เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : เมืองสำหรับคนชอบสีเขียว

AFP PHOTO / ROSLAN RAHMAN

เมื่อพูดถึงการไปสิงคโปร์ของคนไทย ก็มักจะเป็นการไปเพื่อธุรกิจหรือช็อปปิ้ง

น้อยคนที่คิดจะไปสิงคโปร์เพื่อไปดูบ้านเมือง เพราะสิงคโปร์ไม่มีมิติทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น อิตาลี อังกฤษ

ดังนั้น ด้วยงบประมาณที่พอจะจ่ายได้คนไทยก็คิดถึงการไปญี่ปุ่นเพราะได้ทั้งดูสถานที่ที่สวยงามและประวัติศาสตร์

ในขณะที่คนไทยบางคนก็อาจจะเลือกไปฮ่องกงเพราะเป็นเมืองที่มีความเคลื่อนไหวตื่นเต้นเร้าใจและอาหารอร่อย

สำหรับผู้เขียนก็เช่นกัน การไปสิงคโปร์เริ่มด้วยการไปเพื่อธุรกิจ แล้วก็บวกเพิ่มไปอีกสองวันเพื่อดูบ้านเมือง

ตลอด 3 วันที่อยู่ที่นั่นมีภาพจำที่ติดมาคือความเขียวขจีทุกแห่งหนของเมือง

เริ่มตั้งแต่ออกจากสนามบินจนเข้าเมืองไปยังโรงแรม

และเมื่อมองจากหน้าต่างห้องพักที่อยู่ชั้น 8 ลงมา มองข้ามถนนไปก็เห็นต้นไม้หนาแน่น ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในยุโรปบางแห่ง

นับตั้งแต่สิงคโปร์ได้เอกราชจากอังกฤษเป็นต้นมา และ ลี กวน ยู ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศพร้อมด้วยปริญญาจากเคมบริดจ์ เขาก็ได้วางนโยบายให้เกาะเล็กๆ แห่งนี้ชุ่มชื่นเขียวขจีไปทุกแห่งเพื่อลดความแข็งกระด้างของการเป็นประเทศใหม่ที่ต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่

นับเป็นนโยบายที่มองการณ์ไกล เพราะเมื่อผู้เขียนเดินเล่นอยู่ในใจกลางเมืองที่สองข้างทางเป็นอาคารพาณิชย์รายเรียงก็ยังมีต้นไม้แทรกอยู่

ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าแม้มีรถราขวักไขว่ก็ไม่มีมลพิษมากนัก ต้นไม้นั้นนอกจากมีคุณสมบัติดูดซับมลพิษแล้วยังดูดซับเสียงอีกด้วย ก็ทำให้เมืองเงียบพอสมควร

การปลูกฝังเรื่องรักต้นไม้ได้ทำให้คนสิงคโปร์มีจิตสำนึกที่ดีเรื่องสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น ในโรงแรม มีป้ายตั้งไว้ว่าจะไม่มีการเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวทุกวันเพราะจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำและผงซักฟอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ผู้เขียนยังเห็นถังขยะตั้งอยู่ตามมุมต่างๆ อย่างเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้ไปสำรวจดูว่ามีการทิ้งขยะตามประเภทที่เขียนไว้ข้างถังหรือไม่

 

ภาพจำอย่างที่สองคือความมีระเบียบ การข้ามถนนในสิงคโปร์เป็นเรื่องเบาสบายใจไม่ต้องเสี่ยงชีวิต เพราะทุกคนข้ามทางม้าลาย และข้ามเมื่อมีสัญญาณให้ข้ามได้ ความมีระเบียบก็รวมถึงความสะอาดสบายตา ตามถนนหนทางด้วย ไม่มีขยะกองตรงโน้นตรงนี้

ข้อดีอีกอย่างที่สิงคโปร์คือความปลอดภัยจากคนล้วงกระเป๋า อันนี้เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนคนที่ไปบางประเทศอย่างอิตาลีก็เลยไม่เป็นภาพจำ รู้แต่ว่าเวลาเดินเมื่อเพื่อนบอกว่าไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นก็เบาใจ

ความเขียวก็ดี ความมีระเบียบก็ดี หรือความปลอดภัยก็ดี ไม่ได้เป็นแรงจูงใจให้คนอยากมาเที่ยวสิงคโปร์ แต่เมื่อมาแล้วก็รู้สึกสบายใจ

