เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ภูมิพิเศษของคนพิเศษ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภูมิพิเศษของคนพิเศษ

 

หอศิลป์ กทม. ตรงสี่แยกปทุมวัน มักมีอะไรดีๆ ให้เราได้ดู ได้คิดอยู่เสมอ

อย่างเช่นวันนี้ และว่าต่อไปอีกหกเดือนเป็นนิทรรศการงานศิลปะของผู้มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า ออทิสติก แต่มีความสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลาย เช่น จิตรกรรม หัตถศิลป์ ประติมากรรม

เฉพาะเดือนตุลาคมนี้ นอกจากงานศิลปะหลากหลายแล้วยังมีบทกวีบนผืนผ้า กับมีหนังสือเล่มน้อยรวมบทกวีชื่อ “คนเศร้าเล่าบันทึก” ซึ่งจะเขียนถึงในบทความนี้

งานดังกล่าวจัดโดยคณะองค์กรหลากหลาย มีองค์กรหลักคือ เดอะเรนโบว์รูม ร่วมกับหอศิลป์ กทม.

งานกวีนี้น่าสนใจ ด้วยรวมความรู้สึกนึกคิดของผู้มีลักษณะพิเศษไว้ให้เราได้เข้าใจและเห็นใจ

 

ปัจจุบันฉันเรียนจบอุดมศึกษา

ฉันค้นคว้าทำตามฝันอยู่เสมอ

แม้ความฝันฉันอาจจะไม่เลิศเลอ

แต่พวกเธอมันทำให้ใจฉันทน

นี้คือกลอนบทหนึ่งในจำนวนราวสองร้อยบทของหนังสือชื่อ “คนเศร้าเล่าบันทึก” ผู้แต่งใช้นามปากกาน่ารักว่า “แร็คคูน ข้างเดียว” แร็คคูนหมายถึงตัวแร็คคูนนะ ตัวแร็คคูนที่น่ารักนั่นน่ะ

เธอเป็นโรคที่เรียกว่า “ซึมเศร้า” มาตั้งแต่เด็ก และเป็นออทิสติก

ความรู้สึกเพียงนึกรู้ฉันอยู่นี่

แต่ไม่มีที่นึกรู้ว่าอยู่ไหน

ที่แคบนิดบิดตัวหน่อยผล็อยหลับไป

ตื่นมาใหม่ไยฉันยังเหมือนครั้งเดิม

เธอแบ่งเนื้อหาเป็นบท ทั้งหมดมีเก้าบท “ความรู้สึกเพียงนึกรู้ฉันอยู่นี่” นี้เป็นกลอนบทแรกของบทที่ 1 ชื่อ “เมื่อครั้งยังทารก” แล้วไล่ไปเรื่อยตามช่วงวัยศึกษา เริ่มแต่อนุบาลจนจบอุดมศึกษา ที่เธอให้ชื่อบทนี้ดีนัก คือชื่อ

สังคมในอุดมศึกษา ที่ไม่ใช่สังคมในอุดมคติ

แต่เธอก็ศึกษาจนจบตามความใฝ่ฝัน ดังวรรคสามของบทต้นที่ว่า

“แม้ความฝันฉันอาจจะไม่เลิศเลอ

แต่พวกเธอมันทำให้ใจฉันทน”

สมดังโวหารว่า “อย่าทำลายความใฝ่ฝันของคนหนุ่มสาว” ซึ่งแม้แต่เด็กลักษณะพิเศษเช่นเธอ ไม่เฉพาะความใฝ่ฝันเท่านั้นที่เธอมี หากยังค้นพบอัจฉริยภาพทางกาพย์กลอน อันเธอมีไม่แพ้ใครอยู่ด้วย

นี่คือภูมิพิเศษที่แสดงถึงความเป็นตัวเธอ

 

ผู้เป็นออทิสติกนั้นมักมีลักษณะ “ภูมิพิเศษ” อยู่ในตัวแทบทุกคน ซึ่งแตกต่างกันไป เช่น บางคนมีความสามารถทางดนตรี หรือทางศิลปะสาขาใดสาขาหนึ่ง

ผู้ปกครอง ครู และเพื่อน พร้อมสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่จะค้นพบและสนับสนุนส่งเสริมให้ “ภูมิพิเศษ” นี้ได้ปรากฏเป็นคุณค่าคนอันหาได้ยากยิ่ง แม้ในคนปกติโดยทั่วไป

