เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : ‘เสียงก้องจากโรงเรียนเชิงเขา’

 

 

‘เสียงก้องจากโรงเรียนเชิงเขา’

 

ยุควิกฤตโคหวิด ทุกเรื่องดูจะเป็นเรื่องพิเศษไปหมด สมวาทะว่า “วิถีใหม่” จริงๆ

เช่น เรียน “ออนไลน์” รอเรียน “ออนไซต์” เป็นต้น เพื่อนชาวดอยแถวแม่สอดเมืองตากบอกว่า ของเขามีแต่ “ออนดอย” ไม่มีออนอื่นออนใดเลย

สองสามวันนี้เพื่อนส่งหนังสือแบบเรียนมัธยมต้นเล่มบางๆ เป็นรวมเรื่องสั้นแปลจากความเรียงของเด็กนักเรียนชาวญี่ปุ่นอายุราว 14-15 ปี เป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการไทย เมื่อปี พ.ศ.2522 มาให้

หนังสือเล่มนี้ชื่อ “เสียงก้องจากโรงเรียนเชิงเขา” แปลเป็นภาษาไทยโดย ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา จากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ชื่อ “Echoes from a Mountain School” ซึ่ง น.ส.เจเนเวียฟ คอล์ฟิลด์ กับ น.ส.มิชิโกะ คิมูรา แปลจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น

“…อันนายไซกิโย มูซากุ ได้รวบรวมเรียงความของเด็กญี่ปุ่น ซึ่งเขียนแสดงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ตลอดจนการแก้ไขอุปสรรคต่างๆ ให้ลุล่วงไป…”

เหมือนจะเป็นต้นแบบให้นักเรียนไทยเรากำหนดหัวข้อเรียงความ เช่น “โรงเรียนของฉัน” หรือ “หมู่บ้านของฉัน” หาไม่ก็ “อนาคตฉันอยากเป็นอะไร” ดังนี้ เป็นต้น

เรื่องราวจากเรียงความเหล่านี้ เกิดสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งขณะนั้นญี่ปุ่นแพ้สงครามยับเยิน

ลองอ่านเรื่องแรก ชื่อ “ฝน” แต่งโดยเด็กหญิงยูริโกะ ซาโตะ อายุ 15 ปี สั้นๆ ง่ายๆ ดังนี้

 

“เราเหนื่อยหอบ ขณะที่ปีนภูเขาชันๆ ขึ้นไปยังที่นาของเรา พี่ชายเดินนำหน้า หาบถังใส่ปุ๋ยคอก และหอบเครื่องมือไถนาไว้ในวงแขน ฉันหิ้วถุงสองใบ ใส่หัวมันที่จะเอาไปปลูกเมื่อเราทำดินเรียบร้อยแล้ว น้องชายเดินรั้งท้ายสะพายห่อปุ๋ยวิทยาศาสตร์ไว้บนหลัง

“พอไปถึงที่นา เราทิ้งสัมภาระลง แล้วยืนนิ่งๆ อยู่ครู่หนึ่ง ที่นาแปลงนี้หญ้าขึ้นรกเต็มไปหมด พอน้องถอนหญ้าที่แข็งและเหนียวขึ้น ฉันก็คราดเอาหญ้าออกทันที และพี่ก็ลงมือไถ เราทำงานกันเงียบๆ

“‘ร้อนจริง’ ฉันพูด ยืดตัวขึ้นตรง รู้สึกปวดหลังและเพลียเต็มที ฉันมองไปที่ภูเขา เห็นฝนตกลงมาเป็นสาย กำลังเคลื่อนที่มาทางเรา

“‘ดูฝนโน่นแน่ะ มาจากภูเขาโน่น’ ฉันร้อง พี่กับน้องยืดตัวขึ้นดู ฝนก็เคลื่อนที่เรื่อยมา

“‘เดี๋ยวก็หยุด’ พี่ว่า พลางจัดแจงสวมเสื้อฝนที่ทำด้วยฟาง น้องก็ค่อยๆ ดึงเสื้อคลุมของแกออกมาอย่างช้าๆ ฉันจึงหยิบเสื้อของฉันขึ้นมาบ้าง นัยน์ตามองไปทางภูเขา ฉันสวมเสื้อกันฝนแล้วดึงปีกหมวกฟางลงมาให้ต่ำ เราลงมือทำงานกันอีก ลมพัดแรง ฝนก็สาดมาปะทะใบหน้าของเรา

