การออกแบบพื้นที่ทางการเกษตร หัวใจสร้างความมั่งคงทางอาหาร

“ชีวิตของดิฉันเปลี่ยนไปมากเพราะว่าการที่ได้น้อมนำตามหลักทฤษฎีใหม่ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล” ทำให้ลดรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว” คำบอกเล่าจากคุณพรรณี ต้อไธสง เกษตรกร-ครัวเรือนต้นแบบ จากโครงการโคก หนอง นา โมเดล จ.ศรีสะเกษ ที่ชีวิตพลิกผันหลังจากเข้าร่วมโครงการ

คุณพรรณีเล่าว่าเดิมทีทำนาปลูกข้าวอย่างเดียว เพราะเป็นอาชีพที่พ่อแม่ทำไว้แต่แรก แต่ลำพังการปลูกข้าวอย่างเดียวรายได้ต่อปีไม่มากพอเพราะว่าการทำนามีต้นทุนสูงมาก  รายได้เราไม่พอกับรายจ่าย ก็เลยต้องคิดปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตรของเรา จนเราได้รู้จักโครงการนี้ที่กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การปรับเปลี่ยนพื้นที่โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาปรับใช้หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหลายๆอย่างตามทฤษฎีใหม่ ปัจจุบันพื้นที่ 8 ไร่ 1 งาน ที่ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ของคุณพรรณีเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและมีรายได้ที่มั่นคงมากขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ได้แบ่งว่าจะมีพื้นที่กักเก็บน้ำ มีพื้นที่สำหรับปลูกผักไม้ผลแล้วก็มีแปลงนาโดยจะเน้นเรื่องของปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ  มีการขุดโคก หนอง แบ่งพื้นที่ทำสวนเกษตรไร่นาผสมผสาน มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ อาทิ มะปราง มะยงชิด กล้วยหอมทอง หมาก พลู ปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว เป็ดไก่ หมูป่า ทำนาข้าว และเพาะชำกล้าไม้จำหน่ายจนประสบความสำเร็จและพื้นที่บ้านของคุณพรรณีถูกใช้เป็นที่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแบ่งปันความรู้จากการปฏิบัติจริงแก่ผู้สนใจ

คุณพรรณีเล่าว่าปัจจุบันชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างมากเพราะว่าการที่ปลูกพืชผสมผสาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากเดิมที่เรามีรายได้แค่การปลูกข้าวปีละครั้ง แต่พอเรานำหลักทฤษฎีใหม่มาใช้เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งรายได้ส่วนของที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนและรายปี ซึ่งสามารถทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวดีขึ้นจากเดิมมากๆ เรียกได้ว่ามีรายได้เพิ่มเป็นเท่าตัว