วิทูทัศนา : ความเป็นชาติ ‘มอญ-เขมร’ (1)/อัญเจียแขฺมร์ / อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์ / อภิญญา ตะวันออก

 

วิทูทัศนา : ความเป็นชาติ ‘มอญ-เขมร’ (1)

 

รำลึกว่า ตลอด 5 ปียุคเสรีประชาธิปไตยกัมพูชา (1975-1979) แบบโค่นระบอบกษัตริย์ทิ้งไป ได้สู่หมวดรุ่มร้อนแสวงหาของนักประวัติวิทูที่มากยุคหนึ่ง ในจำนวนนี้มี ตรึง เงีย เจ้าของแบบเรียนประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่รัฐบาลกัมพูชาใช้มาถึงปัจจุบัน

อย่างน่าสนใจว่า ประเด็นที่อยู่เกริ่นนำในหนังสือดังกล่าวคือ ความเป็นมาของชนชาติมอญ-เขมร และฉันพบว่า มีนักวิทูเขมรถึง 7 คนทีเดียวที่ให้ความสำคัญต่อชาวรามัญ (รวมทั้งอินเดีย) แลตรรกะนี้ยังผนวกศิลาจารึกที่เขียนโดย ศ.จอร์จ เซเดส์ อีกด้วย เซเดส์จึงเป็นวิทูคนที่ 8 แต่เป็นรายแรกของตรึง เงีย

ไม่แน่ใจว่า เวลาที่ผ่านไป หากตรึง เงียยังมีชีวิตอยู่เขามีแนวคิดอย่างไรต่อเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ในฐานะเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญต่อยุคดังกล่าว (สาธารณรัฐเขมร) ฉันตื่นเต้นที่ได้กลับไปอ่านประวัติศาสตร์ชุดนี้ ดังที่เห็นว่า มีลักษณะของการนำมาซึ่งการถกเถียงและเปิดกว้างทางวิชาการมากกว่ายุคใด

แม้ว่าในบางทัศนะนั้น จะมีลักษณะพิสดาร แต่ก็ชวนให้ทัศนา

 

ทัศนะจอร์จ เซเดส์

เซเดส์(*) ให้ความเห็นต่อคำ “เขมร” ว่า มีที่มาจากการผสมกันระหว่าง “กัมพุ” กับ “เมรา” อ้างจากหลักฐานศิลาปักษีจำกรุงในศตวรรษที่ 10 กล่าวถึงฤๅษีตนหนึ่งกับเทพอัปสรนางเมราผู้ได้รับการประทานมาจากพระอิศวรและต่อมาได้ให้กำเนิดกษัตริย์เขมร

ผลงานของเซเดส์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ที่ฮานอย/1944 และได้รับความเห็นพ้องจาก พระปัง ขัด (วิริยบัณฑิตโต) นักบวชเถรวาทผู้เชี่ยวชาญทางสันสกฤตซึ่งเขียนไว้ในนิตยสารพุทธศาสนศึกษา (ปีที่ 1 ฉบับที่ 5, 1957) และผนวกว่า “ทั้งฤๅษีและนางเมราคือที่มาของต้นกำเนิด ‘สูริยวงศ์’ หรือ ‘วงศ์วารสุริยะแห่งอาณาจักรเจนละ'”

ส่วนคำว่า “กัมปูเจีย” นั้น มีรากคำมาจาก “ฤไษ” นามว่า “กัมปู” โดยเมื่อสมรสกับนางเมราและให้กำเนิดสูริยวงศ์แล้ว ด้านหนึ่งก็คือ “ศรีกัมโพ” หรือ “วงศ์วารของกัมปู” โดยหากออกเสียงคำว่า “กัมพุ-เมรา” ช้าๆ ทีละคำ ก็จะนำไปสู่คำว่า “เขมร” นั่นเอง

จากข้ออ้างนี้ ทำให้มีการถอดศัพท์ “เขมรา” (เขมร, แขฺมร์) ในภาษาบาลีที่แปลได้ว่า “ผู้มีความเกษมสันต์” หรือชนชาติแห่งความสุข