“สงสัยจริงๆ ว่าทำไมเราไม่เลิกงานเสียที เราทำงานกลางฝนอย่างนี้ไม่ได้แน่ๆ ฉันคิดอยู่ในใจ น้ำเย็นเฉียบรั่วเข้าไปในหมวก ไหลลงไปถึงคอ ทำให้ฉันหนาวจนสั่น เราทำงานกันต่อไปเรื่อยๆ

“‘ฝนอะไรไม่รู้’ น้องบ่น แหงนหน้าขึ้นมองดูท้องฟ้าพลางสะบัดน้ำฝนที่บ่าของแก

“ตอนนี้น้ำฝนไหลเป็นทางจากปีกหมวกของฉันลงไปตามซอกคอ นี่คงจะตกตลอดวันแต่เราก็ทำงานกันต่อไป

“ในที่สุดพี่ก็พูดขึ้นโดยไม่เงยหน้าว่า ‘ไม่มีประโยชน์ กลับบ้านดีกว่า'”

จบเรื่อง

แค่นี้ แค่นั้น

นึกถึงกลอนบทที่เคยเขียนว่า

ต้องยอมรับยอมรู้ดูห่าฝน

แต่อย่ายอมจำนนกับฝนห่า

บางครั้งอาจต้องถอยคอยฝนซา

แต่บางครั้งต้องกล้าฝ่าฝนซัด!

 

ลองอ่านตอนจบของอีกเรื่อง ชื่อเรื่องว่า “ทำไมจึงต้องค้าตลาดมืด” แต่งโดยเด็กชายอายุ 15 ปี ชื่อโยชิโนริ กาวาอิ

“…ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ชาวนาจะต้องร่วมมือกัน ไม่ยอมให้ข้าราชการกินข้าวที่มีค่าของเราไปเปล่าๆ ข้าราชการเหล่านี้เป็นพวกที่มายุ่งกับชาวนาอยู่เรื่อยๆ เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าเขาไม่ยอมให้เราขายพืชผลที่เราทำมาหาได้ตามชอบใจของเรา เราจะเอาอะไรมาเสียภาษี เสียค่าไฟฟ้า และเราจะส่งเด็กไปเรียนหนังสือได้อย่างไร โรงเรียนก็เรียกเก็บแต่เงินอยู่เรื่อยๆ

“ผมนั่งฟังพวกผู้ใหญ่เขาพูดกัน แล้วเกิดความสงสัยว่า ทำไมพวกผู้ใหญ่จึงไม่ร่วมใจกันร้องทุกข์อย่างเปิดเผยให้รัฐบาลทราบความจริง แทนที่จะมานั่งล้อมรอบเตาไฟแล้วบ่นว่ากันไปต่างๆ นานา ถ้าชาวนาจะต้องหาเงินให้ได้ แต่ต้องทำผิดกฎหมาย ก็จะไม่มีการก้าวหน้า ไม่มีใครเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเลย เราควรจะต้องทำอะไรกันสักอย่างหนึ่งเพื่อแก้ไขสถานการณ์ และออกกฎหมายที่เข้าทีกว่านี้”

จบ

 

คุณไซกิโย มูซากุ ผู้รวบรวมเรียงความของเด็กนักเรียนพิมพ์เป็นเล่ม กล่าวสรุปว่า

“ข้าพเจ้าต้องการให้นักเขียนเหล่านี้เติบโตขึ้นพร้อมๆ กับการรู้จักรับผิดชอบ ให้เข้าใจแจ่มแจ้งถึงสิ่งซึ่งประเทศชาติของเขาจะต้องประสบในอนาคต และให้มีความรักสันติภาพอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าต้องการให้เพื่อนร่วมชาติซึ่งยังไม่เข้าใจถึงสภาพของชาวชนบท ได้ทราบถึงความลำบากที่พวกเรากำลังผจญอยู่ จึงต้องอาศัยปากคำของเยาวชน ซึ่งกำลังตะเกียกตะกายใฝ่หาความรู้เพื่อจะชักนำตนให้เป็นคนมีประโยชน์และจะเป็นผู้ก่อผู้ทำให้หมู่บ้านของเขาเจริญขึ้นนี้”

และเป็นดังที่ผู้แปลคือ ม.ล.รสคนธ์ อิศรเสนา กล่าวไว้ในคำนำประโยคหนึ่งว่า

“ครูประชาบาลคนหนึ่งก็มีส่วนช่วยประเทศชาติของเรามิใช่น้อย”