‘ทาลิบัน-จีน’ พันธมิตรที่ใม่น่าจะเกิดขึ้นได้/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

‘ทาลิบัน-จีน’

พันธมิตรที่ใม่น่าจะเกิดขึ้นได้

 

อาจทำให้หลายคนแปลกใจกับท่าทีที่เกิดขึ้นหลังการยึดครองอัฟกานิสถานอีกครั้งของกลุ่มทาลิบัน เมื่อสหรัฐทำการถอนทัพออกจากประเทศ

จีนในฐานะมหาอำนาจคู่แข่งของสหรัฐก็เข้ามาเสียบที่ว่างในทันที พร้อมกับแสดงจุดยืนแบบไม่เกรงใจใครว่าสนับสนุนรัฐบาลทาลิบัน

แม้จะเห็นมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ทาลิบันจะมากลับมายึดประเทศโดยสมบูรณ์ แต่ก็ทำให้เห็นผลพวงที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่เอเชียกลาง เมื่อสหรัฐยอมยุติการละลายงบประมาณประเทศกับสงครามที่กินเวลาร่วม 2 ทศวรรษ โดยที่ไม่ได้อะไรกลับมานอกจากความสูญเสีย

การที่จีนจับมือกับกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งอย่างทาลิบัน ถือเป็นการดำเนินแนวนโยบายต่างประเทศ ที่อดสงสัยไม่ได้ที่จะมองความย้อนแย้งของจีน ที่ไปจับมือกลุ่มติดอาวุธมุสลิมสุดโต่ง พร้อมกับที่ตัวเองยังคงปราบปรามกดขี่ชาวมุสลิมอุยกูร์เพราะความหวาดระแวงกระแสแนวคิดสุดโต่งบ่อนทำลายความมั่นคง

อะไรที่ทำให้ทาลิบันและจีน ลงเอยเป็นพันธมิตรแบบนี้ได้?

 

พัฒนาการความร่วมมือค่อยๆ ชัดมากขึ้น เมื่อหวัง หยู ทูตจีนประจำอัฟกานิสถานได้พบกับเมาลวี อับดุล ซาลาม ฮานิฟี รองหัวหน้ากรมการเมืองของทาลิบันในกาตาร์ โดยแสดงความต้องการว่าจีนจะร่วมมือกับทาลิบัน และจะมีการจัดหารือระดับทวิภาคีระหว่างผู้นำจีนและทาลิบัน ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อทาลิบันเป็นรัฐบาลเต็มรูปแบบแล้ว

ด้านโมฮัมหมัด นาอีม โฆษกของทาลิบันกล่าวว่า ทูตจีนต้องการให้การสนับสนุนทางด้านมนุษยธรรมให้กับอัฟกานิสถานที่แตกแยกจากสงคราม

ก่อนหน้านี้ ทั้งหวัง หยู และฮานิฟี เคยได้พบกันมาก่อนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยหารือถึงประเด็นความปลอดภัยของสถานทูตจีนในกรุงคาบูล เช่นเดียวกับประเด็นผลประโยชน์ร่วมกันในอนาคต ซึ่งสถานทูตจีนเป็น 1 ในสถานทูตของบางประเทศไม่ว่าอิหร่าน ปากีสถาน กาตาร์ ที่ยังคงเปิดทำการ ไม่ได้ปิดเหมือนหลายประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกในช่วงความวุ่นวายจากการปิดล้อมและเข้ายึดกรุงคาบูลโดยกลุ่มทาลิบัน

นับเป็นอีกความเคลื่อนไหวที่ย้ำถึงบทบาทของจีนต่ออัฟกานิสถานโดยเฉพาะกลุ่มทาลิบันที่สนับสนุนให้เป็นผู้นำรัฐบาลที่ชอบธรรม แม้จะเข้ายึดครองประเทศด้วยกำลังนักรบติดอาวุธจนเกิดความโกลาหลทั้งประเทศก็ตาม

ไม่นับการแสดงท่าทีคัดค้านสหรัฐที่จะพิจารณาขยับเวลาการถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานตามกำหนดเส้นตายเดิมที่เคยตกลงกับกลุ่มทาลิบัน

เรียกว่า ออกตัวเกินหน้าเกินตาต่อสายตาประชาคมโลกมาก

 

