ฉัตรสุมาลย์ : การอบรมเรื่องความเป็นผู้นำ

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีจะมีการอบรม 3 วันสำหรับอุบาสิกา ในช่วงเสาร์อาทิตย์ที่มีวันหยุดศุกร์หรือจันทร์ต่อเนื่องกัน เมื่อวันเข้าพรรษาที่เพิ่งผ่านมาเป็นอีกครั้งหนึ่งที่จัดการอบรม 3 วัน โครงการนี้เรียกว่า โครงการพุทธสาวิกา ครั้งที่ 74

พุทธสาวิกา แปลว่า หญิงผู้เข้าไปนั่งใกล้พระพุทธเจ้า หรือพุทธะ ประมาณนั้น

ผู้เขียนเองเป็นคนริเริ่มโครงการนี้ เมื่อ 25 ปีก่อน พอพูดเป็นตัวเลขทีไร ตกใจทุกที มันนานมาแล้วนะ ก็ใช่ซิ การอบรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 74 คิดง่ายๆ ว่า อบรมปีละ ๓ ครั้งโดยเฉลี่ย

เริ่มแรกที่เกิดความคิดเรื่องการอบรมชาวพุทธสตรีนี้ เกิดขึ้นเมื่อมารดาของผู้เขียนอายุ 84 ปกติผู้เขียนก็จะมีของขวัญวันเกิด เป็นการพิมพ์หนังสือธรรมะต่างๆ รวบรวมบทความของท่านบ้าง รวบรวมเรื่องประวัติของพระภิกษุณีบ้าง

แต่ปีนั้น พ.ศ.2535 เริ่มได้คิดแล้วว่า ชาวพุทธในเมืองไทยของเรา เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่ค่อยรู้เรื่องพุทธศาสนาสักเท่าไร

หลายคนที่มาวัด จะมาเล่าเรื่องถูกพระหลอกเวอร์ชั่นต่างๆ เราก็นึกว่า ทำไมถึงเชื่อเขาได้ถึงขนาดนั้น มาถึงข้อสรุปว่า เราไม่มีองค์ความรู้นั่นเอง เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าสอนอะไร

ศาสนาพุทธที่คนไทยรู้จักคลุกเคล้ามาเบ็ดเสร็จกับความเชื่อพื้นบ้านที่มีทั้งผี ทั้งพุทธ ทั้งพราหมณ์ ทำให้ซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อมีภูมิภาคเข้ามาร่วม ในแต่ละภูมิภาคก็มีองค์ความเชื่อในถิ่นนั้นเข้ามาเป็นตัวร่วม แยกพุทธจริงๆ ออกมายากขึ้น

 

ในวันเกิดของมารดาปีนั้น ผู้เขียนจึงเรียนท่านว่า จะเปิดหลักสูตรอบรมพุทธศาสนาเบื้องต้น เพื่อให้ชาวพุทธสตรีมีพื้นที่ปฏิบัติธรรมของตัวเอง ให้ได้ทำความเข้าใจกับคำสอนพุทธศาสนาจริงๆ จะได้รู้จักแยกแยะได้ และไม่ถูกหลอกง่ายๆ

ปีที่เริ่มโครงการนี้ ผู้เขียนก็อธิษฐานว่า หากงานทางพระศาสนาจะไปได้สำเร็จ ขอให้มีคนมาเข้าโครงการอบรม 108 คน สมัครไว้ 111 คน เช้าวันที่ 6 เมษายน เริ่มโครงการ มีสตรีมาเข้าร่วม 108 คนเป๊ะ

หากจะย้อนไปพิจารณาเส้นทางชีวิตของผู้เขียนก็มีเรื่องที่น่าสนใจเช่นนี้ ผู้เขียนเองก็เป็นอุบาสิกานุ่งขาว เหมือนๆ กับคนที่มาอบรมนั่นแหละ จะให้ศีลเขาก็ไม่ได้ เพราะตัวเองก็รับศีล 8 เท่าๆ กัน ตกลงเราใช้อาราธนาศีล 8 พร้อมๆ กัน ก็มีพลังทีเดียวค่ะ เป็นกลุ่มสตรีที่ปรารถนามาทำดีด้วยกัน