แร็คคูนเขียนกลอนเผยความทรงจำวัยทารกว่า

สิ่งที่ฉันมั่นยึดถือคือร้องไห้

จดจำได้แสดงออกบอกโลกกว้าง

ฉันเรียนรู้ดูจากกรรมที่อำพราง

น้ำตาสร้างวางตัวฉันอย่างฉันเป็น

อีกบทเช่น

คนบางคนทนอดนอนตอนฉันหลับ

ฉันขยับเธอเขยิบกระเถิบหา

เธอให้ฉันปันซึ่งรักกรุณา

เธอนั้นหรือคือเมตตาค่างดงาม

ใครเล่าหนอจะมี “เมตตา” ถึงปานนี้หากไม่ใช่พ่อ-แม่ผู้บังเกิดเกล้า

นักจิตวิทยาว่า “ความรักความอ่อนโยน” ที่พ่อ-แม่มีให้ลูกนี้สำคัญนัก สำคัญทั้ง “ความรัก” และ “ความอ่อนโยน” คือการโอบอุ้ม ประคับประคอง และกกกอดให้ผิวกายได้สัมผัสกันมาแต่ทารกจนเติบโตนี่แหละคือสิ่งที่เป็น “ความอ่อนโยน”

หากเด็กขาดสิ่งเหล่านี้ เขาก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่หยาบกระด้าง หาไม่ก็มักแสวงหาสิ่งที่ขาดเอาอย่างไม่รู้จบสิ้น

 

นอกจากกาพย์กลอนแล้ว แร็คคูนเธอยังชอบเขียนรูปดังภาพประกอบในเล่มที่เป็นฝีมือเธอล้วนๆ ดังเธอถ่ายทอดไว้ว่า เมื่ออยู่อนุบาลนั้น ครูสอนให้เธอหัดเขียนตัวอักษร ซึ่งเธอก็

ฉันลงมือถือดินสอไม่รอท่า

ผลที่ได้ที่ออกมาพาฉันเขิน

เปรียบดังปลามาวิ่งเต้นเล่นหัดเดิน

ฉันเขียนเพลินแต่เขียนผิดคิดงุนงง

ภาพตัวอักษรที่เธอ “เขียนเพลินแต่เขียนผิด” ดังนำมาเป็นภาพประกอบนี่แหละ คือบันไดขั้นต้นของบรรดากาพย์กลอนทั้งหมดในเล่มนี้ของเธอ

นี้คือ “บันไดกวี”

เมื่อขึ้นชั้นมัธยม วัยเปลี่ยน เพื่อนเปลี่ยน เธอบันทึกความรู้สึกตอนหนึ่งว่า

ไร้ตัวตนไร้คนใดใคร่มองเห็น

เช้าจรดเย็นไม่เว้นวันไม่หรรษา

ฉันโดดเดี่ยวไร้เรี่ยวแรงแลโรยรา

ปรารถนาหามิตรแท้ดูแลใจ

แล้วเธอก็ถูกพาเข้าโรงพยาบาล

ฉันถูกพามาที่โรงพยาบาล

ที่กล่าวขานว่ารักษาโรคจิตหาย

ฉันไม่อยากอยู่ที่นี่ฉันอยากตาย

ใจวุ่นวายกายพาหนีไม่รีรอ

พญามารคงคล้ายคล้ายพยาบาล

ในไม่นานฉันถูกจับมัดจนหงอ

ตัวฉันดิ้นสะบัดหน้าน้ำตาคลอ

ญาติแม่พ่อกลับบ้านไปไม่ลากัน

ประสบการณ์โหดอย่างนี้มีจริง น่าชื่นชมที่เธอผ่านมันมาได้ กระทั่งนำมาเจียระไนเป็นกาพย์กลอนฉายสะท้อนสะท้านความรู้สึกได้ถึงปานนี้

คือเรื่องจริงจากหัวใจได้เปิดเผย

ไม่ละเลยเปิดเพื่อรู้ดูให้เห็น

คงไม่ยากลำบากจิตคิดลำเค็ญ

เปิดประเด็นความจริงใจให้ทุกคน

 

หนังสือ “คนเศร้าเล่าบันทึก” เล่มน้อยนี้ ยิ่งใหญ่นัก ด้วยมันสะท้อนภาพความรู้สึกด้วยบทกวีที่ช่วยเยียวยาให้ไม่เฉพาะเธอผู้เขียนเท่านั้น หากมันได้ฉายภาพชีวิตของสังคมวงกว้างให้เราได้เห็นในอีกหลายแง่มุมนัก

นอกจากบทกวีนี้แล้ว ยังมีงานศิลปะอีกหลากหลายจากฝีมือของผู้มีคุณสมบัติที่เป็น “ภูมิพิเศษ” เหล่านี้ซึ่งจัดแสดงเป็นนิทรรศการชื่อ “สาระภัณฑ์ภาษา” ณ หอศิลป์ กทม. ปทุมวัน ซึ่งมีถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้เท่านั้น จะได้รู้ว่า

เราเองก็เป็นเช่นกัน