#ท้าเปลี่ยนประเทศไทย : ‘ศิริกัญญา’ ชี้ 4 เรื่องสำคัญยังไม่เปลี่ยน ลั่นใช้วิธีเดิม-ผู้นำไร้ชอบธรรมแก้วิกฤตไม่ได้

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 13.10 น. ที่ห้องประชุมข่าวสด มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารรายสัปดาห์ที่เป็นชุมชนนักคิด คอลัมนิสต์ที่นำเสนอแง่มุม ให้วิเคราะห์ ต่อยอดและถกเถียงแลกเปลี่ยน ได้ก้าวสู่ครบรอบปีที่ 42 ของนิตยสาร ได้จัดงานเสวนา 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย เชิญบุคคลสำคัญของพรรคการเมืองชั้นนำของไทยมาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ภาคการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศหลายมิติ หลังผ่านวิกฤตโควิด-19

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้กล่าวถึง สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องที่แบบมองข้ามไม่ได้ว่า หลายคนอาจคิดถึงเรื่องโควิด เพราะมากวนใจและไม่ไปจากเราเสียที เราจะเปลี่ยนภายใต้สถานการณ์เงื่อนไขจาก โควิดได้อย่างไร แต่ตนคิดว่าถ้าจะเปลี่ยนประเทศไทยได้จริงๆ โควิดอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะปัญหารากเหง้ายังคงอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่โควิดทำให้เด่นชัดขึ้น ทำให้ปัญหาที่เหมือนฝีที่บ่มได้แตกออก โควิดยังเซ็ตซีโร่ทุกอย่างประเทศนี้ วิธีการแก้ปัญหา วิธีบริหารแบบเดิมแทบแก้ไม่ได้ ต้องฉีกทุกทฤษฎี ทุกตำรา ประสบการณ์อาจเป็นศูนย์ก็ได้เมื่อเจอโรคใหม่ต่อจากนี้ แต่แน่นอนว่าถ้าเปลี่ยนได้ ต้องรู้ว่าเปลี่ยนจุดไหนจำเป็นต้องเปลี่ยน ให้ก้าวหน้าไปกว่านี้ได้

4 เรื่องสำคัญที่ยังคงอยู่กับประเทศไทยก่อนโควิด จนถึงทุกวันนี้ตอนนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน ไม่ต่างไรกับขยะซุกใต้พรมที่ตอนนี้ถูกเผาออกมาให้เห็นเด่นชัดตำตา ไม่ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหารัฐเลี้ยงไข้ ปัญหาระบบราชการที่รับใช้ทุกสถาบันยกเว้นประชาชน และวิกฤตศรัทธาของผู้นำประเทศ แต่ละเรื่อง ถ้าไม่แตะ ประเทศนี้ไปต่อไม่ได้จริงๆ

เริ่มจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ แน่นอนว่า ปัญหานี้ คนไม่สามารถอยู่ในความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไม่สามารถปล่อยได้ แต่ปัญหาจุดสำคัญที่ไม่สามารถงัดได้ คือการขาดชนชั้นกลาง ขาดคนที่เป็นผู้บริโภค เป็นกำลังเศรษฐกิจสำคัญ ขับเคลื่อนประเทศ เป็น Missing Middle Class ถ้าเปรียบเศรษฐกิจเหมือนภูเขาน้ำแข็ง มีเพียงคนส่วนน้อยหยิบมือเดียวที่อยู่ส่วนบนสุด ถูลู่ถูกังพาประเทศนี้เดินไปข้างหน้า ภาคการส่งออก เรามีบริษัทส่งออกเพียงไม่กี่เจ้าทีได้ส่วนแบ่งการตลาด แต่มีคนที่อยู่ในฐานรากใต้สุดถูกแช่แข็งเอาไว้และไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพได้ ถ้าไม่แตะเรื่องนี้ ไม่ว่ามีอุตสาหกรรมดีแค่ไหน มีเงินทุนแค่ไหน แต่ไม่มีฐานผู้บริโภคสินค้าเหล่านี้ ประเทศไปต่อไม่ได้

ที่ผ่านมา เราเจอรัฐบาลเลี้ยงไข้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่กล้าพูดถึงความจริงอันน่ากระอักกระอ่วน ไม่เคยกล้าพูดว่าการท่องเที่ยวไม่มีวันเหมือนเดิม รัฐบาลจะกล้าพูดไหมกับปัญหาเกษตรที่นอกจากเยียวยาไปวันๆ ไม่พูดถึงปัญหานอกจากให้ยาพาราเซตามอลหรือมอร์ฟีนเพื่อระงับปวดแต่ไม่เยียวยา ให้ประชาชนต้องรับความเสี่ยงตามยถากรรม

