‘เปรต’ ไตรภูมิพระร่วง คือต้นแบบของเปรตในจินตนาการ

ญาดา อารัมภีร
เปรตหมู่ต่างๆ จากสมุดภาพไตรภูมิ ฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1 (เปรตหนอนเจาะปากอยู่ที่ 2 ทางซ้ายแถวบน)

‘เสฐียรโกเศศ’ หรือพระยาอนุมานราชธน บันทึกไว้ในหนังสือ “เล่าเรื่องในไตรภูมิ” ว่า

“เปรต เป็นคำที่มีปนอยู่ในคำพูดภาษาไทยอยู่เสมอ เมื่อเห็นใครมีรูปร่างสูงมากก็มักเปรียบว่า ‘สูงเหมือนเปรต’ หรือเห็นใครผอมโซมีแต่หนังหุ้มกระดูก ก็เปรียบว่า ‘ผอมเหมือนเปรต’ ‘อดอยากเหมือนเปรต’ ใครตะกละกินอยู่มูมมาม ก็ว่า ‘กินเหมือนเปรต’ ถ้าร้องกรี๊ดๆ เป็นเสียงแหลมดังเข้าแก้วหู ก็ว่า ‘ร้องเหมือนเปรต’ เวลาทำบุญทำทาน เช่น พลี เขามักแบ่งส่วนบุญอุทิศไปให้เปรต

เพราะฉะนั้น ถ้าใครมารบกวนขอส่วนแบ่งสิ่งที่เราได้มาโดยที่ตนไม่มีส่วนที่จะได้ก็พูดว่า ‘เหมือนเปรตขอแบ่งส่วนบุญ’ คำเปรตมักมีคำเข้าคู่พูดเป็นคำซ้อนว่า ‘ผีเปรต’ แล้วยังแถมว่า ‘เศษนรก’ เป็น ‘ผีเปรตเศษนรก’ เข้าอีกด้วย พูดว่า ‘นรกจกเปรต’ ก็มี มีลางคนใช้คำว่า ‘เปรต’ ติดปาก พูดคำสองคำก็ว่าเปรต อันเป็นคำกล่าวที่ไม่สุภาพคล้ายเป็นคำบ่นติเตียนหรือด่าว่า”

ถ้อยคำสำนวนเหล่านี้มีที่มาจากเรื่องราวของเปรตใน “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสมัยสุโขทัย ภาพของเปรตในจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ เป็นผีรูปร่างหน้าตาน่ากลัว สูงโย่งเย่ง คอยาว มือยาว เล็บยาว ตาและจมูกกลวงโบ๋ ปากเล็กเท่ารูเข็ม แต่แลบลิ้นออกมาได้ยาวเฟื้อย ส่งเสียงร้องกรี๊ดๆ แสบแก้วหู กระทบใจผู้ได้ยิน

จิตรกรล้วนวาดภาพเปรตตามความรู้จากไตรภูมิพระร่วง

 

วรรณคดีหลายเรื่องนำเอาเปรตไปเปรียบกับตัวละคร อย่าง “สิงหไตรภพ” ตอนที่จับโกหกนางอองออย ผีป่าได้ นางก็คืนร่างเดิม

“รูปจำแลงแปลงกายก็หายเพศ              
สูงเหมือนเปรตโทงเทงไม่เกรงขาม
ขู่ตะคอกกลอกหน้านัยน์ตาวาม
แลบลิ้นพลามแล้วว่าชะน่ากลัว”

คำว่า ‘โทงเทง’ คือ อาการที่เคลื่อนไปมีลักษณะโย่งเย่งส่ายไปมา ‘สูงเหมือนเปรตโทงเทง” จึงให้ภาพของเปรตรูปร่างผอมสูงเดินโยกเยกไปมาด้วยท่าทางไม่มั่นคง

นอกจากนี้ เปรตยังอยู่ในสภาพโครงกระดูกเดินได้ นุ่งลม ห่มฟ้า ดังที่ “ไตรภูมิพระร่วง” บรรยายว่า

“เปรตลางจำพวกผอมนักหนาเพื่อหาอาหารกินบ่มิได้ แม้นว่าจะขอดเอาเนื้อน้อยหนึ่งก็ดี เลือดหยาดหนึ่งก็ดี บ่มิได้เลย เท่าว่ามีแต่กระดูกแลหนังพอกกระดูกภายนอกอยู่ไส้ หนังท้องนั้นเหี่ยวติดกระดูกสันหลัง แลตานั้นลึกแลกลวงดั่งแสร้งควักเสีย ผมเขานั้นหยุ้งรุ่ยร่ายลงมาปกปากเขา มาตรว่าผ้าร้ายน้อยหนึ่งก็ดีแลจะมีปกกายเขานั้นก็หาบ่มิได้เลย เทียรย่อมเปลือยอยู่ชั่วตน ตัวเขานั้นเหม็นสาบพึงเกลียดนักหนาแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ / คำว่า ‘เพื่อ’ = เพราะ)

 

ลักษณะเปรตเปลือยเปล่าจึงไม่ต่างกับขุนช้างในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ทำเอาคนรับใช้ทำอะไรไม่ถูก

“บ่าวผู้หญิงวิ่งไปอยู่งกงัน
เห็นนายนั้นแก้ผ้ากางขาอยู่
ต่างคนทรุดนั่งบังประตู
ตกตะลึงแลดูไม่เข้ามา
ขุนช้างเห็นข้าไม่มาใกล้
ขัดใจลุกขึ้นทั้งแก้ผ้า
แหงนเถ่อเป้อปังยืนจังกา
ย่างเท้าก้าวมาไม่รู้ตัว
ยายจันงันงกยกมือไหว้
นั่นพ่อจะไปไหนพ่อทูนหัว
ไม่นุ่งผ่อนนุ่งผ้าดูน่ากลัว
ขุนช้างมองดูตัวก็ตกใจ
สองมือปิดขาเหมือนท่าเปรต
ใครมาเทศน์เอาผ้ากูไปไหน”

