‘ครูใหญ่’ วิเคราะห์ ‘การเมืองเรื่องสงฆ์’ เมื่อ ‘อำนาจรัฐ’ อยู่เหนือ ‘ศาสนา’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘ครูใหญ่’ วิเคราะห์ ‘การเมืองเรื่องสงฆ์’

เมื่อ ‘อำนาจรัฐ’ อยู่เหนือ ‘ศาสนา’

 

รายการ “The Politics ข่าวบ้านการเมือง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งสนทนากับ “ครูใหญ่ อรรถพล บัวพัฒน์” แกนนำคณะราษฎร ว่าด้วยประเด็นการเมืองไทยร่วมสมัย

อย่างไรก็ตาม ณ ช่วงท้ายของบทสัมภาษณ์ ทางทีมข่าวได้พูดคุยกับครูใหญ่ในฐานะสมาชิก “คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่” ถึงเรื่องราวความขัดแย้งล่าสุดในคณะสงฆ์

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

: กรณีการปลดเจ้าคณะจังหวัด จนทำให้คนในจังหวัดเหล่านั้นออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย มีการล่ารายชื่อ มีการสวดมนต์ให้กำลังใจเจ้าคณะฯ ที่ถูกปลด มันสะท้อนว่าการปลดครั้งนี้ไม่ชอบธรรมหรือไม่?

อันนี้ต้องพูดอย่างยิ้มๆ ว่าคณะปฏิสังขรณ์ฯ ไม่ตั้งคำถามกับความชอบธรรม-ไม่ชอบธรรม ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ของการปลดหรือแต่งตั้งพระสงฆ์ในสายปกครองหรือสมณศักดิ์ใดๆ เลย

แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลก เพราะว่าเมื่อระบบมันยังมีอยู่ เหตุการณ์นี้เป็นแค่หนึ่งกรณีศึกษา เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของผลจากระบบที่มันมีอยู่ ของผลจากโครงสร้างอำนาจรัฐเหนือศาสนา ของผลจาก พ.ร.บ.สงฆ์…

ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ก็เมื่อระบบมันถูกเซ็ตไว้ว่าสิ่งอย่างนี้เกิดขึ้นได้ คำถามถามไปที่มหาเถรสมาคม ก็บอกไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่คนชงเรื่อง สำนักพุทธฯ ก็ไม่ใช่คนชงเรื่อง มันก็คงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าข้อความเป็นอย่างไร ถ้าจะถามหาต้นสายปลายเหตุ

ก็คงต้องแสดงความมุทิตาคารวะไปยังท่านเจ้าคณะจังหวัดทั้งสามจังหวัดด้วย ที่ถูกสั่งปลดฟ้าผ่าโดยที่ไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลหรืออะไร

แต่อีกสิ่งหนึ่งก็ต้องขอกราบนมัสการเรียนกับทุกท่านว่า ที่ทุกท่านทำอยู่ การลงรายชื่อกันเป็นแสนเพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการแต่งตั้ง ให้ตรวจสอบเรื่องการปลดการโยกย้าย ผมมองว่าสุดท้ายก็จะจบแค่กรณีนี้ ไม่ถือสาเอาความ ปล่อยวางแล้วให้อภัย กลับคืนมาดำรงตำแหน่ง หรือถ้าไม่ได้กลับมาดำรงตำแหน่ง ก็ไม่ถือสาเอาความ

เมื่อพระราชบัญญัติสงฆ์ฉบับนี้ยังเป็นเช่นนี้ สุดท้ายก็ต้องมีกรณีอื่นๆ เกิดขึ้น เราอาจจะต้องบอกว่าไม่เห็นการปลดไม่หลั่งน้ำตา

ในขณะที่วันนี้มีการปลดการแต่งตั้งที่ไม่เป็นธรรม เหล่าท่านก็ออกมาเรียกร้องกัน แต่ในขณะที่วันที่คณะรัฐประหารตั้งสภานิติบัญญัติฯ ขึ้น แล้วก็มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์ให้เป็นอำนาจรวมศูนย์ ให้เป็นเผด็จการ ในวันนั้น ไม่มีคณะสงฆ์คณะใดออกมาโต้แย้งคัดค้าน