แลถอดประวัติอีกว่าการสมรสระหว่างกัมโพกับเมรานำมาซึ่งโอรส 2 องค์ คนหนึ่งนามว่า “กัมพุ(ชะ)” แรกเลย ยังไม่มีผู้เห็นแย้งในศัพท์คำนี้ กระทั่งการมาถึงของชัยวรมันที่ 2 ผู้รวบรวมเจนละบก (ตอนบน) และเจนละน้ำ (ตอนล่าง) จนขึ้นครองราชย์ คำว่า “กัมพุชเทศ” (กัมพุเทศ) จึงปรากฏอยู่ในศิลาจารึก และกล่าวว่าเป็นที่มาของประเทศแห่งกัมพูชา (?) โดยอธิบายคำว่า “แขฺมร์/เขมร” นั้น เกิดจากการผสมกันระหว่าง “กัมพุ” กับ “เมรา”

แต่ทั้งหมดนี้ ฉัตรา เปรมฤดี และปิแอร์ ฟาบริเซียส (Pierre Fabricius) เห็นว่า ขัดแย้งกับนิรุกศาสตร์ทั้งปวง

 

ทัศนะฌึม โกรแซม

ตามบทที่ 1 ซึ่งอารัมภบทถึงต้นกำเนิดชาติพันธุ์เขมรเชิงกายภาพไม่เกี่ยวกับภาษาศาสตร์นั้น อย่างไรก็ตาม ทัศนะบางส่วนของฌึม โกรแซมหนนี้ กลับก่อแรงบันดาลใจแก่ตรึง เงียดังที่เขาอ้างว่า

“..เดิมทีชาวเขมรนั้น อาศัยอยู่บริเวณที่เรียกว่า ‘กัมโพชรัฐ’ หรือตามศัพท์เดิมคือกุเมรุ (กุเมรุรัฐ) อันเป็นชื่อชนชาติเขมรโบราณ มาจากคำว่า ‘สุเมรุ์’ แต่เนื่องจากชาวเขมรทั่วไปกร่นเสียงเป็น ‘กุเมรุ์’ ด้วยเหตุนี้ ในศิลาจารึกเขมรหลักหนึ่ง คำว่า ‘กเมร์’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘แขฺมร์’ หรือ ‘กุเมรุ – กแมร์ – ขแมร์’ นั่นเอง”

โดยนอกจากทัศนะของฌึม โกรแซมแล้ว คำว่า “แขฺมร์” ยังมีที่มาจากคำว่า “กุเมรุ” ซึ่งหมายถึง ชนชาติเขมรและแว่นแคว้นของตน มาแต่ครั้งที่ยังอาศัยอยู่ในอินเดีย (?)

ไม่เท่านั้น ฉัตรา เปรมฤดียังเห็นพ้องกับทัศนะของฌึม โกรแซม จากการที่เขานำไปเผยแพร่วิทยุแห่งชาติตามบทความที่เขาแต่งขึ้นเรื่อง “…เขมรมาจากไหน?” (กุมภาพันธ์, 1973)

 

ทัศนะรส่ สาเรด

นี่คือ นายวิทูผู้นำการค้นคว้าไปเสนอความเห็นต่อสภารัฐธรรมนูญ (16 ธันวาคม 1971) และแก้ไขต่อมา สมาชิกระดับสูงองค์กรวัฒนธรรมท่านนี้ยังระบุไว้บางตอนว่า

“หากดูจากการค้นคว้าที่ข้าพเจ้าได้วิเคราะห์และจำความได้เห็นว่า ในอดีตประเทศเขมรที่เคยถูกเรียกว่า ‘กรุงขอม’ นั้น คือแผ่นดินหรืออนุทวีปสุวรรณภูมิ ซึ่งคำว่า สุวรรณภูมินั้นก็คือ นครขอม หรือ กรุงขอม นั่นเอง”

แต่ความหมายอะไรเล่าที่เกี่ยวกับ “สุวรรณ” หรือทองคำ ซึ่งรส่ สาเรดอ้างว่า รากศัพท์ของคำนี้มีที่มาจาก “กม” ซึ่งแปลว่า “ทอง” และตรงกับคำว่า “ขอม” โดยกษัตริย์ขอม (เขมร) องค์แรกที่ปกครองนครขอมนั้นทรงพระนามว่า “กเมรุราช” ที่แปลว่า “ทอง” เช่นกัน

อีกภาษาไทยคำว่า “พระทอง” ยังพบในภาษาเขมรคือ “พระโทง” ที่พ้องกัน แต่เหตุใด ชนชาติขอมจึงกลายชื่อเป็น “เขมร” และชนชาติขอมนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า ความพยายามจะรักษาไว้ซึ่งปรีชาชาญในกษัตริย์ตั้งแต่รัชสมัยกเมรุราชเป็นต้นมา และมีการเแปลความก่อนหน้านั้นแล้วว่า “กอม” หรือ “ขอม” มีที่มาจากคำว่า “กเมรุ” หรือ “ขเมรุ” ครั้นนานเข้า การกร่นเสียงจึงเป็น “กเมร์” หรือ “แขฺมร์” ในที่สุด

แล้วคำว่า “กัมพูเจีย” เล่า มีที่มาจากที่ใด?

