“นิยม” เข้าพบสมเด็จพระพุฒาจารย์ สอบถามปมมติ มส.ถอด 3 เจ้าคณะจังหวัด

วันที่ 10 ตุลาคม 2564 เมื่อเวลา 11.00 น. ดร.นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร เขต 2 พรรคเพื่อไทย เปิดเผย ว่า ตนได้ไปร่วมถวายภัตตาหารเพล สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยามวรวิหาร และได้เรียนถามถึงกรณีที่มหาเถรสมาคมมีมติถอดถอน เจ้าคณะจังหวัด 3 หวัด คือ พระราชปริยัติสุนทร เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา วัดโสธรวราราม พระธรรมรัตนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี วัดเขียนเขต พระเทพสารเมธี เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ธรรมยุต วัดประชานิยม ไม่ได้มีการตั้งกรรมการสอบมาก่อน ซึ่งเป็นการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการตามกฎมหาเถรสมาคม

ทำให้ลูกศิษย์เกิดความไม่พอใจ ออกมาประท้วง ไม่ยอมรับมติดังกล่าว โดยเฉพาะจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดปทุมธานี ได้ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการ ศาสนาศิลปวัฒนธรรมสภาผู้แทนราษฎร ส่วนลูกศิษย์เจ้าคุณบัวศรี ได้ยื่นฎีกาทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า จะดำเนินอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว ก่อนที่มหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะประชุมในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้ให้ความเห็นว่า ในวันดังกล่าว กรรมการมหาเถรสมาคมไม่ทราบมาก่อนว่า จะมีการถอดถอนเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 รูป และมีการแต่งตั้งใหม่อีก 3 รูป ทุกรูปรับทราบเพียงว่า มีการแต่งตั้ง 30 รูปเท่านั้น ส่วนการถอดถอนและแต่งตั้งใหม่ 3 รูป ต่างก็รับรู้พร้อมกันในการประชุมวันนั้น ดังนั้น เมื่อไม่มีกรรมการมหาเถรสมาคมรูปใดทราบมาก่อน ก็ควรจะทบทวนเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่หากเป็นพระราชดำริ ก็ต้องกลับมาดูในข้อเท็จจริง เป็นรายๆ ไป หรือว่า มีใครมาดำเนินการอะไรในเบื้องต้นสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งถ้ามี ก็ควรจะมีคนรับผิดนะ หากไล่เรียงกันไป

“หลังเข้ากราบนมัสการสมเด็จพระพุฒาจารย์ ตนเห็นว่า ควรให้ความเป็นธรรมกับเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 3 รูป ถูกผิดอย่างไรก็ไม่ควรจะปลดเอาเฉยๆ หากมีการร้องเรียนก็ควรให้ท่านได้แก้ข้อกล่าวหา ใจเขาใจเรา ไม่ใช่ว่าท่านเป็นพระไปคิดเอาเองว่า ท่านปล่อยวางได้ ถูกร้องเรียนไม่ต้องสอบก็ได้ ปลดเลย อย่างนี้ก็ไม่เป็นธรรมกับท่าน ตนยืนยันว่า กฎมหาเถรสมาคมเกี่ยวกับขั้นตอนการถอดถอนพระสังฆาธิการ ยังไม่ได้ยกเลิก เพียงแก้ไขโดยเพิ่มขั้นตอนสุดท้ายเข้ามาเท่านั้น

แต่ไม่ได้ยกเลิกขั้นตอนการสอบ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกัน เมื่อไม่ยกเลิก ก็ยังต้องใช้อยู่ หากจะไม่ใช้ขั้นตอนการสอบ ก็ต้องระบุเอาไว้ในกฎมหาเถรสมาคมว่า “ยกเลิก” ก็ไม่ต้องใช้ แต่กฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ก่อนจะถอดถอน ให้ผู้ปกครองสอบหาความจริงมาตามลำดับ ตั้งแต่เจ้าคณะภาค เจ้าคณะหน จนได้ความชัดเจนตามขั้นตอนของกฎหมายเสียก่อน จึงเสนอให้ มส พิจารณาทุกกรณีไป จากนั้น สมเด็จพระสังฆราชจึงนำขึ้นทูลเกล้าให้ทรงมีพระราชดำริ เป็นขั้นตอนสุดท้าย ตามที่แก้ไขใหม่เพิ่มเข้ามา และขั้นตอนนี้มักถูกนำมาอ้างว่า “เจ้าคณะจังหวัด 3 รูป ถูกปลดเพราะใช้กฎหมายใหม่ แก้ไขแล้ว ไม่ต้องสอบก็ปลดได้” ซึ่งไม่ถูกต้อง

“อย่างไรก็ตาม หากมีการต่อสู้กันทางกฏหมายพิสูจน์แล้ว ปรากฏว่า ผู้ปกครองคณะสงฆ์ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ก็จะเป็นการละเมิดจริยาพระสังฆาธิการอย่างร้ายแรง ตามกฏมหาเถรสมาคม ซึ่งก็อาจต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในฐานะที่พระสังฆาธิการเป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 45 พรบ. คณะสงฆ์ ด้วย” ดร.นิยมกล่าว