ธงทอง จันทรางศุ | สีชัง ศรีราชา และ ‘ลิตเติลโตเกียว

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

สีชัง ศรีราชา

และ ‘ลิตเติลโตเกียว’

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วผมเพิ่งพูดไปหยกๆ ในที่แห่งนี้ว่า สำหรับผมแล้วการเรียนวิชาประวัติศาสตร์คือการรู้จักที่มาของตัวเองว่าเราเป็นใครมาจากไหน มีปัจจัยอะไรบ้างที่ปรุงแต่งให้เราเป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ผ่านมาทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวล้วนเป็นบทเรียนสอนใจที่เป็นประโยชน์สำหรับเดินต่อไปในวันข้างหน้าได้ทั้งสิ้น

ถ้าความเข้าใจของผมมาในแนวทางอย่างนี้แล้ว การเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย แต่สามารถบูรณาการหรือผสมรวมกันกับความรู้อื่นๆ ได้อีกมาก เช่น ความรู้ทางภูมิศาสตร์ การทำมาหากิน หรือจะเรียกให้ไพเราะเพราะพริ้งว่าเศรษฐศาสตร์ก็ได้ รวมตลอดถึงเรื่องอื่นอีกมากมาย

ขออนุญาตยกตัวอย่างที่จับต้องได้สักเรื่องสองเรื่องเถิดครับ

 

เมื่อวานนี้ผมมีภารกิจต้องไปบันทึกเทปรายการสั้นๆ เกี่ยวกับความรู้สำหรับใช้ประโยชน์ในกิจการลูกเสือที่ค่ายลูกเสือวชิราวุธ

เห็นอายุมากแล้วตัวอ้วนเป็นลูกฟุตบอลอย่างนี้ผมก็ยังเป็นลูกเสือนะครับ หา!

ใช่แล้วครับทุกท่านอ่านไม่ผิด ถึงออกจากโรงเรียนมานานแล้วแต่ผมก็ยังเป็นลูกเสืออยู่

แถมไม่ใช่ลูกเสือเล็กน้อย หากแต่เป็นลูกเสือใหญ่เสียด้วย ใหญ่ขนาดเป็นกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเลยทีเดียวล่ะครับ หูย!

ไหนๆ จะต้องไปธุระปะปังจนถึงค่ายลูกเสือวชิราวุธซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอศรีราชาแล้ว ผมจึงให้เหตุผลกับตัวเองว่าสมควรจะนอนค้างที่ศรีราชาสักคืนหนึ่งแล้วค่อยกลับบ้านที่กรุงเทพฯ ในวันรุ่งขึ้น

โปรแกรมอย่างนี้ไปคนเดียวก็เหงาหน่อย พอดีว่าเป็นเสาร์-อาทิตย์จึงชวนคนที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วไปเป็นเพื่อนอีกสอง-สามคนพอให้มีสุ้มมีเสียงทุ่มเถียงกันบ้าง

โรงแรมที่พักก็มีถมเถไปครับ แถมยังดีงามทั้งคุณภาพและราคาเสียด้วย

จากห้องพักของผมซึ่งอยู่ชั้นแปดของโรงแรมมองออกไปตรงหน้าเห็นทะเลของอำเภอศรีราชาอยู่ไม่ไกลจากสายตา

มองให้ไกลออกไปอีกหน่อยเห็นเกาะสีชังทอดตัวขวางหน้าอยู่ในทะเล ท้องทะเลระหว่างศรีราชากับสีชังมีเรือใหญ่-น้อยจอดทอดสมออยู่ระเกะระกะทั่วไป

เมื่อเห็นภาพอย่างนี้อยู่ตรงหน้า หัวข้อสนทนาของเราจึงเป็นคำถามว่า สีชังเป็นชัยภูมิสำคัญในทางการค้าของเรามาตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมต้องเป็นสีชัง

ทำไมไม่เป็นเกาะเสม็ด เกาะสมุย หรือเกาะอะไรอื่นอีกตั้งห้าร้อยเกาะในบ้านเราเล่า

 

ข้ออภิปรายของเราจากสมาชิกหลายคนพอสรุปความได้ว่า เกาะสีชังมีความสำคัญและมีความเหมาะสมในทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นเกาะที่อยู่ในอ่าวไทยเกาะแรกถ้าเดินทางออกจากปากน้ำเจ้าพระยาออกมาสู่ทะเลใหญ่

แต่สิ่งที่ทำให้เกาะสีชังมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นพิเศษ น่าจะเนื่องจากปัญหาขนาดของเรือสินค้าและสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาบวกรวมกันเข้า

หมายความว่าอะไรหรือครับ

พวกเราคนไทยรู้กันอยู่แล้วว่า ที่ปากน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นเส้นเลือดสายสำคัญของการคมนาคมขนส่งในเมืองไทย มีสันดอนที่เกิดขึ้นจากการตกตะกอนสะสมของสรรพสิ่งที่ไหลมาตามกระแสน้ำจากทางด้านเหนือน้ำมาตกค้างรวมกัน ทำให้การเดินทางเข้าออกผ่านสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาต้องอาศัยความเชี่ยวชาญพิเศษ และถ้าเป็นในอดีตก็ต้องอาศัยช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลงเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก เวลาน้ำลง ความลึกของน้ำไม่เพียงพอสำหรับให้เหลือเดินทางผ่านได้สบายๆ เรือที่กินน้ำลึกสักหน่อยจึงต้องจอดคอยเวลาน้ำขึ้นอยู่ที่ด้านนอกกลางอ่าวไทย

ต่อเมื่อน้ำขึ้น ระดับน้ำสูงขึ้นเหนือสันดอนมากพอแล้ว นายเรือจึงสามารถเดินเรือจากด้านนอกเข้ามาในปากน้ำได้

