จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : หิ่งห้อย – หิงห้อย / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

หิ่งห้อย – หิงห้อย

 

หิ่งห้อย หรือ หิงห้อย คือแมลงเรืองแสงอยู่คู่เมืองไทยมานานหลายร้อยปี เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ กวีสมัยอยุธยา ทรงเปรียบสภาพของจิตใจกับหิ่งห้อยตัวน้อยนิด ไว้ใน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” ดังนี้

 

“ปีเถาะจำเพาะกต่าย                   เคราะห์พี่ร้ายเจ้าหายไป

เที่ยวหาลาแห่งใด                       ใจเรียมฝ่อบเห็นนางฯ

สสานาเมศอ้าง                          อรไคล

เคราะห์พี่ร้ายนางไกล                  โศกสร้อย

เรียมเดียวเที่ยวแดนใด                 ดูทั่ว

ใจพี่เท่าหิ่งห้อย                         ฝ่อแล้วอรเอยฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘ฝ่อ’ คือ เหี่ยวเล็กลง ยุบแฟบลง เมื่อนางผู้เป็นที่รักหายไป ใจพี่จึงฝ่อห่อเหี่ยวลงเท่ากับตัวหิ่งห้อย

 

คนไทยสมัยก่อนมีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติจึงคุ้นเคยกับหิ่งห้อยที่มีแสงกะพริบเห็นชัดเจนในเวลากลางคืน บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 บรรยายถึงธรรมชาติยามค่ำคืนว่า

 

“น้ำค้างตกต้องใบพฤกษา                    จับแสงจันทราจำรัสฉาย

หิ่งห้อยย้อยระยับจับไม้ราย                 พรายพรายแพร้วแพร้วที่แถวทาง”

 

แสงระยิบระยับของฝูงหิ่งห้อยจับใจกวีไทยหลายท่าน สุนทรภู่บรรยายไว้ใน “นิราศวัดเจ้าฟ้า” ว่า

 

“ลำภูรายชายตลิ่งล้วนหิ่งห้อย              สว่างพรอยแพร่งพรายขึ้นปลายแขม

อร่ามเรืองเหลืองงามวามวามแวม          กระจ่างแจ่มจับน้ำเห็นลำเรือ”

 

ไม่ต่างกับใน “นิราศพระประธม”

 

“บางขุนนนท์ต้นลำภูดูหิ่งห้อย              เหมือนเพชรพร้อยพรอยพร่างสว่างไสว

จังหรีดร้องซ้องเสียงเรียงเรไร               จะแลไหนเงียบเหงาทุกเหย้าเรือน”

 

คำว่า ‘ระยับ-พรายพราย-แพร้วแพร้ว-วามวามแวม-พร่าง’ คือลักษณะแสงกะพริบที่ปรากฏขึ้นแล้วหายลับสลับกันไปใกล้เคียงกับประกายระยิบระยับของเพชร กวีจึงนิยมเปรียบแสงหิ่งห้อยกับแสงเพชร ดังจะเห็นได้จาก “นิราศพระยาตรัง”

 

“ยามดึกเงียบสงัดด้าว                          เดือนฉาย แม่ฮา

วับวาบลำภูพราย                               พร่างพร้อย

หิ่งห้อยจับพฤกษ์ราย                          เรียงกิ่ง ไกวนา

แสงดั่งพลอยเพชรก้อย                        กรีดนิ้วนางเฉวียง”

 

ต้นลำภู (ลำพู) ที่อยู่ริมฝั่งน้ำเป็นต้นไม้ยอดนิยมของหิ่งห้อย เห็นต้นไม้นี้ที่ไหน เห็นหิ่งห้อยที่นั่น และมิใช่แค่ตัวเดียว แต่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แสงหิ่งห้อยวาววามท่ามกลางความมืดมิด

 

กรมหลวงภูวเนตร์นรินทร์ฤทธิ์ทรงประทับใจหิ่งห้อยที่ส่องแสงวาววับราวกับเพชรประดับต้นลำพู ทรงพระนิพนธ์ไว้ถึง 4 บทติดต่อกันใน “โคลงนิราศฉะเชิงเทรา” ว่าแสงของหิ่งห้อยทำให้หวนนึกถึงตุ้มหูเพชรและแหวนเพชรของนางผู้เป็นที่รัก

