คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย ชีวิตนักการทูตสเปนในช่วงโควิด (ตอนจบ)

 

 

คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย

ชีวิตนักการทูตสเปนในช่วงโควิด (ตอนจบ)

 

“เป้าหมายของผมคือต้องการสำรวจภูมิภาค ได้เรียนรู้ ได้รู้จักคนที่น่าสนใจ มีเวลาให้ตัวเอง มีชีวิตที่เติมเต็ม ซึ่งผมคิดว่าเราต้องเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายสำหรับตัวเอง หากตัวเราไม่บรรลุเป้าหมาย ก็เท่ากับการไม่บรรลุเป้าหมายในอาชีพของเรา ไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่ที่ตนเองทำอยู่”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทยแสดงความคิดเห็น

“ในด้านอาชีพ ผมกำลังทำงานเพื่อเพิ่มพูนความรู้ร่วมกันระหว่างไทยและสเปน รู้สึกได้ว่าเราต่างมีความเข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก แต่เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการขาดความรู้ที่แท้จริงซึ่งกันและกัน”

“ผมและเพื่อนร่วมงานที่สถานทูตพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้แน่ใจว่า กิจกรรมทางวัฒนธรรมหรือธุรกิจใดๆ ที่เราเกี่ยวข้อง จะเป็นโอกาสในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสเปนและทำให้สเปนเป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับคนไทย เมื่อผมหมดวาระการทำงานในประเทศไทย ก็หวังให้ทั้งสองประเทศได้มีความเข้าใจกัน รู้จักกันดีขึ้น และมีความสัมพันธ์ในระดับที่สูงขึ้นกว่าเดิม”

นนทบุรี ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

 

ประสบการณ์สิบปีกับการทำหน้าที่ในประเทศไทย

“ผมได้เรียนรู้ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับสถานการณ์ รวมทั้งการทำงานของผู้ร่วมงานด้วย เรื่องสำคัญคือ ต้องรู้จักการปล่อยวาง ทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง อย่าไปบังคับให้เขาคิดตามเราเสมอไป ลองทำความเข้าใจในปรัชญาเต๋า (Taoism) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า เมื่อมีสถานการณ์ ก็อย่าไปขัดแย้งกับเขา ลองทำตามไป ให้ไหลเหมือนน้ำ อดทน และอย่าพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จงทำตามวิธีการที่มีอยู่ และยอมรับในผลที่เกิดขึ้น”

ปรัชญาเต๋าได้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ใช้วิธีที่สอดคล้องกับวิถีหรือกฎแห่งเต๋าหรือธรรมชาติ ไม่ปรุงแต่งจะเป็นคุณ และยังแนะนำให้ยึดถือน้ำเป็นแบบอย่าง กล่าวคือ ใช้วิธีนุ่มนวลดังน้ำที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามสภาวะแวดล้อม

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

อย่างไรก็ดี แม้ความขัดแย้งเป็นเหตุการณ์โดยธรรมชาติ แต่ผลแห่งความขัดแย้งมิใช่จะมีแต่ทำลาย และทำให้ถอยหลังเท่านั้น หากเรารู้จักใช้และจัดการควบคุมใช้ความขัดแย้งให้เหมาะสมก็จะสามารถทำให้ก่อเกิดพลังสร้างสรรค์และนำไปสู่ความก้าวหน้า เป็นการใช้ความขัดแย้งให้เป็นประโยชน์

“ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่ออ่านแล้วก็ใช้ชีวิตตามนั้น ผมหมายความว่า ให้พยายามวิเคราะห์และทำความเข้าใจ เพราะปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน”

อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

 

อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

“ผมได้เรียนรู้วิธีการดำเนินชีวิตของคนไทยในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง คนไทยมองหาความสมดุลในความสนุกไม่จริงจังกับชีวิตมากจนเกินไป ในแบบที่เข้าใจได้ว่า ต้องเรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย และคนไทยมักมีความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้ออาทร และการดูแลผู้ทุกข์ยาก”

“ผมมาจากวัฒนธรรมที่ตรงกันข้าม เราจึงไม่ได้ทำงานแบบให้เป็นเรื่องง่ายหรือสบาย แต่เราเริ่มคิด ถึงชีวิตหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ เพราะในยุโรปมีคนจำนวนมากที่ไม่ต้องการกลับไปทำงานในสำนักงานและมีหลายคนลาออกจากงาน เพราะจู่ๆ พวกเขาก็ได้คิดว่าชีวิตที่ตึงเครียดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เพราะชีวิตควรมีมากกว่านั้น”

“คนที่ทำงานหนักและทำเป็นระยะเวลานานๆ (work-alcoholics) คนที่วิตกกังวล คนที่เครียดตลอดเวลา เรื่องแบบนี้ควรจบลงได้แล้ว เราจะต้องเข้าสู่สังคมรูปแบบใหม่ อย่างไรก็ตาม ค่านิยมของไทยก็เข้ากันได้ดีกับสังคมรูปแบบใหม่นี้”

เกาะ พี พี ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

“ในประเทศไทย ผมมีโอกาสไปชมสถานที่หลายแห่ง ที่ประทับใจได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งไปมาแล้วสามครั้ง หุบเขาปายที่แม่ฮ่องสอน เขาหลักที่พังงา และนครนายก”

“ก่อนเกิดโควิด-19 ผมมักไปเที่ยวทั่วไทยในช่วงสุดสัปดาห์ มาระยะหลัง ออกจากกรุงเทพฯ ไม่กี่ครั้งในช่วงเวลาสั้นๆ”

