พระสงฆ์กับการเมือง การเมืองในวงการพระสงฆ์/บทความพิเศษ อภิเชต ผัดวงค์

บทความพิเศษ

อภิเชต ผัดวงค์

 

พระสงฆ์กับการเมือง

การเมืองในวงการพระสงฆ์

 

วงการปกครองคณะสงฆ์ระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ร่ำไห้ปล่อยโฮขณะถ่ายทอดสดผ่านโซเชียลมีเดีย ระบายความอัดอั้นตันใจ หากไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง “ประกาศพร้อมสึก”

วงการสงฆ์ระส่ำระสายตั้งแต่มหาเถรสมาคมมีคำสั่งถอดถอนและแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด 3 จังหวัด ฝ่ายรับผิดชอบไม่สามารถไขข้อข้องใจสร้างความกระจ่างต่อสาธารณชน

การปกครองคณะสงฆ์ในอดีตมีคดีข้อกล่าวหาที่ส่งผลต่อภาพรวมต่อคณะสงฆ์ อาทิ กรณีการตั้งอธิกรณ์ครูบาศรีวิชัย การข่มขู่ให้ครูบาขาวปีแห่งล้านนาสึก คดีพระพิมลธรรม อธิบดีสงฆ์แห่งวัดมหาธาตุ คดีอดีตพระนิกร คดีภาวนาพุทโธ คดีสันติอโศก คดีวัดพระธรรมกาย และคดีเงินทอนวัด เป็นต้น

 

พระณรงค์ สังขวิจิตร ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนาศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอไว้ในวิทยานิพนธ์ ปี 2558 หัวข้อ “ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ขออนุญาตนำบางส่วนมาเสนอ ดังนี้

“คณะสงฆ์ประสบปัญหาโครงสร้างการปกครอง ปัญหาประสิทธิภาพในการปกครอง ปัญหาเกณฑ์การแต่งตั้งพระสงฆ์ที่จะได้รับสมณศักดิ์

…ในการแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการปกครอง มีแนวทางแยกรัฐออกจากศาสนา กับการปรับปรุงโครงการสร้างการปกครองคณะสงฆ์ใหม่

ส่วนการแก้ไขการขาดประสิทธิภาพทางการปกครอง… คือแก้ไขหลักเกณฑ์ของพระที่จะได้รับสมณศักดิ์ โดยแยกสมณศักดิ์ออกจากตำแหน่งการปกครอง”

 

กระแสการปฏิรูปหัวใจหลักในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ประกอบด้วยงาน 6 ด้าน คือ ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการศาสนสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ ด้านสาธารณูปโภค และด้านสาธารณสงเคราะห์ ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะด้านการปกครอง

ในยุคการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ รัฐบาลโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติซึ่งมีภารกิจสนองงานคณะสงฆ์ ควรบริหารการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นเป้าหมายให้เกิดระบบการจัดการที่ทันสมัย ถวายการสนับสนุนให้คณะสงฆ์ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ควรให้ท่านได้บริหารงานโดยยึดหลักความเสมอภาค และโปร่งใสยิ่งขึ้น ประชาชนจะเกิดศรัทธา ผู้คนเข้าถึงคำสอนนำไปสู่การจูงใจในการทำในสิ่งที่ดี ย่อมผลักดันให้พระพุทธศาสนาคงอยู่สืบไป

การบริหารการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้การปกครองคณะสงฆ์ขับเคลื่อนสร้างความศรัทธาและมีประสิทธิภาพ ควรปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการวางแผน ด้านการจัดองค์กร ด้านการบริหารงานบุคคล ด้านงานอำนวยการ และด้านการกำกับดูแล

ที่ผ่านมาเรามักได้ยินคำว่าปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2560-2564 กำหนดแผนการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาประกอบไปด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 10 กลยุทธ์ 14 แผนงาน

การจะปฏิรูปเพื่อสร้างความมั่นคง เกิดความเป็นธรรมในหมู่สงฆ์ อันจะนำสังคมสันติสุขอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัย “คน” ที่ต้องมีความรู้ ความสามารถ มีความเมตตา เข้าใจในหลักพระศาสนามุ่งหวังให้ประชาชนในชาติได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป

การปฏิรูปจะบรรลุผลนั้น ต้องถามคณะสงฆ์ว่าทิศทางควรเป็นอย่างไร มิใช่เอาคนกิเลสหนาไปกำหนดทิศทางให้ผู้มีกิเลสเบาบางต้องถือปฏิบัติเพียงฝ่ายเดียว

 

การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นบนฐานพรหมวิหารธรรม 4 มุ่งความดีงามในหมู่สงฆ์ ขณะเดียวกันหากมีการประพฤติผิดพระวินัยก็ต้องตัดสินตามแนวบัญญัติอย่างตรงไปตรงมา พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันของฝ่ายการเมืองหรือประชาชนกับคณะสงฆ์

หากความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายเหินห่างกัน หรือยิ่งหากพฤติกรรมของพระสงฆ์จะเป็นอย่างไร ฝ่ายกำกับดูแล หรือประชาชนไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไม่แสดงความเป็นห่วง ไม่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยความปรารถนาดี อันนี้ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ จะทำให้วิกฤตในวงการคณะสงฆ์เป็นไปในทางที่ไม่พึงประสงค์

บทบาทพระสงฆ์ก็จะยิ่งไม่สนองตอบต่อปัญหาในสังคมที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันหากฝ่ายบ้านเมืองที่จะปฏิรูปคณะสงฆ์ คิดแต่เพียงจะนำกฎหมายไปจัดการโดยไม่คำนึงถึงการจะนำพระธรรมวินัยเป็นหลักนำไปพิจารณา หรือไม่ใช้หลักการทางศาสนาเข้าไปจัดการ การกระทำลักษณะนี้นอกจากจะเป็นการลบหลู่ต่อคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยังเท่ากับไปซ้ำเติมไม่ก่อผลดีทั้งต่อฝ่ายการเมืองและคณะสงฆ์

มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ประกอบด้วยพระเถระมีอายุพรรษา แต่ละรูปเป็นที่เคารพศรัทธา ผ่านประสบการณ์ปกครองหลายระดับ

ขณะเดียวกันพระสงฆ์-สามเณรทั่วประเทศ 300,000 กว่ารูป อยู่ในมือการปกครองของกรรมการมหาเถรสมาคม 20 รูป กรรมการชุดปัจจุบันเพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา การปกครองคณะสงฆ์ระดับจังหวัดก็อยู่ที่เจ้าคณะจังหวัดเพียงรูปเดียว ในระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับเจ้าอาวาสก็เช่นเดียวกัน

มหาเถรสมาคมเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรี การบริหารงานของคณะรัฐมนตรีขึ้นตรงและถูกตรวจสอบโดยสมาชิกรัฐสภา จากองค์กรอิสระ อาทิ ป.ป.ช., ปปง., สตง., ป.ป.ท. แล้วมหาเถรสมาคมควรขึ้นตรงและถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานใด

การปกครองคณะสงฆ์ในอดีตมีการแยกอำนาจการปกครอง การบัญญัติสังฆาณัติผ่านสังฆสภา การบริหารงานผ่านสังฆมนตรี และแยกการวินิจฉัยอธิกรณ์โดยคณะวินัยธร หากจะนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยก็น่าจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาตามสมควรแก่เหตุปัจจัย

เมื่อเห็นความสำคัญเช่นนี้ ควรที่พุทธศาสนิกชนจะร่วมปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ โดยยึดหลักพรหมวิหารธรรม ร่วมใจถวายแนวทางให้ท่านได้บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพตามคติที่ว่า “ปกครองอย่างเมตตา กรุณาอย่างมีเหตุผล ยินดีกับทุกศาสนิกชน ปฏิรูปคนให้วางใจเป็นกลาง”

 

กระบวนการขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาโดยใช้หลักธรรมทางศาสนา ให้ชาวพุทธมีเมตตาต่อกัน มีกรุณาบนพื้นฐานของความดี ปราศจากอคติความขัดแย้ง วางอุเบกขาสร้างความเท่าเทียมให้ผู้ที่ทำการปฏิรูปและผู้ถูกปฏิรูป

การห่มครองผ้าสีขาวแทนผ้าเหลืองตราบมรณภาพของครูบาอภิชัย (ขาวปี) แห่งล้านนาเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในการปกครองของคณะสงฆ์ กลุ่มสันติอโศกโดยการนำของสมณะโพธิรักษ์ก็เป็นอีกบทสะท้อนการแยกกลุ่มปกครองตนเอง การไม่ยอมรับ ไม่ยอมอยู่อาณัติการปกครองของคณะสงฆ์ไทย

หากการปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ปรากฏผลทำให้ฝ่ายการเมือง ฝ่ายกำกับดูแล และผู้ปกครองคณะสงฆ์ดำรงอยู่ในหลักการที่เหมาะสม

เชื่อว่า…จักไม่มีกรณีล่ารายชื่อ ปักป้ายไม่รับมติถอดถอนและแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด และการลาออกจากตำแหน่งของพระสงฆ์ (ธรรมยุต) ดังเช่นที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดกาฬสินธุ์ และการร้องให้ประกาศพร้อมลาสิกขาของพระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ เพื่อทวงความเป็นธรรมให้พระราชปัญญาสุธีต่อกระแสการแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดสร้อยทอง

พระสงฆ์คือผู้นำทางจิตวิญญาณของสังคมไทย กระแสข้อกังวลต่อพฤติกรรมการถ่ายทอดสดร้องห่มร้องไห้จะด้วยความทดท้อต่อรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์หรือเพียงเรียกร้องความสนใจในกลุ่มนิยม พฤติกรรมเหล่านี้สังคมไทยก็ไม่พึงมองข้าม

หรือนี่จะจริงกับคำที่ว่า ปฏิรูปพระสงฆ์ไม่ได้ ประเทศไทยก็อย่าไปคิดจะปฏิรูป