 

“ลำภูพุ่มชชัฎเชื้อ                        ชายแหลม หลากนา

ใดประดับเดือนแรม                    เร่งพร้อย

หึงเห็นหิ่งห้อยแวม                     หวาดหวาบ อกเอย

คิดพ่างพวงเพ็ชรห้อย                  ห่วงห้วงกรรณนาง ฯ

ลำภูหิ่งห้อยพร่าง                       พราวพราย

ถวิลว่าแหวนวัชรินทรราย             รอบก้อย

จรจากพี่คะนึงหมาย                   หมายมุ่ง มาแม่

เห็นแต่หิ่งห้อยย้อย                    ยาบไม้เหมือนแหวน ฯ

วาววาวหิ่งห้อยโบก                    บินบน

พราวพร่างลำภูยล                     ยิ่งแก้ว

แสงส่องสว่างชล                       ฉุนคิด คนึงแม่

ฉุกว่าพวงเพ็ชรแพร้ว                  เพริศพร้อยพรายกรรณ ฯ

วาบวาบสว่างฟ้า                       เฟือนดาว

แสงหิ่งห้อยแวมวาว                   วาบไม้

ลำภูพุ่มพฤกษพราว                   พรายเนตร เรียมเอย

พิศพ่างเพ็ชรพี่ให้                      ห่วงห้อยกรรณนาง ฯ”

 

หิ่งห้อยและแสงวับวามทำให้ชาวฝรั่งเศสที่มาเยือนเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ 4 ตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก ดังที่สังฆราช ปาลเลกัวซ์ บันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (ฉบับสันต์ ท. โกมลบุตร แปล) ว่า

“หิงห้อย ซึ่งพบในประเทศสยามเป็นแมลงที่น่าสังเกตมากในเรื่องแสงอันเรืองไรของมัน เราเห็นแมลงชนิดนี้บินว่อนไปตามต้นไม้จากต้นนี้ไปต้นโน้นอยู่ทุกทิศทุกทาง บ่อยครั้งที่มันรวมจับกันอยู่เป็นกลุ่มด้วยจำนวนพันจำนวนหมื่นบนต้นไม้ใหญ่ใกล้ริมน้ำ เป็นภาพที่น่าดูมากเมื่อเห็นกิ่งก้านของต้นไม้มีแสงพวยพุ่งแวบออกมาพร้อมๆ กันราวกับดวงไฟสักพันดวง หิงห้อยนั้นมิได้ถ่ายทอดแสงอยู่ตลอดเวลา แต่ขาดหายเป็นห้วงๆ ซึ่งน่าจะเป็นตามช่วงระยะของการหายใจกระมัง เป็นการยากที่จะอธิบายได้ว่าเหตุไรหิงห้อยเป็นจำนวนพันจำนวนหมื่น จึงปล่อยแสงออกมาพร้อมๆ กันได้ราวกับนัดกันไว้เช่นนั้น”

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังประทับใจหิ่งห้อยแมลงตัวนิดในวิถีชีวิตชาวไทยสมัยรัตนโกสินทร์อย่างยิ่ง ดังที่ Mrs. S. R. House บันทึกไว้ในเรื่อง “บรรดาสัตว์ต่างๆ ของสยาม”

“พวกเราไม่เคยเหนื่อยหน่ายกับการเฝ้าชมหิ่งห้อยในขณะที่พวกมันซึ่งมีจำนวนมากมายสุดคณานับกระจายตัวไปทั่วทั้งกิ่งก้านของต้นไม้ที่พวกมันชอบที่สุด และในเวลาเดียวกันด้วยความสม่ำเสมอและความแน่นอน หิ่งห้อยทั้งหมดจะเปล่งแสงแวววาวดุจเพชรสลับกับปิดบังแสงของพวกมันไว้ในความมืด”

(จากหนังสือ “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช 2557)

สวยอย่างนี้ ใครๆ ถึงติดใจ