“ถ้าไม่ได้เดินทาง ผมก็ชาร์จแบตเตอรี่ให้ตัวเองคือตื่นสายหน่อย อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ออกกำลังกายในฟิตเนส พักผ่อนริมสระ นั่งสมาธิ เพราะผมเป็นชาวพุทธ และการทำสมาธิเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของผม”

“ผมมีพ่อครัวชาวสเปนประจำที่บ้านด้วย เขาทำอาหารได้อร่อยมาก แต่บางครั้งผมกับเพื่อนๆ จะไปตามร้านอาหารดีๆ ส่วนงานอดิเรก คือการอ่านและเขียนหนังสือ เป็นหลัก”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

 

“มีชาวสเปนมากกว่า 1,000 คนอาศัยอยู่อย่างถาวรในประเทศไทย ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวสเปนในศตวรรษที่ 21 ด้วยเหตุผลเดียวกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลก ในด้านชายหาด แหล่งช้อปปิ้ง อาหาร วัฒนธรรม และความเป็นมิตรของคนไทย”

“สำหรับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของเรามีกัน 6 คนซึ่งรวมผมด้วย มีทูตตำรวจ และที่ปรึกษาทางการค้า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีประมาณ 20 คน รวมถึงชาวสเปน เช่น พ่อครัว”

เกาะหมาก  ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

 

เกาะหมาก  ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

 

เกาะหมาก ภาพโดย ท่านทูต Emilio de Miguel Calabia

“เรามีสำนักงานสองแห่ง คือ สถานเอกอัครราชทูต ที่อาคารเลครัชดาคอมเพล็กซ์ ถนนรัชดาภิเษก และสำนักงานการค้าที่อโศก ในอนาคตน่าจะมีการทำงานจากที่บ้าน หรือการทำงานจากนอกสำนักงาน ซึ่งคือการทำงานจากสถานที่ที่ไม่ใช้สำนักงาน ผ่านการสื่อสารทางไกลหรือผ่านทางอินเตอร์เน็ต (teleworking) การเดินทางไปสำนักงานทุกวันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ผมว่าการทำงานที่บ้านได้ประสิทธิผลมาก แถมยังประหยัดเวลาไม่ต้องเดินทางด้วยรถ ผมจึงหวังว่าในอนาคตจะมีส่วนหนึ่งของวัน ส่วนหนึ่งของสัปดาห์สำหรับการทำงานที่บ้าน”

“ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เรามีชีวิตสังคมในกรุงเทพฯ บางครั้งก็มากเกินไป โดยผมอาจมีงานเลี้ยงรับรองหรืออาหารค่ำ ถึง 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ จึงค่อนข้างเหนื่อยเหมือนกัน”

“และเช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ คนสเปนและผมรักฟุตบอล ชาวสเปนหลายคนคิดถึงฟุตบอล ลีก และฟุตบอลสเปนมีแฟนอยู่ในประเทศไทยมากมาย”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

 

เอกอัครราชทูตเดอ มิเกล กาลาเบีย กล่าวคำอำลา

“ผมขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทางการไทย ตั้งแต่ผมเดินทางมาถึงประเทศไทยครั้งที่สามในปี 2017 ผมได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีตลอดมา เรามีความสัมพันธ์อันดีกับกระทรวงการต่างประเทศ และกับหน่วยงานอื่นๆ ของไทย ผมชอบคนไทยตั้งแต่มาที่นี่ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน เพราะคนไทยมีความเป็นมิตร ใจกว้าง มีความเห็นอกเห็นใจ และเคารพผู้อื่นเสมอ”

“ส่วนในวันนี้ ผมมีความสุขที่ได้ต้อนรับคุณ ณ บ้านพักแห่งนี้ แม้เราจะไม่ได้พบกันในงานวันชาติสเปนปีนี้ เพราะจะไม่มีการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง แต่อย่างน้อยเราก็ได้พบกันก่อน การมาประจำประเทศไทยครั้งที่สามนี้นับเป็นเวลาสี่ปีครึ่งอันมหัศจรรย์ เพราะเป็นสี่ปีที่ผมมีความสุขมาก และมั่นใจว่า เมื่อผมจากไป ผมจะกลับมาเยือนเมืองไทยเป็นประจำอย่างแน่นอน”

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

 

ประวัติ

นายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย

เอกอัครราชทูต

ราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

 

การศึกษา : นิติศาสตรบัณฑิต ประเทศสเปน

 

ประสบการณ์การทำงาน

1990-1992 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงยาอุนเด สาธารณรัฐแคเมอรูน

1993-1994 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงเบลเกรด ประเทศยูโกสลาเวีย (ในกลุ่มประเทศที่อดีตเคยรวมตัวกันเป็นยูโกสลาเวีย ปัจจุบันคือประเทศเซอร์เบีย)

1994-1996 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงลาปาซ ประเทศโบลิเวีย

1996-1997 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย

1997-1999 : อัครราชทูตที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย

1999-2000 : หัวหน้าฝ่ายวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

2000-2002 : ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

2002-2005 : กงสุล สถานกงสุลสเปน กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

2005-2008 : เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย

2008-2011 : อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำประเทศสิงคโปร์

2011-2013 : ที่ปรึกษา อธิบดีกรมภูมิภาคเหนือ อเมริกาเหนือ เอเชีย และแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน

2013-2017 : รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และฟิลิปปินส์

26 กันยายน 2017 : เอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำกรุงเทพฯ ราชอาณาจักรไทย เขตอาณาครอบคลุมประเทศ สปป.ลาว (9 กุมภาพันธ์ 2018), เมียนมา (23 กุมภาพันธ์ 2018) และกัมพูชา (26 พฤศจิกายน 2018)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ : The Order of Isabel La Católica, Officer