อะไรคือจุดร่วมกันของทั้งจีนและทาลิบัน

อย่างหนึ่งคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยจีนเข้าไปลงทุนให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับอัฟกานิสถาน ในฐานะประเทศที่อยู่บนที่ตั้งตามแผนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (บีอาร์ไอ) ผ่านโครงการฟื้นฟูและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพลังงาน

อีกอย่างคือ ต่อเนื่องจากข้อแรก การที่ทาลิบันยอมให้จีนเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพราะทั้งสองจะไม่แทรกแซงกิจการภายในกันและกัน

โดยจีนต้องการให้ทาลิบันตัดขาดความร่วมมือกับกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพเตอร์กิสถานตะวันออก ที่จีนมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่บ่อนทำลายความมั่นคงในพื้นที่ปกครองตนเองซินเจียง ที่จีนกำลังมีประเด็นฉาวเกี่ยวกับกดขี่ข่มเหงชาวมุสลิมอุยกูร์หลายล้านคน

ฝ่ายทาลิบันก็เช่นเดียวกันที่มองว่าจีนจะไม่ทำตัวเหมือนสหรัฐ และด้วยความเป็นชาติมหาอำนาจคู่แข่งกับสหรัฐและชาติตะวันตก การมีจีน (รวมถึงรัสเซีย) จะเป็นที่พิงหลัง คอยป้องปรามต่างชาติเข้ามาแทรกแซงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในอัฟกานิสถาน ที่กำลังหวนกลับสู่วิธีอิสลามสายเคร่งแบบทาลิบัน

โดยเฉพาะสตรีและเด็กที่จะกลายเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

อย่างไรก็ตาม แม็กนัส บราสเด้น ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียของมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ในอังกฤษ มองความสัมพันธ์ของจีนและทาลิบันว่า พอมองถ้อยแถลงทางการทูตของจีน ก็บ่งชี้ถึงสภาวะพันธมิตรแบบระแวดระวัง แม้เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงการเติบโตที่มากขึ้นของการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์บีอาร์ไอของจีน แต่กระนั้น

ยังคงมีคำถามที่ต้องขบคิดจริงจัง ที่ทาลิบันจะร่วมกับยุทธศาสตร์จีน เพราะเห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ด้านความปลอดภัยในอัฟกานิสถาน จะขัดขวางความสามารถของจีนในการลงทุน

แม้ทาลิบันจะออกตัวไม่แทรกแซงกิจการภายในของจีน แต่ยังคงมีเครื่องหมายคำถามสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการบริหารรัฐบาลและความแตกแยกภายในครั้งใหม่ที่เกิดขึ้น

ไปจนถึงการควบคุมกลุ่มติดอาวุธสุดโต่งที่เป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงจีน

นอกจากนี้ ยังมีกระแสต่อต้านรัฐบาลทาลิบันทั้งผ่านการประท้วงตามท้องถนนและการจับอาวุธต่อต้านทาลิบัน การที่ชาวจีนตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธในปากีสถาน สิ่งเหล่านี้ สามารถเอามาเปรียบเทียบเพื่อประเมินได้ว่า การคิดจะเป็นพันธมิตรกับทาลิบัน จีนต้องคิดให้ละเอียดมากกว่านี้

ส่วนปราบดา ปารัคคาล นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ มองว่า การเข้าครอบครองอัฟกานิสถานโดยทาลิบัน จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับจีน

เพราะแม้ทั้งสองจะมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยแลกกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน

แต่จีนยังต้องเสี่ยงกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน หรือต่อผลประโยชน์ของจีนในต่างแดนซึ่งเสี่ยงถูกโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มทาลิบัน อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยกลุ่มติดอาวุธเทรีค-เอ-ทาลิบัน ปากีสถาน เข้าโจมตีรถบัสและสังหารชาวจีน 9 คน ซึ่งเป็นคนงานในโครงการเขื่อนโคชินสถาน-ดาซูที่จีนเข้าไปลงทุน

ต่อมาจีนได้แสดงความกังวลว่าอัฟกานิสถานจะเป็นสวรรค์พักพิงให้กับกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทาลิบัน

นี่คือสิ่งที่จีนต้องเผชิญ เมื่อหวังลงทุนที่ผลตอบแทนสูง ก็ต้องพร้อมรับกับความเสี่ยงที่สูงตามมาด้วยเช่นกัน