หลังจากที่ท่านธัมมนันทาออกบวชแล้ว โครงการนี้ก็ยังดำเนินต่อมาแต่หลวงพี่ท่านทำก็มีคนเข้าประปราย จนมาปีนี้ ท่านธัมมนันทาท่านหวนกลับมาสอนเอง โดยแบ่งหัวข้อว่า ครั้งที่ 73 นั้น เจาะจงสอนเรื่องการตรึกนึกเห็น (Visualization) ครั้งนี้ คือที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้ เป็นครั้งที่ 74 เจาะจงเรื่อง การเป็นผู้นำ

เพิ่งเสร็จไป เมื่อวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2560 นี้เอง

 

ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีนั้น เป็นวัตรผู้หญิงล้วน เวลาที่ท่านธัมมนันทาสอนหลวงพี่ที่อยู่ประจำก็เดินเข้าเดินออก ใครอยากมาฟังก็มา ไม่อยากมาก็ไม่มา คราวนี้ ท่านก็เลยให้เสียค่าสมัคร 100 บาท จะเดินเข้าเดินออกไม่ได้ ถ้าจะมาก็มา และต้องอยู่ให้ครบโครงการ

ท่านที่สมัครมาจากข้างนอกเสียค่าสมัคร 1,000 บาท ไม่มีค่าสอนค่ะเป็นค่าอาหารและที่พักเท่านั้นเอง

กลุ่มนี้มี 18 คน ทั้งฆราวาสและนักบวช สำหรับคนสอน คิดว่าการอบรมปฏิบัติการ ขนาดกลุ่มควรจะประมาณนี้ จะได้ผลเต็มที่ คนสอนก็รู้จักสมาชิกในกลุ่มถ้วนหน้า และสมาชิกก็รู้จักกันเองด้วย

ในการเริ่มต้น ให้จับมือกันเป็นคู่ออกไปคุยกันทำความรู้จักกัน แล้วกลับมาแนะนำคนที่เราพูดคุยด้วย

ตรงนี้ ฝึกทักษะการฟัง และความสามารถที่จะสื่อให้คนอื่นได้รับรู้ข้อมูลที่ตนได้รับการแนะนำคนอื่นนั้น มันเปิดโอกาสให้เราได้ชื่นชมในคุณสมบัติของคนที่เราพูดคุยด้วยได้

แต่ถ้าให้แนะนำตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นสองลักษณะ คนขี้โม้ ก็โม้เรื่องของตัวเองยาวไป คนที่เงียบๆ ก็ไม่แนะนำความดีเด่นของตัวเองเอาเสียเลย

การให้ไปคุยกันมาก่อน จึงเป็นโอกาสให้บุคคลที่สองได้หยิบยก คุณความดี ลักษณะเด่นของเราออกมานำเสนอด้วย

ที่โจทย์ไม่ได้ให้ เพราะต้องการดูความสามารถของผู้เข้าร่วมโครงการ คือไม่ได้บอกทิศทางว่าให้เก็บข้อมูลอย่างไร

ตรงนี้เป็นการฝึกความเป็นผู้นำ นอกเหนือจากข้อมูลพื้นฐาน คือ อายุ การศึกษาแล้ว คนที่มีลักษณะเป็นผู้นำจะถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่องค์กรสนใจและนำไปเป็นข้อมูลการพิจารณาต่อได้

 

ในการนำเสนอของคู่หนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งเป็น ดร. ก็ไม่ทราบว่า เป็น ดร. ทางสายการศึกษาไหน หรือเป็น ดร. หมายถึงเป็นหมอ คำว่า ดร. ที่ใช้กันนั้น มีความหมาย 2 ลักษณะ คือ หมอ หรืออาจจะจบปริญญาเอกทางแขนงใดแขนงหนึ่ง ถ้าเป็นปริญญาเอก ก็ต้องถามต่อว่าเขาทำวิทยานิพนธ์เรื่องใด เพราะนั่นจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขา ปรากฏว่า เราไม่ได้ข้อมูลตรงนี้

