิพากษาแล้ว ยิ่งยากขึ้นไปอีก ในการจะไม่ยิง เพราะฉะนั้น ไอ้ที่บอกว่าจบด้วยความรุนแรง ผมคิดว่าจบโดยที่ฝ่ายรัฐจะใช้ความรุนแรงเด็ดขาด อาจจะจับคนจำนวนมากเลยไปคุมขัง อาจไม่ใช่การคุมขังที่คุกก็ได้นะ คุมขังที่ค่ายทหาร คุมขังในอะไรก็แล้วแต่

“แต่คุณจำเป็นจะต้องทำลายการเคลื่อนไหวทั้งหมดลงอย่างถึงรากถึงโคน แล้วจะสำเร็จหรือไม่นี่ผมไม่แน่ใจ ในบางประเทศประสบความสำเร็จ อย่างน้อยสำเร็จเป็นปี เช่น ในพม่า เป็นต้น

“แต่ในพม่าก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเป็นความสำเร็จที่มันลวงตาอยู่เหมือนกัน เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่ามันจะลงเอยอย่างไรกันแน่ แล้วผมเกรงว่ากรณีไทยมันจะเป็นคล้ายๆ กับพม่า คือมันจะไม่เหมือนกับปี 2553 ที่คุณยิงคนตายจำนวนเป็นร้อย แล้วทุกคนยอมกลับบ้านไป ผมเกรงว่าครั้งนี้มันจะไม่เป็นอย่างนั้น มันจะเหมือนกับที่เกิดขึ้นในพม่าเวลานี้

“เป็นการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเท่าที่ประชาชนจะสามารถใช้ได้ โดยสืบเนื่องเป็นเวลานานๆ ปัญหาก็อยู่ที่ว่ารัฐไทยมีกำลังเข้มแข็งพอจะเผชิญกับสิ่งนั้นได้ไหม?”

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

“…เรื่องนี้บวกกับการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา มันมีแต่สร้างความโกรธแค้นไม่พอใจให้กับประชาชนและเยาวชนมากยิ่งขึ้น

“แล้วเยาวชนในทุกวันนี้ เวลาเขามองเรื่องอำนาจ มองผู้มีอำนาจ เขามองในฐานะที่มันเป็นเครือข่ายที่อุปถัมภ์ค้ำชูกัน เขาไม่ได้มองเป็นตัวบุคคลแยกออกไปแล้ว

“รัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ภายใต้เครือข่ายที่อุปถัมภ์กันอยู่ ดิฉันคิดว่าก็ยิ่งจะทำให้เยาวชนที่เขาตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เขาจะพูดถึงเรื่องนี้ในลักษณะที่ร้อนแรงมากยิ่งขึ้น

“ซึ่งหมายความว่าเขาจะกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมมากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งหมายความว่าคำวินิจฉัยในวันนี้จะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในการจัดการกับเขาได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงอำนาจในการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามด้วย

“เพราะว่าถ้าเราดูคำวินิจฉัยของศาลบางตอน ดิฉันคิดว่าโทษเยาวชนว่าเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมในขณะนี้ ก็คือบอกว่าการที่เยาวชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้ พูดแต่เรื่องสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่พูดถึงเรื่องภราดรภาพ ภราดรภาพก็คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม พูดในภาษาของชนชั้นนำไทยคือความสามัคคี

“เขาบอกว่าสิ่งที่เยาวชนเคลื่อนไหวมันทำให้เกิดการแตกความสามัคคีในประเทศนี้ และเป็นสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งอันนี้แทนที่จะโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรง ไม่สนใจที่จะฟังความคิดเห็นของเยาวชน แทนที่จะมองว่ารัฐบาลที่ผ่านมา ศาลที่ผ่านมา ไม่เคยสนใจที่จะฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับใช้การปราบปรามเป็นหลัก และเป็นสาเหตุของความรุนแรง

“คำวินิจฉัยนี้กลับโยนความผิดเรื่องความรุนแรงไปให้การเคลื่อนไหวของเยาวชน เท่ากับเป็นการรองรับให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อเยาวชน…

“ดิฉันว่าก็น่าสนใจว่าเขาไม่ปรับตัวกันและไม่พยายามที่จะใช้โอกาสนี้ ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะที่จะช่วยทำให้พื้นที่ของสิทธิเสรีภาพมันขยายเพิ่มขึ้นได้ ไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการปรับตัวของสถาบันและกลไกอำนาจรัฐในสังคมนี้เลย

“แต่กลับช่วยกันปิด ช่วยกันปกป้องระบอบที่มีอยู่ ซึ่งมันเป็นระบอบที่ดิฉันคิดว่าง่อนแง่นมากแล้ว มันขาดเสถียรภาพ ขาดความยอมรับ ขาดความชอบธรรม ศาลรัฐธรรมนูญปิดโอกาสนี้

“จริงๆ แล้วถ้าท่านเห็นว่าสังคมมาถึงทางตัน ซึ่งมันเกิดปัญหาจากการที่สถาบันต่างๆ ในสังคมนี้ไม่ยอมที่จะปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แล้วใช้โอกาสนี้ในการที่จะแนะนำ เปิดพื้นที่ให้เกิดการถกเถียงกันอย่างสันติ มันก็จะช่วยหาทางออกให้สังคมได้

“แต่ตอนนี้คิดว่าทางตันที่มันตันอยู่แล้ว ถูกทำให้แคบลงได้อีก”