จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : สีหมอก / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

 

สีหมอก

 

ขุนแผนเป็นนักรบผู้มี ‘ตัวช่วย’ หลากหลาย นอกจากดาบฟ้าฟื้น กุมารทอง ยังมีม้าสีหมอกซึ่งมีความเป็นมาไม่ธรรมดาเป็นพาหนะประจำตัว

ก่อนหน้านี้ขุนแผนเสาะหาม้ามาหลายที่ก็ยังไม่ถูกใจ

 

“เที่ยวไปทั่วประเทศเขตขัณฑ์

ไม่ชอบตาหาต่อไปทุกวัน                     ทั้งราชบุรีสุพรรณบุรีเพชรบุรี”

 

หลวงศรีวรข่านรับบัญชาสมเด็จพระพันวษาข้ามน้ำข้ามทะเลไปซื้อม้าที่เมืองเทศ (เมืองแขก) ขณะที่หลวงทรงพลและพันภาณ “ไปตั้งอยู่มฤทถึงครึ่งปี กับไพร่สามสิบสี่ที่ตามไป” หลวงศรีวรข่านรอจนถึงฤดูสำเภาและโดยสารเรือกลับมารวมพลกับคนทั้งสองพร้อมกับบรรดาม้าเทศที่ซื้อมา ในจำนวนนั้นมีแม่ม้าลูกติดรวมอยู่ด้วย

 

“อีเหลืองเมืองมฤทพลอยติดมา                ผัวมันท่านว่าเป็นม้าน้ำ

มีลูกตัวหนึ่งชื่อสีหมอก                         มันออกวันเสาร์ขึ้นเก้าค่ำ

ร้ายกาจหนักหนานัยน์ตาดำ                   เห็นม้าหลวงข้ามน้ำก็ตามมา”

 

สีหมอกคลอดในวันเวลามงคล เกิดจากแม่ม้าเมืองมฤท (มะริด) กับพ่อม้าน้ำ จึงมีลักษณะและนิสัยใจคอผิดแผกลูกม้าทั่วไป แม้ยังเล็กก็พยศเก่ง

ไม่กลัวใคร

 

ระหว่างที่ขบวนม้าหลวงเดินทางผ่านด่านสิงขร กุย ปราณ ชะอำ เรื่อยมาจนถึงเมืองเพชรบุรี ประจวบเหมาะกับขุนแผนกำลังหาม้าอยู่แถวนั้นพอดี ความคึกคะนองของสีหมอกทำเอาแตกตื่นทั้งม้าทั้งคน เนื่องจาก ‘เข้ากัดฟัดขยี้เอาม้าเทศ’ อย่างเอาเป็นเอาตาย วุ่นวายกันไปทั่ว

 

“ฝ่ายหลวงทรงพลแกขัดใจ                         ให้ไพร่ไล่ตีม้าผีเปรต

มันดุร้ายซุกซนเป็นพ้นเพศ                        เข้าที่ไหนไล่เฉดมันออกไป”

 

ถึงจะแสบเกินวัย สีหมอกก็ยังเป็นลูกม้าที่ต้องการแม่ ต่อให้ถูกไล่ตะเพิดกี่ครั้ง ก็ไม่เคยละความพยายาม

 

“สีหมอกจะเข้าไปหาแม่                           ถูกเขาทิ้งวิ่งแร่ออกมาใหม่

พอคนนิ่งวิ่งเข้าไปทันใด                           ต้องเวียนไล่เขาชังกันทั้งกอง”

 

แวบแรกที่ขุนแผนเห็นม้าน้อยจอมเกเรวิ่งพล่านเพราะถูกไล่ไม่ให้เข้าไปหาแม่ ก็รู้สึกถูกชะตากับลีลาพยศร้ายกาจ ฉลาดเป็นกรดของม้าบ้าพลังตัวนี้ที่คอยเอาเถิดเจ้าล่อกับคน รอจังหวะวิ่งถลาไปหาแม่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

 

“เห็นม้าสีหมอกออกลำพอง                        สมปองปรารถนาที่นึกไว้

ลักษณะถูกต้องตำราสิ้น                            ดังองค์อินทร์เทวราชประสาทให้

ท่วงที่แคล่วคล่องว่องไว                            ……………………………………..”

 

ขุนแผนเห็นสีหมอกมีลักษณะดีตรงตามตำราก็อยากได้ไว้ใช้งาน จึงเข้าไปขอซื้อจากหลวงทรงพล

 

“อาชาตัวน้อยของท่านฤๅ                         จะขายซื้อฤๅเอาไว้อย่างไรนั่น

หากกระไรจงได้เมตตากัน                        จะขอปันซื้อม้าสีหมอกไป”

 

เมื่อมีคนขอซื้อม้า แม้หลวงทรงพลอยากจะขายให้พ้นหูพ้นตาเต็มแก่ แต่ก็ยังอุตส่าห์เล่ารายละเอียดที่ผู้ซื้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ

 

“อันม้าสีหมอกตัวนั้นไซร้                          มิใช่ม้าหลวงที่หวงกัน

มันเป็นลูกม้าเมืองมฤท                            ติดแม่มาแต่มฤทนั่น

รูปร่างท่วงทีก็ดีครัน                                แต่ว่ามันซุกซนจนระอา

เผลอไม่ได้ไล่กัดเอาม้าหลวง                      ต้องเป็นห่วงบ่วงใยอยู่หนักหนา”

 