แสดงว่าคนฟัง ฟังไม่เป็น ไม่เก็บเกี่ยวข้อมูลที่สำคัญของคู่สนทนา

คู่สนทนาอีกคู่หนึ่งที่น่าสนใจมาก คนแนะนำออกตัวว่า คู่สนทนาใช้ภาษาได้สวยมาก การนำเสนอของตนด้อยค่ากว่าจริง เพราะตนเองไม่สามารถถ่ายทอดการใช้ภาษาได้แบบที่ได้ฟังจากคู่สนทนา

ตรงนี้เป็นตัวอย่างของคนฟังที่ดีมาก ที่ตระหนักในความสามารถของตน และชื่นชมในความสามารถของผู้พูด แต่เมื่อเจ้าตัวตอบยิ่งน่าฟัง เจ้าตัวบอกว่า การที่น้องสามารถเข้าถึงความงามของภาษาได้ก็แสดงว่าน้อง (ผู้ฟัง) มีศักยภาพนั้นอยู่ งดงามจริงๆ

 

ผู้เขียนเองเคยได้มีประสบการณ์ตรงแบบนี้ ครั้งหนึ่ง เมื่อจัดการแสดงรามลีลาที่หอประชุมธรรมศาสตร์เมื่อหลายปีก่อน ช่วงนั้น ผู้เขียนเป็น ผอ.ศูนย์อินเดียศึกษา มธ. ค่ะ ผู้เขียนทำงานอยู่หลังฉาก ได้เฝ้ามองการทำงานของอาจารย์ของคณะแสดงที่มาจากอินเดียใต้ ทำงานกับทีมงานตลอดบ่าย จนถึงเวลาแสดงตอนค่ำ

ประทับใจมากว่า อาจารย์ ซึ่งเป็นผู้กำกับการแสดงทั้งหมดท่านนั่งเฉยๆ คอยให้พรลูกศิษย์แต่ละคนที่ออกไปแสดงหน้าเวที ตั้งแต่ตัวพระราม หนุมาน ฯลฯ ทุกคนจะมาแตะที่เท้าของท่านแล้วเอาไปสัมผัสที่หน้าผาก ท่านเองเพียงเอามือลูบศีรษะ การแสดงทุกฉากเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ต้องมีการตะโกนสั่งการเลย

ผู้เขียนประทับใจท่านมาก เมื่อท่านกลับไปแล้วได้เขียนจดหมายไปเรียนท่านถึงความรู้สึกที่ตัวเองได้รับ

ท่านตอบมาสองประโยคว่า “ถ้าคุณเองไม่มีความงามนั้นในใจ คุณก็จะสัมผัสไม่ได้” ใช่เลยค่ะ

 

เราแบ่งกลุ่มเป็นสามกลุ่ม เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้พูดคุยแสดงความเห็น ช่วยกันในกลุ่ม แล้วนำเสนอ หัวข้อที่ให้คุยกันคือ เราอยากได้ผู้นำอย่างไร

ข้อหนึ่งที่ออกมาเหมือนกันจากทั้งสามกลุ่ม คือ ไม่ชอบเจ้านายที่รับชอบแต่ไม่รับผิด กลุ่มหนึ่งพูดชัดเจนว่า “เอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้คนอื่น” เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะออกมาทั้งสามกลุ่มเหมือนกัน

ในความเป็นผู้นำนั้น เราอาจจะคุยกันได้ในหลายระดับ ถ้าเป็นผู้นำประเทศชาติ ต้องตั้งเป้าหมายให้ไปพ้นจากตัวเอง เป้าหมายเพื่อชาติ เพื่อส่วนรวม ถ้าเป้าหมายไม่สูงส่ง มันจะวนเข้ามาหาตัว ผลประโยชน์ของตัว ของครอบครัวของตัว ของลูกน้องตัว อย่างนี้จะอยู่ได้ไม่นาน