ผมและคณะปฏิสังขรณ์ฯ จึงมองไปที่ตัวระบบมากกว่าตัวเหตุการณ์ การปลดสามเจ้าคณะจังหวัดเป็นแค่เหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง ที่เป็นผลมาจากระบบ

ดังนั้น จึงอยากนมัสการกราบเรียนพระสงฆ์ทุกรูปทุกท่านในประเทศนี้ วันนี้เราอาจจะต้องลุกขึ้นมา นอกจากศึกษาพระธรรมวินัย นอกจากศึกษาอรรถศึกษาธรรมตามครูบาอาจารย์ ศึกษาพุทธวจนะหรือสำนักใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ท่านต้องศึกษาคือพระราชบัญญัติสงฆ์ และโครงสร้างอำนาจรัฐเหนือศาสนา ที่อยู่ในโครงสร้างของอำนาจสงฆ์ด้วย

: หมายความว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่มีการแยกรัฐออกจากศาสนา ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็จะยังคงเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการปลดเจ้าคณะจังหวัด หรือเรื่องการห้ามพระไปเรียนร่วมกับฆราวาส?

ใช่ๆ คือจริงๆ แล้วผมมองว่าพระนิสิตพระนักศึกษาในทุกสถาบัน ทั้งที่ มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) หรือ มมร. (มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย) ที่เขางดเว้นไว้ให้ เราก็อาจจะต้องมาตั้งคำถามว่าทำไมพระสงฆ์จึงไม่สามารถไปเรียนในสถาบันอุดมศึกษาเดียวกับฆราวาสได้ ในหลายสาขาวิชา

พระสงฆ์ที่เรียนศึกษาศาสตร์-ครุศาสตร์อยู่ตอนนี้ถือว่าเรียนวิชาทางโลกหรือเปล่า?…

ผมมองว่าการที่ไม่ให้พระสงฆ์ได้ร่ำเรียนอะไรที่เขาเรียกว่า “ทางโลก” มันคือการพยายามทำให้พระสงฆ์หูตาคับแคบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ง่ายต่อการปกครองในวงการสงฆ์

แล้วถามว่าอนุญาตให้เรียนเฉพาะ “วิชาทางธรรม” เท่านั้น ทางธรรมของใคร? คือหลักสูตรธรรมศึกษา หลักสูตรเปรียญบาลี พระพุทธเจ้าเป็นคนร่างหลักสูตรไหม? หรือรัฐเป็นคนร่างหลักสูตร? สุดท้ายแล้วสิ่งที่อนุญาตก็คือให้เรียนทางโลกนั่นแหละ แต่มันเคลือบด้วยคำว่ามันเป็น “ธรรม” มันเป็น “วิชาทางธรรม”

แต่สุดท้ายคนกำหนดก็คือฆราวาสอยู่ดี ว่าจะต้องเรียนอะไร ออกมาโดยพระราชบัญญัติสงฆ์ ออกมาโดยคำสั่งของรัฐอยู่ดี เป็นคำสั่งของรัฐไม่ใช่เป็นคำสั่งของศาสนจักร ถ้าจะเป็นศาสนจักร ก็เป็นศาสนจักรภายใต้อาณาจักรอยู่ดี

ดังนั้น วันนี้ ผมก็มองว่าคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของมหาเถรสมาคม สักวันหนึ่งจะต้องขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่าการออกคำสั่งแบบนี้ ออกประกาศแบบนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิ์ที่จะใช้เสรีภาพทางการศึกษาเสรีภาพทางศาสนาได้ เพราะฉะนั้น คำสั่งเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่?…

