เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : พื้นฐานอารยธรรม

 

พื้นฐานอารยธรรม

 

ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ นับเป็นเวทีศิลปวัฒนธรรมที่ภาคธุรกิจเอกชนแห่งแรกจัดให้มีเป็นบริการแก่สาธารณชนโดยไม่เสียค่าเข้าชม ยังยืนยงคงอยู่ได้ถึงวันนี้โดยเริ่มเปิดเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2522 รวม 42 ปีแล้ว

ผู้บริหารธนาคารระดับสูงผู้ดำริและดูแลมาต่อเนื่องคือคุณบุญชู โรจนเสถียร ถือเป็นผู้สถาปนางานด้านพื้นฐานอารยธรรมภาคเอกชนโดยแท้

ที่ว่าเป็นพื้นฐานอารยธรรมนั้น ด้วยงานศิลปะด้านการแสดงบนเวทีเป็นองค์รวมของศิลปะหลายสาขา นอกจากนาฏศิลป์แล้วยังมีพร้อมทั้งคีตศิลป์ วรรณศิลป์ วิจิตรศิลป์อยู่ด้วย

งานศิลปะหลากหลายนี้เป็นวิวัฒนาการพื้นฐานไทยจากรากฐานวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่ดำเนินอยู่และพัฒนามาโดยลำดับ จากอดีตดึกดำบรรพ์มาถึงปัจจุบัน หล่อหลอมเป็นรสนิยมอันเป็นลักษณะจำเพาะของสังคม ดังเรียกว่าอัตลักษณ์นั้นเอง

จากรสนิยมจนกลายเป็นสุนทรียรมณ์สากล

นี้คือวิวัฒนาการจากวัฒนธรรมสู่อารยธรรม หรือนัยหนึ่งจากอัตลักษณ์จำเพาะจนกลายเป็นเอกลักษณ์ไทย ที่ทั่วโลกรู้จักและชื่นชม

ดังศิลปะการแสดงโขนและดนตรีไทย

 

รายการแสดงโขนที่เวทีศูนย์สังคีตศิลป์ครั้งหนึ่งชุดนางลอย จากเรื่องรามเกียรต์ ที่นางเบญกายแปลงเป็นนางสีดาตายลอยน้ำมายังที่ทัพพระรามตั้งอยู่ พระรามเห็นก็ตกใจ

ผวาวิ่งประหวั่นจิต

ไม่ทันคิดก็โศกา

กอดแก้วขนิษฐา

ฤดีดิ้นอยู่แดยัน

การแสดงโขนตอนนี้คือฉากที่ตัวแสดงคือพระรามองค์เดียวยืนนิ่งอยู่หน้าเวที ใช้แสงสลัวมีเสียงปี่เดี่ยวเพลงพญาโศก

เท่านี้เท่านั้น

แต่แค่นี้แหละที่ให้ภาพทั้งหมดของทั้งวรรณศิลป์ คือบทกลอนกินใจ คีตศิลป์คือเพลงพญาโศกจากเสียงปี่โหยหวนจับใจ วิจิตรศิลป์จากฉากสีแสงหมองหม่น และลีลานาฏศิลป์ที่สะกดใจโดยไม่ต้องแสดงออกแต่อย่างใด แต่ทั้งหมดนี้ให้อารมณ์ความรู้สึกลึกซึ้งสูงสุดนัก

ภาษาการแสดงสากลเรียกฉากนิ่งสะกดใจนี้ในภาษาฝรั่งเศสว่า ตาโบล วีวอง (Tableau vivant) แปลว่าภาพที่มีชีวิต

นี่ดูจะเป็นครั้งแรกที่ประทับใจกับเพลงพญาโศกเต็มๆ จากเสียงปี่กับภาพทั้งหมดของการแสดงที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสูงสุดของโขนชุดนี้

 

กระบวนวิวัฒนาการของศิลปะทั้งหมดนี้มิได้เกิดขึ้นลอยๆ ดังชื่อชุดนางลอย หากศิลปะทั้งหมดแต่ละสาขานั้นได้ผ่านการพัฒนาผ่านยุคสมัยและการสร้างสรรค์ของศิลปินที่ได้ประมวลเอาประสบการณ์ทั้งหมดจากวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมนี้เอง

