15 ปีที่ถอยหลัง/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

15 ปีที่ถอยหลัง

 

“เห็บมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความมั่นใจในตัวหมาว่ายังคงสมบูรณ์อ้วนพีมีเลือดเนื้อเหมาะแก่การสูบเกาะสืบไป” คำกล่าว-คนเลี้ยงหมาผู้ไม่ปรากฏนาม

ถ้าย้อนสำรวจทบทวนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะพบว่า ในบางยาม “ผู้นำทางการเมือง” คนหนึ่งก็เหมือนสุนัขอ้วนพีที่มากไปด้วยเห็บเกาะ

ด้วยระบบอุปถัมภ์ การพอกพูนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจะต้องควบคู่ไปกับอำนาจการเมือง รวยจึงกระจุก-จนกระจายทั่วหน้า อย่าลืมสิว่าก่อนจะถึงยุค “ธนกิจการเมือง” นั้น ธนาคารและบริษัทมีชื่อเสียงชั้นแถวหน้าหลายแห่งล้วนต้องมีนายทหารเครือข่ายรัฐประหารนั่งเป็นประธานหรือเป็นกรรมการบริษัท

ไม่มีธุรกิจขนาดใหญ่ที่ไม่ยึดโยงอำนาจการเมือง!

และด้วยระบบอุปถัมภ์เช่นเดียวกันที่ทำให้ “ราชการ” ทั้งระบบต้องสยบจำนนแก่คนที่มีอาวุธมากกว่า “หลักการ” ที่มีธรรมาภิบาล

แม้แต่ระบบยุติธรรมยังสั่นคลอน!

 

แต่…ไม่มีอำนาจใดในโลกหน้า ที่มาแล้วไม่จากไป ในท่ามกลางความทะยานอยากไม่จบสิ้นนั้น ผู้คนทั่วไปอาจเห็นเพียงประกายปะทุหรือรอยปริแยก วัฒนธรรมทางการเมืองแบบนี้แม้จะดูเหมือนมีความเป็นพี่น้องพ้องเพื่อน แต่เมื่อถึงยามที่ต้อง “เลือก” การโค่นทำลายก็จะปรากฏ

จอมพลผิน ชุณหะวัณ ชายชาติทหารคู่บารมีของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัดสินใจลงจากเก้าอี้แล้วส่งต่อตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ให้กับ “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ขึ้นเป็นแทนในปี พ.ศ.2497

วันนั้นคงคาดไม่ถึงว่า “16 กันยายน 2500” จะเป็นวันล้างไพ่!

16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ก่อรัฐประหารขับไล่นายเก่า “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ผู้ไร้อาวุธและกำลังรบจนต้องไปจบชีวิตในต่างแดน พร้อมกันนั้นก็ปั้น “ถนอม-ประภาส” ขึ้นมายืนเคียงค้ำบัลลังก์

จะว่าไป ในวังวนแห่งการช่วงชิงอำนาจการเมืองของไทยนับตั้งแต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม-จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์-จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร-พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไล่เรียงมาจนถึงยุค จปร.5 พล.อ.สุจินดา คราประยูร-จปร.7 พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร-รสช.-คมช.-คสช.นั้น มี “บุคคลเดียว” เท่านั้นที่รอดพ้นจากการถูกโค่นในยามที่ไม่ได้คุมกำลังรบอยู่ในมือ

นั่นคือ ป.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี

 

ความจริงข้อหนึ่งคือ เมื่อ “เป็นใหญ่” แล้วทุกคนมักจะ “ลืมที่มา” ของตัวเอง

ลืมนึกไปว่าที่ยืน ที่นั่ง ที่มีสิ่งต่างๆ ที่ยังมีเกียรติ มีคนก้มหัวให้ นั่นเป็นเพราะเคยใช้กำลังอาวุธหรือเล่ห์เพทุบายฉ้อฉลยึดเอามา

ในปลายสมัย “จอมพล ป.” พยายามจะปรับแต่งโฉมหน้าตัวเองเสียใหม่ด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง พร้อมกับลงเลือกตั้งแล้วฉ้อฉลด้วยกลโกงจนได้ชัยชนะ ไม่นึกไปว่าจะต้องพบจุดจบจาก “คนใกล้ตัว” ที่วางใจให้คุมกำลังรบและอาวุธในวันที่ 16 กันยายน 2500