เมื่อก่อนเรามองว่าศาสนา-วัดเป็นพื้นที่ที่มีคุณกับประชาชน เพราะมีคำคำหนึ่งคือ “บวชเรียน” บวชเรียนคือการให้โอกาสทางการศึกษากับลูกชาวบ้านหลานชาวนา ลูกคนยากหลานคนจน ที่ไม่มีทุนไม่มีรอนในการศึกษา สามารถที่จะเข้าไปบวชเพื่อร่ำเพื่อเรียน

เราก็เห็นกันอยู่ว่าอธิบดีหลายท่าน ผอ.หลายคน ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการข้าราชการหลายคน ที่เป็นผู้ดิบผู้ดีเป็นคนดีในวงการราชการ ก็มาจากสายของการบวชเรียนทั้งนั้น

ทำไมเราถึงต้องมาคิดว่าให้พระอยู่แต่ในวัดเท่านั้น? เราทำไมไม่คิดว่าให้วงการศาสนาให้การบวชเรียนผลิตคนที่มีคุณธรรมออกมาสู่งานทางโลกบ้างมิได้เชียวหรือ? ดังนั้น เมื่อบวชเป็นพระต้องเป็นพระไปจนวันตายอย่างนั้นเชียวหรือ?…

ดังนั้น การออกคำสั่งเช่นนี้ จากอำนาจรัฐที่อยู่เหนือศาสนาเช่นนี้ ที่พยายามจะกดพระสงฆ์ ผมขอใช้คำตรงๆ ว่าทำอย่างไรก็ได้ให้โง่ที่สุด ให้เรียนเฉพาะธรรมที่รัฐให้เรียน ไม่ใช่ธรรมที่พระพุทธเจ้าให้เรียนด้วยนะ เขาเลือกมาแล้วว่าจะให้พระเรียนอะไรด้วย ในหลักสูตรที่เขาเลือก

: สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการสงฆ์เป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ด้วยหรือเปล่า?

ผมเคยพูดไว้ชัดเจนว่าวงการสงฆ์นี่แหละการเมืองที่สุดแล้ว การเมืองไปตั้งแต่ในระดับวัด ใครจะเป็นเจ้าอาวาส ใครจะเป็นรองเจ้าอาวาส ใครจะเป็นพระลูกวัด ใครจะเป็นกรรมการวัด นี่คือการเมืองไปแล้ว

มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสข้ามห้วยก็มีนะครับ ไม่ใช่แค่การแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดข้ามห้วย วัดบางวัดเจ้าอาวาสสิ้นลง พระผู้ใหญ่ในจังหวัดในอำเภอก็แต่งตั้งเลขาฯ ใกล้ชิดดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้ คือนั่งกินตำแหน่งแต่ไม่ได้อยู่ที่วัดนี้จริงก็มี หรือเอาพระจากที่อื่นมาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ ชาวบ้านไม่ยอมรับ ชาวบ้านไม่รู้จัก อย่างนี้ก็มี

ทั้งๆ ที่ชาวบ้านก็เล็งไว้แล้วว่าหลวงปู่สิ้นจะให้หลวงตาขึ้น หลวงตาสิ้นจะให้หลวงพ่อขึ้น หลวงพ่อสิ้นให้หลวงพี่ขึ้น มันมีการตรวจสอบและเกื้อกูลกันเองในสังคมชุมชน “บ้าน-วัด-โรงเรียน” อยู่แล้ว “บวร” แบบที่รัฐชอบบอกเรานี่แหละ

ดังนั้น การใช้โครงสร้างแบบสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติสงฆ์ ตามคำสั่งสำนักพุทธฯ ตามคำสั่งมหาเถรสมาคม คือการเมืองมากๆ ซึ่งมากกว่าการเมืองด้วย เพราะ “นักการเมือง” แบบนี้ไม่สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ

การตรวจสอบมันมีกำแพงของความศรัทธากั้นอยู่ กำแพงของศาสนากั้นอยู่ มันมีกำแพงของ “อำนาจรัฐแบบรวมศูนย์” กั้นอยู่ด้วย…