การสร้างฐานเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าฐานสามเหลี่ยมแคบ สามเหลี่ยมจะสูงไม่ได้ การจะนำพาให้สังคมก้าวไกล ฐานต้องกว้าง เพื่อไปได้สูง อะไรคือฐาน

การศึกษา

ประสบการณ์

ฐานการเงิน เศรษฐกิจดี

ที่ต้องควบกันมา คือ จาคะ รู้จักใช้ฐานการเงินให้เป็นประโยชน์ในการเสียสละเพื่อส่วนรวม ถ้ามีเงินเป็นพันล้าน แทนที่จะไปโคจรอยู่ต่างประเทศ เรากลับมาทำประโยชน์ให้สังคมดีไหม ให้ฐานการศึกษากับประชาชนที่ยากไร้ ดีไหม

ฐาน ธรรมะ เที่ยงธรรม ชอบธรรม และยุติธรรม

คำว่ายุติธรรมนี้น่าสนใจทีเดียว ธรรมะนี้ จะทำให้ความขัดแย้งจบลงได้ คนสองกลุ่มมีความขัดแย้งกันเรื่องผลประโยชน์ ผู้นำสามารถนำธรรมะเข้ามาแก้ทำให้เป็นที่รับได้ทั้งสองฝ่าย เรื่องจึงยุติได้ จึงเรียกว่ายุติธรรม

ในส่วนความสูงของสามเหลี่ยม คือ ความสามารถที่จะนำพาสังคมให้ก้าวไกล เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยความสามารถทั้งการศึกษา ประสบการณ์ ภาษาพระเรียกว่า พาหุสัจจะ เป็นอริยทรัพย์ทีเดียว ผู้นำต้องมีธรรมะ เช่นเดียวกับที่พูดไปแล้วในฐาน และต้องมีวิสัยทัศน์ วิสัยทัศน์ก็มาจากการได้เห็นมาก ได้รู้มากนั่นเอง

อีกตัวหนึ่งคือ บารมี ที่ต้องสั่งสมมาจากหลายๆ ด้าน อาจจะข้ามภพข้ามชาติทีเดียว เรียกว่ามีของเดิมมา

หากเราศึกษาผู้นำของเราที่เราเคยมีมาก็จะเห็นข้อเด่น และข้อด้อย ที่เราจะเอามาพิจารณาศึกษาได้ ผู้นำในสังคมบางครั้งเราก็อาจจะจำใจเลือกไม่ใช่เพราะข้อเด่น แต่จากผู้ที่มีข้อด้อยน้อยที่สุด บริบทการเมืองมันพลิกผันไปได้เรื่อย เพื่อตอกย้ำว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎ

ไม่เที่ยง ไม่อยู่ ไม่มี

ถ้าพูดเป็นภาษาพระ ก็ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ภาวะผู้นำก็ต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งกับธรรมะเช่นนี้

 

ในทางกลับกัน เราแยกกลุ่ม เพื่อให้คุยกันว่า แล้วถ้าเราเป็นหัวหน้า หรือเป็นเจ้านายเอง เราจะอยากได้ลูกน้องแบบไหน

ตรงนี้ สมาชิกในกลุ่มชอบมากว่า ทำให้ได้เห็นภาพทั้งสองฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

ถ้าเราเป็นเจ้านาย ก็ลองคิดแบบลูกน้องบ้าง จะทำให้เรามีข้อคิดที่จะนำไปพัฒนาองค์กรของเราให้สมบูรณ์ขึ้นได้จริงๆ

คราวหน้า พุทธสาวิกาครั้งที่ 75 เดือนสิงหาคม จะมุ่งที่ประเด็นจิตอาสา สนใจสมัครได้ค่ะ 0-3425-8270