ฉบับตรึง เงียอ้างว่า “พุเจีย/พูเจีย” ที่แปลว่าเผ่าพันธุ์ เมื่อประสมกับคำอื่น เช่น กอม, ขอม, กเมร์ (แขฺมร์) นั้น จึงเกิดเป็น “กัมปูเจีย” (กัมปูเจีย) ง่ายๆ เช่นนั้น

สรุปทัศนะของรส่ สาเรดโดยสังเขป คำว่า “กอม” ที่แปลว่าทองนั้น มีต้นทางและปลายทางจาก กอม > ขอม > กแมรุ > แขฺมรุ > กแมร์ > แขฺมร์ >หรือ กอม + พุเจีย = กัมปูเจีย นั่นแอง

 

ทัศนะเปา ฌิน

เปา ฌินผู้แต่งตำรา “อารยธรรมมอญ-เขมร” (1971) โดยคำว่า “เขมร” ที่เขาจำกัดความนั้นอ้างอิงจาก “กแมร์” ในจารึกอักษรเขมรของสมเด็จพระสังฆราชจวน นาถ ที่แปลว่า “ผู้มีความเกษมสุข”

อันมาจาก “เขมัง-ยสะ-อถติ (?)” ที่ถูกโยงให้เข้ากับ “เขมระ/เขมรา” และแจกลูกมาจาก “ขิ + มะ + ระ”ที่แปลว่า การรักษาประโยชน์ที่ได้รับ (จากความสุขเขษม)

ดังนั้น จะเห็นว่า แขฺมร์/เขมรฉบับสังฆราชจวน นาถ ที่อ้างว่าจากภาษามคธ และตรึง เงีย กล่าวเพิ่มเฉพาะตรง “เขมระ” ว่า สมัยที่ตนเป็นเด็กวัดเคยเห็นคำดังกล่าวจารไว้ใน “ศาตรา” หรือใบลานจำนวนมาก

แต่สำหรับความนิยมในการอ่านสระตามบาลี-สันสกฤตของชาวเขมรจึงทำให้กลายเสียงเป็นสระแอ หรือ “แขฺมร์” นั่นเอง

ส่วนคำว่า “ขอม” นั้น เปา ฌินระบุว่า น่าจะมาจากรากศัพท์ “ขมะ+อ” ซึ่งแปลว่า “อด, อดทน” ตรงกับอารยธรรมพุทธ อันหมายถึงไม่เบียดเบียน

ทั้งนี้ เปา ฌินยังตีความ “กัมปูเจีย” ในส่วนที่เกี่ยวกับพระทอง เปลี่ยนนามประเทศจาก “นครโคกทโลก” เป็น “กัมปูเจียธิบดี” ทั้งนี้ ยังตรงกับความหมายของคำว่า “สุวรรณภูมิ” หรือแผ่นดินทอง เช่นนี้แล้ว คำว่า “กัมปูเจีย” จึงถูกนำมาใช้แทนคำว่า “สุวรรณภูมิ”

ตรงนี้เอง เปา ฌินยังอ้างถึงชนชาติหนึ่งซึ่งตั้งถิ่นอาศัยบริเวณปากแม่น้ำ (?) จนถึงทางตอนใต้ของพม่าคือกลุ่มชาวมอญ

ดังนี้ “สุวรรณภูมิ” ฉบับเขมรจึงรวมถึงอาณาจักรมอญ แต่ที่นักประวัติศาสตร์เขมรมิได้อ้างถึงคืออีกชนชาติหนึ่งซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ของต่างชาติจากภาพเขียนแผนที่ในอดีต

บริเวณปาก “แม่น้ำ” ที่ว่านี้ คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา!

(*) มีความคลุมเครือในชื่อหนังสือเล่มที่อ้างถึง