เปรตมีครบสองเพศ เปรตผู้หญิงในวรรณคดีเรื่องนี้คือ ‘นางวันทอง’ (เมียขุนแผน แม่พระไวย) หลังจากถูกประหารก็เกิดเป็นเปรตอสุรกาย ความที่เป็นห่วงลูกจะยกทัพไปสู้กับพ่อและน้องชาย จึงปรากฏกายเป็นสาวงามกลางป่าในเวลาใกล้จะค่ำ มาดักรอลูกตามทางที่กองทัพจะผ่าน วิสัยชายเจ้าชู้ทำให้พระไวยเกี้ยวแม่บังเกิดเกล้าเป็นพัลวัน แทนตัวเองว่าพี่อย่างนั้นน้องอย่างนี้ ให้สัญญิงสัญญาหวานหู

“กุศลส่งพี่ตรงมาพบน้อง
ขอประคองเคียงกายไม่หน่ายหนี
จะอยู่ด้วยน้องน้อยสักร้อยปี
แก้วพี่อย่าสะทกสะเทินใจ
ปลอบพลางทางย่างขยับเยื้อง
ชายชำเลืองโลมเลียมเข้าไปใกล้”

เมื่อลูกชายออกลายเจ้าชู้ชนิดกู่ไม่กลับ สาวเจ้าจึงดับไฟสวาทของลูกจนมอดด้วยการบอกว่าตนคือใคร

“ชื่อว่าวันทองที่ต้องโทษ
พระองค์ทรงโปรดให้เข่นฆ่า
ตายไปใจผูกด้วยลูกยา
ตามมาจะบอกซึ่งร้ายดี”

เปรตวันทองเตือนลูกชายให้ระวังภัยในการรบ อย่าด่วนหักหาญจะเสียที ฉับพลันก็คืนร่างแท้จริง

“ว่าแล้วเผ่นโผนโจนทะยาน
เสียงสะท้านทั่วท้องพนาวัน
สูญหายกลายกลับไปตามเพศ
เป็นเปรตสูงเยี่ยมเทียมสวรรค์
ไม่มีหัวตัวทะมื่นยืนยัน
เหียนหันหายวับไปกับตา”

ลองนึกภาพเปรตวันทองมีแต่ตัว หัวไม่มี เนื่องจากนางถูกประหารด้วยการฟันคอ

 

“เพชฌฆาตแกว่งดาบวาบวาบมา ย่างเท้าก้าวง่าแล้วฟันลง

ต้องคอนางวันทองขาดสะบั้น ชีวิตวับดับพลันเป็นผุยผง”

โดยมากเปรตมีหัวทั้งนั้น บางตัวหัวอยู่ผิดที่ผิดทางอย่างเปรตใน “พระมาลัยกลอนสวด”

“เปรตหัวด้วนร้อนปวดนัก
เป็นอัปลักษณ์ไร้อัปรีย์
ปากอยู่ทวารน่าบัดสี
มีดวงตาอยู่ในอกตน
มีหัวอยู่ในท้อง
ส่วนจมูกอยู่เบื้องบน
มีรูปนั้นพิกล
ทนวิบากยากนักหนา”

กรณีของนางวันทองแม้ตายแล้วก็ยังไม่หมดเวร ไม่ได้ไปผุดไปเกิด สายใยแม่ลูกผูกพันลึกซึ้ง ถึงเป็นเปรตหัวขาดยังวนเวียนเพราะความห่วงใย

คนที่ตายแล้วเกิดเป็นเปรตเพราะปากเป็นเหตุก็มีไม่น้อย ตั้งแต่ด่าสาดเสียเทเสีย แสดงกิริยาวาจาดูถูกดูหมิ่นซึ่งๆ หน้า พูดจาให้ร้ายป้ายสี โกหกพกลม กล่าวหาพระสงฆ์ ผู้สูงวัยและผู้มีศีลให้ได้รับความเสียหาย “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าไว้ว่า

“ยังมีเปรตจำพวกหนึ่งเล่า แลมีเปลวไฟพุ่งออกแต่อกแลลิ้น แต่ปากแห่งเขาแล้ว แล้วเปลวไฟนั้นลามไหม้ทั้งตนตัวเขาทุกแห่งแล เปรตจำพวกนี้ เมื่อชาติก่อนโพ้นไส้ เขาได้ด่าแลสบประมาทพระสงฆ์เจ้า อันหนึ่งเขากล่าวความมุสาวาทแก่พระสงฆ์ผู้เถ้าผู้แก่ผู้มีศีลด้วยคำอำพรางท่านก็ดี ครั้นตายไปเป็นเปรตอยู่ ด้วยว่าบาปกรรมอันเขาได้ด่าทอไว้ แลกล่าวสบประมาท แลกล่าวใส่ความแก่ท่าน แลพรางท่านผู้มีศีลดังนั้น แลเปลวไฟจึงพุ่งออกแต่อก แต่ปาก แต่ลิ้น แลลามไปไหม้ทั่วตัวเขาดั่งนั้นทุกเมื่อเพื่อบาปกรรมเขาได้กระทำดั่งกล่าวมานี้แล”

ใครมีพฤติกรรมแบบ ‘เปรตปากเสีย’ ชีวิตหลังความตายคงหนีไม่พ้นเปรต