ระบบราชการที่รับใช้ทุกสถาบันตั้งแต่ขุนศึก ศักดินา แต่ไม่มีประชาชนในสมการ ถามว่าข้าราชการที่รับใช้ประชาชนมีเยอะ แต่ไม่มีให้รางวัลนอกจากโบยตี และให้เอารางวัลกับข้าราชการที่เห็นหัวประชาชน แต่เอาใจนายเก่ง เป็นเพียงระบบราชการรวมศูนย์ที่รวบรวมกุมชะตากรรมของประเทศนี้

เรื่องสุดท้าย วิกฤตศรัทธาของผู้นำและอาจร่วมถึงทุกองคาพยพด้วย ต่อให้พูดวิสัยทัศน์ดีมาก คนจะเชื่อไหม ต่อให้นโยบายดีๆ คนจะไว้ใจแค่ไหนหรือตั้งคำถามมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ เกาะกินประเทศไทยมานาน หลายนโยบายที่รัฐบาลที่สร้างมา ไม่เกิดได้ ถ้าไม่หาฉันทามติที่สังคมเดินต่อไปได้ 4 เรื่องเหล่านี้ หาทางออกไม่ได้และโควิดทำให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้แก้แบบเดิมๆไม่ได้อีกต่อไป

น.ส.ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ถ้าจะทำให้ฐานรากใต้ภูเขาน้ำแข็งได้ออกมาได้เต็มที่ แน่นอนว่าเราไม่สามารถทำได้ถ้าอยู่รัฐบาลและระบบราชการแบบนี้ เรื่องเกษตรกรรม จะดีกว่าไหมถ้าหน่วยงานภาคเกษตรลงไปทำงานกับเกษตรกรแบบเพื่อนคู่คิด ที่จะจูงมือพบทุกหน่วยงาน ถ้าเคยกู้เงินอาจรู้จักผู้จัดการสัมพันธ์ ที่ประสานงานติดต่อได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเป็นคนที่คุยกับเกษตรกรได้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่จะตัดสินใจได้เองบนข้อเท็จจริง แต่จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่แตะปัญหาของกระทรวงเกษตรที่มีบุคลากรกว่า 8 หมื่นคน มีเพียงส่วนน้อยอยู่ภูมิภาค จะดีกว่าไหมถ้าประเทศนี้ ประชาชนสามารถรับความเสี่ยงได้ สามารถล้มบนฟูกได้ โดยรัฐจัดหาให้ หาสวัสดิการเป็นตาข่ายไม่ให้ร่วงแล้วเจ็บตัว แต่ร่วงแล้วลุกเร็ว ถ้าจะแก้วิกฤตศรัทธาและฟื้นความเชื่อไว้ใจ ไม่มีวิธีอื่นนอกจากผู้นำที่ชอบธรรม เราต้องพิพากษารัฐบาลนี้ผ่านการเลือกตั้ง การคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อตัดสินใจอีกครั้งว่าจะมอบให้คนไหน เปลี่ยนผ่านวิกฤตนี้ไปได้

เมื่อถามถึงพรรคก้าวไกลที่ได้ฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ที่ฝันถึงอนาคต แล้วในปี 65 จะทำยังไงเมื่อต้องเจอทั้งคนไม่มีเงิน ไม่มีงาน มีแต่หนี้และรอไม่ได้นั้น ศิริกัญญา กล่าวว่า ในการแก้ไขระยะสั้น ไม่เปลี่ยนประเทศก็จริง แต่การแก้ไขระยะสั้นมีความจำเป็น โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม ประเทศฟื้นได้จากการกระจาย ถ้าผลักภาระให้ประชาชนว่าหนี้ส่วนตัวจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้ารัฐรับไว้ เพิ่มหนี้ได้แต่ต้องเยียวยาความเสียหาย ถึงเวลานั้น ประชาชนจะฟื้นตัว ระยะสั้นจำเป็น แต่ระยะยาวต้องมีในหัวที่จะต้องทำ

“เราทำได้ หลังจากพ้นโควิด วิธีการเดิมใช้ไม่ได้ การตัดสินใจที่ฉับไว ไม่ต้องใช้ประสบการณ์ในอดีต ถึงแม้เป็นคนหน้าใหม่ ไม่เคยบริหารประเทศ แต่เราเรียนรู้ไว ไม่มีความกังวลใจถ้า วันหนึ่งต้องเป็นรัฐบาลก็ไม่กังวล” น.ส.ศิริกัญญา กล่าวถึงโอกาสเป็นรัฐบาลแม้ไม่เคยมีประสบการณ์บริหารประเทศมาก่อน

ถ้าเกิดพรรคโดนยุบ มีแผนรองรับไหม มีหลายแผน แต่ไม่กังวล เราไม่ได้นั่งเป็นรัฐบาลแล้วจบ มีหนทางอีกไกล ต่อให้มีอีกสิบพรรค เราก็สู้ต่อ อาจมีพลพรรคตายกลางทาง เราจะฟื้นใหม่ พรรคที่กว่าจะเป็นสถาบันการเมืองได้อย่างเพื่อไทย ก็ใช้เวลา

หน้าตักคดีที่เรามีอาจเยอะ แต่โอกาสที่จะโดนมีน้อย