‘อำนาจ’ ที่ไม่เกี่ยวกับ ‘ประเทศ’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

‘อำนาจ’ ที่ไม่เกี่ยวกับ ‘ประเทศ’

 

ทั้งๆ ที่การอภิปรายไม้ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็น 1 ใน 5 ของผู้ที่ถูกสภาผู้แทนราษฎรซักฟอกนั้น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเนื้อหาของการอภิปรายที่ตีแผ่ให้เห็นความล้มเหลวของการบริการจัดการประเทศในแทบทุกด้าน โดยจากการเป็นคณะรัฐมนตรีที่ขาดความรู้ ความสามารถแทบทุกมิติ หรือพูดรวมๆ คือ “ทำงานไม่เป็น” ทำให้เกิดความเสียหายแทบทุกด้านต่อประเทศ และสร้างความทุกข์ร้อนให้ประชาชนอย่างกว้างขวาง

อีกทั้งข้อโจมตีว่าใช้วิกฤตระดับหายนะของชาติ และความเป็นความตายของประชาชนมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง ยังไม่ได้รับการชี้แจงให้เคลียร์ในความรู้สึกของคนที่ได้ติดตาม

ถ้าเอาการซักฟอกของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และการชี้แจงของรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกของประชาชน ทั้งที่แสดงออกผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ และแลกเปลี่ยนกันในแวดวงสนทนาต่างๆ รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี และประกอบด้วยรัฐมนตรีแบบนี้ ควรจะหมดโอกาสในการบริหารจัดการประเทศไปแล้ว

ทว่าเสียงของประชาชนไม่เพียงไม่มีความหมาย เพราะโดยกติกาแล้วผลโหวตของ ส.ส.ในสภาเป็นตัวตัดสินใจว่าอยู่ต่อได้หรือไม่นั้น ทุกคนผ่านฉลุย

ส.ส.ไม่ได้รู้สึกว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย และเปิดโปงอย่างยับเยินและไม่ให้ความรู้สึกว่าชี้แจงได้เคลียร์นั้น จะต้องพ้นไปจากการยึดกุมอำนาจบริหารประเทศ

เสียง ส.ส.ส่วนใหญ่โหวตให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเหล่านั้นเป็นผู้ชนะ

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อเกิดสถานการณ์กบฏภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เป็นหลักในการเสนอชื่อและสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” ปราบกบฏได้สำเร็จ แล้วปลด “รัฐมนตรีที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำกบฏ” ให้พ้นไปจากคณะรัฐมนตรี กลับกลายเป็นเกิดกระแสเชื่อมั่นในอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” ขึ้นมาอย่างสูงยิ่ง

จากผู้นำที่ออกอาการร่อแร่ มีสภาพรอดแหล่มิรอดแหล่ ที่หลัดๆ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” พลิกกลับมาเป็น “ผู้ทรงศักยภาพการนำ” สูงส่งเหนือกว่าใครอื่นทั้งหมดทันที

ลบภาพ “ผู้นำประเทศสู่ความเสื่อมทรุดในทุกด้าน และชีวิตประชาชนสู่ความทุกข์ยากแสนเข็ญอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน” ทันที

ข้อสรุปสำหรับ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าคือ “ผู้นำที่บริหารประเทศล้มเหลว แต่บริหารอำนาจเพื่อให้ตัวเองยิ่งใหญ่ได้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมไม่มีใครเทียม”

 

ดังนั้น เมื่อผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “ความเป็นไปได้ทางการเมืองของ 3 ป.” ออกมาว่า

ร้อยละ 32.06 เห็นว่าเป็นไปได้มาก และร้อยละ 30.53 เห็นว่าค่อนข้างเป็นไปได้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นสมัยสุดท้าย ขณะที่ร้อยละ 22.60 เห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลย ร้อยละ 10.84 บอกว่าไม่ค่อยเป็นไปได้ โดยร้อยละ 3.97 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

จึงน่าสนใจว่าผู้ตอบคำถามรู้สึก พล.อ.ประยุทธ์น้อยไปหรือไม่

เช่นเดียวกับเมื่อถูกถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วร้อยละ 62.82 ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ ร้อยละ 13.97 บอกไม่ค่อยเป็นไปได้ โดยมีแค่ร้อยละ 13.51 ตอบว่าค่อนข้างเป็นไปได้ และร้อยละ 4.66 ตอบว่าเป็นไปได้มาก ขณะที่ร้อยละ 5.04 ไม่ให้คำตอบ

เพราะที่สุดแล้วเมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ 3 ป. (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จะยังคงมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว ร้อยละ 39.47 ตอบว่าค่อนข้างเป็นไปได้ ร้อยละ 20.69 เห็นว่าเป็นไปได้มาก ขณะที่ร้อยละ 23.28 ตอบว่าเป็นไปไม่ได้เลย

ร้อยละ 12.21 ตอบว่าเป็นไปไม่ค่อยได้

 

ผลสำรวจนั้นสะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ หรือร้อยละที่มากกว่า ไม่เอาด้วยแล้วกับรัฐบาลแบบนี้ โดยกระแสหลักที่วัดจากสิ่งที่กระทบต่อชีวิตของตัวเองน่าจะเป็นอย่างไร

ไม่น่าที่ 3 ป.จะไปต่อได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ทว่าที่จะเกิดขึ้นจริง ผู้คนส่วนใหญ่กลับสัมผัสถึงความไม่แน่นอนอยู่ลึกๆ

“บริหารประเทศไม่เป็น” ก็ใช่ แต่ “บริหารอำนาจได้เหนือชั้น” พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