เนื่องจากอยากขายม้าตัวแสบไปไวๆ จึงใช้วิธีนี้

 

“ท่านซื้อเราจะหย่อนผ่อนราคา เอาเถิดสิบห้าตำลึงนาย”

 

ขุนแผนซื้อม้าโดยไม่ต่อสักคำ เพราะ ‘สมมาดปรารถนาที่มุ่งหมาย’ ได้ม้าดีคุ้มเกินราคา จากนั้นก็ตรงไปที่ม้า ร่ายมนต์มหาละลวยใส่ลงในหญ้าแล้วยื่นให้กิน ทันทีที่หญ้าเข้าปาก สีหมอกม้าพยศก็กลายเป็นม้าเชื่อง เชื่อฟังทำตามคำสั่งนาย มนต์นี้ใช้กับคนก็ได้สัตว์ก็ดี เป่าให้ลุ่มหลงรักใคร่

 

“เสกหญ้าด้วยมหาละลวยใหญ่                   เข้าใกล้สีหมอกแล้วบอกว่า

จะไปกับเราก็เข้ามา                                ยื่นหญ้าให้พลันในทันที

สีหมอกรับหญ้ามาเคี้ยวกลืน                     ชมชื่นปรีดิ์เปรมเกษมศรี

ให้มีใจจงรักด้วยภักดี                              ติดขุนแผนเดินรี่ตามหลังไป”

 

ถึงตอนนี้อะไรๆ ก็ง่ายไปหมด สีหมอกยอมขุนแผนทุกอย่าง

 

“ขุนแผนลูบหลังสีหมอกม้า                       ผูกอานผ่านหน้าบังเหียนใส่

ซองหางเชิดชูดูละไม                              ล้วนขลิบทองของใหม่วิไลตา

ขุนแผนเหยียบโกลนขึ้นโผนขี่                    พาชีโผนผกยกหน้า

ควบใหญ่ใส่น้อยรอยเรียบมา                    บ่าวข้าตามหลังสะพรั่งไป”

 

ตอนที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างพานางวันทองหนี ถ้าไม่มีสีหมอกคงยากจะสำเร็จ กว่านางจะขึ้นม้าได้ก็มีข้อตกลงบางประการ สะท้อนถึงความเชื่อของคนไทยสมัยก่อนที่ถือกันว่าสตรีทำให้วิชาอาคมเสื่อมลง

 

“ว่าพลางทางจูงสีหมอกม้า                      เบาะอานพานหน้าดูงามสม

ดังจะปลิวลิ่วลอยไปตามลม                     อย่าปรารมภ์เลยนะเจ้ามาขี่ม้า

ปลอบพลางทางกอดกระซิบบอก               ม้าสีหมอกตัวนี้มีสง่า

เนื้ออ่อนงอนง้อขอษมา                          อย่าให้สีหมอกม้ากระเดื่องใจ

วันทองสองมือประนมมั่น                        พรั่นพรั่นกลัวม้าไม่เข้าใกล้

พี่สีหมอกของน้องอย่าจองภัย                   จะขอขี่พี่ไปทั้งผัวเมีย”

 

อาจารย์ศุภร บุนนาค อธิบายไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“พาหนะที่ใช้ก็ต้องห้ามสำหรับสตรีไปด้วย ม้าสีหมอกของขุนแผนเป็นม้าออกศึกคู่ใจ จึงเสกคาถาอาคมไว้ด้วยแน่นหนา หญ้าที่กินขุนแผนก็เสกให้กินเสมอ เมื่อวันทองจะขี่จึงต้องขอขมาเสียก่อนเพื่อมิให้ครูผู้เป็นเจ้าของเวทมนตร์คาถาโกรธและคาถาเสื่อม”

นางวันทองไม่เคยขี่ม้ามาก่อน ขุนแผนจึงช่วยสร้างความคุ้นเคย

 

“ขุนแผนพานางมาใกล้ม้า                           ลูบหลังอาชาให้เชื่องเสีย”

 

ทั้งยังจับมือนางลูบหลังม้า แม้สีหมอกเลียมือนางอย่างเป็นมิตรตามประสาม้า นางก็ยังหวีดร้องด้วยความตระหนก ขุนแผนตัดพ้อพลางปลอบประโลม

 

“นี่อะไรตกใจไปเปล่าเปล่า                         นิจจาเจ้าช่างไม่เชื่อน้ำใจผัว

โดดขึ้นหลังม้าเถิดอย่ากลัว                        ประคองตัววันทองย่องเหยียบโกลน

นางหวั่นหวั่นครั่นคร้ามไม่ขึ้นได้                  ขุนแผนกดสีหมอกไว้มิให้โผน

ม้าดีฝีเท้าไม่ก้าวโจน                                นางกลัวตัวโอนเข้าแนบชิด

สองมือกอดผัวให้ตัวแน่น                          ขุนแผนยิ้มหยอกศอกสะกิด

เบือนหน้าว่าเจ้าเข้ามาให้ชิด                      ขอจูบนิดหนึ่งแล้วจะรีบไป”

 

ม้าสีหมอกจึงมิได้เป็นเพียงพาหนะ แต่เป็นเสมือนสะพานสานสัมพันธ์ระหว่างขุนแผนกับนางวันทอง ช่วยให้ความรู้สึกห่างเหินห่างหาย กลายเป็นความใกล้ชิดขึ้นมาอีกครั้งในช่วงเวลาสำคัญของคนทั้งสอง

สมเป็นม้าคู่ใจขุนแผนโดยแท้