จากวัฒนธรรมมาเป็นอารยธรรม

โขนชุดย่อยๆ ที่ปรับมาแสดงบนเวทีและเวลาอันจำกัด โดยเฉพาะเวทีศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพนี้สร้างสรรค์โดยครูเสรี หวังในธรรม ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับแล้ว แต่เป็นอมตะปรมาจารย์ของวงการนาฏศิลป์ไทย

พื้นฐานวัฒนธรรมทำนองนี้น่าสนใจ ด้วยเป็นศิลปะขั้นสูงที่สากลเรียกคลาสสิค ซึ่งทุกชาติในโลกต่างมีเป็นเอกลักษณ์จำเพาะให้มนุษย์ชาติสัมผัสได้ พร้อมศึกษาได้ถึงวิถีชีวิตผู้คนในแต่ละสังคมนั้นๆ

จริงอยู่ศิลปะทั้งหลายย่อมมีวิวัฒนาการไปตามยุคสมัย ดังเช่น โขนมาเป็นโขนสด ละครในละครนอก ลิเก จนถึงหางเครื่องของเพลงลูกทุ่ง

ทั้งหมดล้วนมาจากพื้นฐานอันเป็นเอกลักษณ์เสมือนแม่บทหรือต้นฉบับจำเพาะที่มีอยู่เป็นบาทฐานนั่นเอง

 

เพื่อนศิลปินต่างชาติเคยบอกว่า เวลานี้ผู้คนในโลกกำลังแสวงหาความเป็นต้นฉบับหรือแม่บทที่เป็นพื้นฐานของอารยธรรมความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีอยู่มากมายในสังคมชาติตะวันออกหรือเอเชีย

และโดยเฉพาะประเทศไทย

อันมีอยู่อุดมในแผ่นดิน หากมันมักไม่ถูกทำให้ปรากฏเท่าที่ควร

นี้คือปัญหาใหญ่ของสำนึกในความเป็นชาติของผู้คนในสังคมไทย ที่กำลังแบ่งแยกและแตกร้าว อันอาจกลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมใหม่ซึ่งมิอาจคาดหมายได้ว่าจะพัฒนาไปสู่หายนะหรืออารยะ

ที่จริงเรามีสัญลักษณ์แสดงเป้าหมายสูงสุดของสังคมไว้อยู่แล้วสามเป้าหมายอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน ดังเรียกสามสถาบัน คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่ดูเหมือนจะเป็นดังคาถาทางวาทกรรมท่องจำกันเท่านั้น

เราขาดการขยายความถึงองค์คุณความหมายที่แท้ที่เป็นดังเป้าหมายหลักของทุกสังคมในโลกด้วยซ้ำ นั้นคือ

ชาติ คืออารยธรรม

ศาสนา คือศานติธรรม

พระมหากษัตริย์ คือสามัคคีธรรม

ศานติ คือยอดเจดีย์

อารยะ คือองค์เจดีย์

สามัคคี คือฐานเจดีย์

ขาดบาทฐาน เจดีย์ก็ล้มครืน!

 

ศิลปวัฒนธรรม

วัฒนธรรม คือ วิถีของชีวิต

ของคนคิด คนทำ คนสร้างสรรค์

เพื่อประโยชน์เป็นอยู่รู้แบ่งปัน

ไปตามขั้นครรลองของชีวิต

ศิลปะ นั้นเป็น ความเจนจัด

จากปฏิบัติการงาน การประดิษฐ์

ศิลปวัฒนธรรม จึงนำคิด

ให้รู้ทิศ รู้ทาง รู้ย่างเท้า

พื้นฐานบ้านเรา คือชาวบ้าน

ทำงานไร่นามาก่อนเก่า

เป็นปูเป็นย่า ตายายเรา

ปลูกเหย้า แปลงย่าน เป็นบ้านเมือง

เป็นเมือง เรืองรุ่ง เป็นกรุงไกร

ลูกไทย หลานไทย ได้ฟูเฟื่อง

น้ำใจไมตรี มีนองเนือง

จากเบื้องบรรพกาล ถึงวันนี้

ศิลปวัฒนธรรม ประจำชาติ

เอกราช เอกลักษณ์ เอกศักดิ์ศรี

เป็นคันฉ่อง ส่องความงามและความดี

เป็นโคมฉาย ช่วยชี้ วิถีชน ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์