ถัดมาอีก 6-7 ปี ภายหลังการตายของจอมพลสฤษดิ์ “ถนอม-ประภาส” ที่สฤษดิ์ปั้นมากับมือก็คือผู้ที่สั่งให้ขุดเอาสิ่งที่หมกเหม็นของเจ้านายเก่าขึ้นมาตีแผ่ แล้วก็ตามด้วยคำสั่งยึดทรัพย์นับพันๆ ล้านของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

“ถนอม-ประภาส” ที่สืบอำนาจต่อจาก “สฤษดิ์” ยาวนานก็ลืมตัว เปิดแผลจนเป็นเหตุให้ถูกโค่นในเดือนตุลาคมปี 2516 ต้องสิ้นอำนาจและเดินทางออกนอกประเทศ

 

มีคนเดียวจริงๆ ที่รู้ว่าเวลาใดควรยืนอยู่ ณ จุดใด

พล.อ.เปรมไม่เคยลืมวันที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เดินลงมาจากเก้าอี้ ไม่ลืมบรรดาขุนพลข้างกายทั้ง จปร.5 และ “ยังเติร์ก” จปร.7 ไม่ลืมแม้แต่พรรคการเมืองและนักการเมืองทั้งหลาย จึงสามารถปรับกระบวนท่ารับมือได้อย่างยืดหยุ่นพลิกแพลง

หลังจากลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้ว “เปรม” ก็ยืนอยู่หลังม่าน ได้รู้ ได้เห็นความเป็นไปของการเมืองไทยจวบจนวันสุดท้าย

วันที่ 20 กันยายน 2549 ยังมีภาพของ พล.อ.เปรมปรากฏในขณะ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พร้อมผู้นำเหล่าทัพเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลถวายรายงาน แต่นั่นไม่ใช่วันสุดท้ายที่ “เปรม” ได้เห็นการรัฐประหาร

คราวที่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น “จาตุรนต์ ฉายแสง” เคยชี้เอาไว้ว่า “ไม่ใช่ทำให้ประเทศถอยหลังหนึ่งก้าว หรือถอยหลังชั่วคราวเพื่อจะก้าวไปข้างหน้า แต่เป็นการถอยหลังไปไกลมาก”

พร้อมกับบรรยายให้เห็นภาพความเสียหายว่า เมื่อครั้ง “พฤษภาคม 2535” นั้น อุตส่าห์ต่อสู้กันจนได้ชัยชนะ ได้ปฏิรูปการเมือง ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้าร่วมในการร่างมากที่สุด จนชัดเจนว่า “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง”

แต่ 19 กันยายน 2549 กลับคืนสู่การปกครองแบบผู้ใช้กำลังอาวุธในมือมาปกครอง แทนที่จะใช้ปัญญา แทนที่จะปกครองโดยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้บริหารประเทศ กลับปกครองด้วย “ผู้มีกำลังอาวุธในมือ” ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 5 ประเทศในโลก

“กลับเข้าสู่วงจรหรือที่เรียกว่า วัฏจักรการปกครองโดยคณะบุคคลที่เข้าสู่อำนาจด้วยการยึดอำนาจ”

เป็นจริงตามที่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ฉายภาพให้เห็นในวันนั้น

 

นับตั้งแต่ ” 19 กันยายน 2549″ เป็นต้นมา ประเทศไทยถอยหลังกลับไปไกล แค่คำว่า “ราษฎร” ยังถึงกับแสลงใจผู้ปกครอง จึงเป่าหูปั่นหัวกันจนผู้คนจำนวนหนึ่งเชื่อว่าสังคมแตกแยกวุ่นวาย ได้เวลาต้องทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย สมานฉันท์ ปลุกระดมมวลชนจุดไฟปูทางให้กับ “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557”

คราวนี้ไม่มีการเขินอายกันอีกต่อไป

เขียนกติกาให้ “นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง ให้มี “ส.ว. 250 เสียง” เสมือนพรรคการเมืองใหญ่เอาไว้โหวตเลือก “นายกรัฐมนตรี”

19 กันยายน 2549 ทำเสียของ วันนี้ต้องเขียนบทใหม่ “ให้อยู่ยาวสืบสานภารกิจยุทธศาสตร์ 20 ปี”!?!!