ภาพจำของผู้เขียนอีกอย่างซึ่งอาจจะไม่ซ้ำกับใครคือเรื่องของพิพิธภัณฑ์ เคยรู้มาก่อนหน้านี้ว่าสมัยรัฐบาลทักษิณได้มีผู้ริเริ่มนำแบบอย่างของการเรียนรู้ในสิงคโปร์มาก่อตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

บุคคลผู้นั้นคือ คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะที่ปรึกษาของรัฐบาลทักษิณในขณะนั้น

และภายใต้องค์การมหาชนนั้นก็ได้แตกแขนงเป็น ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพ (TCDC) Thailand Knowledge Park (TK Park) Museum Siam ซึ่งยังคงยืนหยัดอยู่ ด้วยกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วถึงประโยชน์อันยั่งยืนของมัน

แม้ว่าบางส่วนของการบริหารจัดการจะต้องถูกลดความสำคัญลงไม่ว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือการขาดวิสัยทัศน์ก็ตาม

13603173121360317506l
Thailand Knowledge Park (TK Park) Museum Siam

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปแวะชม National Museum และ National Gallery Singapore แห่งหลังนี้เพิ่งเปิดใหม่สดๆ ร้อนๆ ทั้งสองแห่งเป็นอาคารที่ทำการเก่าของรัฐสมัยอังกฤษปกครอง คงจะสร้างแข็งแรงมาก สร้างเป็นลักษณะโคโลเนียล ยุคเดียวกับหลายอาคารในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ของไทย เขาจึงเก็บภายนอกไว้ แล้วภายในยกเครื่องใหม่ให้ใช้ประโยชน์ได้เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่ National Musuem ซึ่งปกติแสดงความเป็นมาของชาติพันธุ์สิงคโปร์ ก็มีส่วนที่แสดงนิทรรศการเฉพาะกิจ วันที่ไปนั้นโชคดีมาก มีนิทรรศการจากบริติช มิวเซียม นำวัสดุสิ่งของจากหลายทวีปมาแสดงแห่งละไม่กี่ชิ้น แต่ก็เพลิดเพลิน

ที่ดีก็คือสำหรับผู้สูงวัยก็ไม่ต้องเดินนาน เสร็จแล้วร้านอาหารเล็กๆ ไม่กี่โต๊ะก็ได้รับใช้ท้องที่หิวได้พอเหมาะ ที่นี่มีมุมที่ผู้ปกครองพาเด็กเล็กมาเล่นด้วยกัน

สิงคโปร์นับเป็นประเทศแห่งการเรียนรู้ ในห้องแสดงนิทรรศการของบริติชมิวเซียมมีโต๊ะตั้งอยู่ให้เด็กๆ ได้ทำแบบฝึกหัดว่าได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง เรียกว่าเขาหยอดการเรียนรู้ไว้ทุกแห่ง

ส่วนเวลาเด็กเล่นด้วยกันที่ play ground เขาก็บอกว่าเพื่อให้เด็กได้สังคมกัน

ที่ National Gallery Singapore ที่เพิ่งเสร็จ เป็นการนำศาลอุทธรณ์มาแปลงโฉมใหม่ และส่วนหนึ่งยังเก็บห้องแสดงกิจกรรมที่เกี่ยวกับศาลไว้ให้ดู นอกนั้นก็เป็นห้องแสดงนิทรรศการ ห้องกิจกรรมสำหรับเด็ก

นิทรรศการในช่วงที่ผู้เขียนไปเป็นภาพเขียน มีภาพเขียน ปิกัสโซ่ 1 ภาพ ชากาล 2-3 ภาพ นอกนั้นเป็นภาพจากศิลปินอาเซียน ซึ่งไม่เห็นมีของไทย

ไม่ทราบเบื้องลึกเบื้องตื้นว่าเพราะอะไร

 

บิดาของสิงคโปร์ ลี กวน ยู เคยคุยกับเพื่อนผู้นำประเทศด้วยกันว่าที่สิงคโปร์ทำทั้งหมดนี้ได้เพราะเป็นประเทศเล็ก และเขาได้วางกฎหมายไว้เข้มงวด ซึ่งก็คงจะจริง

สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเราเห็นประจักษ์พยานตั้งแต่ยังไม่ก้าวเข้าสิงคโปร์ ซึ่งทุกคนที่เข้าประเทศสิงคโปร์ต้องเห็นจากแบบฟอร์มที่ต้องกรอกก่อนผ่านตรวจคนเข้าเมือง

บนแบบฟอร์มนั้นเขียนตัวแดงไว้เด่นชัดว่า “โทษของผู้กระทำผิดเรื่องนำเข้ายาเสพติดคือประหารชีวิต”

อื้อฮือ