มาในยุคสมัยหลังนี่แหละครับ ด้วยความรู้และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เรามีเรือขุดเพื่อทำหน้าที่ขุดลอกสันดอนและสามารถอำนวยความสะดวกให้เรือเข้า-ออกได้โดยไม่ต้องรอน้ำขึ้นน้ำลงอย่างแต่ก่อน

แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องใช้พนักงานเจ้าหน้าที่นำร่องของกรมเจ้าท่า ขึ้นไปช่วยนำทางให้กับเรือขนาดใหญ่ที่จะเข้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาแม้จนทุกวันนี้

 

ถ้าเราย้อนหลังไปไกลจนถึงสมัยอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรือสินค้าที่เป็นเรือต่างประเทศเข้ามาเมืองไทยหรือเป็นเรือของเมืองไทยไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรือที่เดินทางด้วยกำลังแรงธรรมชาติคือกำลังลมอย่างแต่ก่อนหรือเป็นเรือกลไฟที่เกิดมีขึ้นภายหลังก็ตาม มีระวางขับน้ำคือขนาดของเรือแต่ละลำไม่มากนัก เรือเหล่านั้นจึงสามารถเดินทางผ่านเข้าออกปากน้ำเจ้าพระยาโดยไม่มีปัญหาอุปสรรค

จะต้องเสียเวลานิดหน่อยก็ต้องรอน้ำขึ้นน้ำลงอย่างที่ว่ามาแล้วเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ในยุคสมัยที่เรือมีขนาดไม่ใหญ่โต ความจำเป็นต้องแวะพักหรือใช้ประโยชน์จากเกาะสีชังจึงไม่มีมากมายนัก

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวามกุฏวิทยมหาราชเสด็จประพาสทางทะเลและเสด็จพระราชดำเนินผ่านมาที่เกาะสีชัง คนที่อยู่บนเกาะสีชังมีไม่มากเพราะเป็นที่กันดาร ขาดแคลนน้ำจืด พืชผลที่ปลูกก็ต้องเป็นพืชที่ทนแล้งได้ เช่น น้อยหน่า

แต่ถึงอย่างนั้นก็ร่ำลือว่าเป็นที่อากาศดีและชาวเกาะสีชังมีอายุยืนกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

ในหลวงรัชกาลที่สี่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งยายเสม ผู้ใหญ่ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวเกาะสีชังทั้งปวงเป็นท้าวคิรีรักษา

คุณท้าวคนนี้ถึงแก่อนิจกรรมไปนานแล้ว ผมยังเกิดไม่ทันเลยครับ

 

มาถึงยุคสมัยในราวรัชกาลที่ห้า เรือสินค้าและเรือโดยสารมีขนาดใหญ่โตขึ้น เวลานั้นความสามารถและความรู้ที่จะขุดสันดอนอย่างทุกวันนี้ก็ยังไม่ถึงขนาด คราวนี้ก็เกิดปัญหาขึ้นแล้วล่ะครับ นั่นคือเรือที่มีขนาดใหญ่ กินน้ำลึก จะไม่สามารถเดินทางผ่านปากน้ำเจ้าพระยาเข้ามาในแม่น้ำได้ ต้องจอดทอดสมอรอเวลาอยู่ใกล้กันกับเกาะสีชัง แล้วใช้เรือขนาดเล็กที่เดินทางเข้า-ออกปากน้ำผ่านสัญจรได้สะดวก ลำเลียงสินค้าหรือผู้คนไปถ่ายขึ้นเรือใหญ่ที่เกาะสีชัง

ถ้าผมจำไม่ผิด เมื่อครั้งที่ไทยเราจะส่งกองกำลังทหารอาสาไปร่วมรบพร้อมกับชาติสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เราก็ต้องใช้วิธีลำเลียงทหารแบบนี้

คือพาทหารของเราขึ้นเรือของกองทัพเรือซึ่งมีขนาดเล็กหลายลำ ไปส่งขึ้นเรือใหญ่ซึ่งเป็นเรือฝรั่งจัดมารับกองทหารของเราที่ บริเวณใกล้กันกับเกาะสีชัง

ในสมัยรัชกาลที่ห้า เกาะสีชังเจริญถึงขนาดที่ทรงมีพระราชดำริจะสร้างพระราชวังสำหรับเกาะสีชังที่ยังเหลือร่องรอยอยู่ในปัจจุบันเรียกว่า พระจุฑาธุชราชสถาน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผมได้อาศัยไปท่องเที่ยวอยู่บ่อยครั้งนั่นเอง

แต่พระราชวังแห่งนี้ก็ไม่อยู่ยั้งยืนนานเท่าไหร่นัก เพราะหลังเหตุการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งตรงกับปีพุทธศักราช 2434 กองเรือของฝรั่งเศสยกกำลังมาปิดปากอ่าวไทย และนำเรือบุกเข้ามาผ่านแนวต้านทานที่ปากน้ำจดมาจอดรออยู่ที่หน้าสถานกงสุลตรงบางรัก เกาะสีชังจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นพระราชฐานอีกต่อไป

แต่ชาวบ้านก็ยังอยู่กันครึกครื้นเรื่อยมา เพราะทำเลนี้เองยังมีคนไปมาหาสู่และมีลูกเรือต้องแวะมาที่เกาะสีชังอยู่เป็นนิจ

ทำให้เกาะสีชังมีชีวิตชีวามาจนถึงทุกวันนี้

 

กลับมากล่าวถึงฝากฝั่งศรีราชาบ้าง เวลานี้ศรีราชาเจริญขึ้นผิดหูผิดตา เพราะไม่ไกลกันนัก มีนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังเกิดขึ้น และไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้นะครับ เกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว

นิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้เองพาเอาคนญี่ปุ่นเข้ามาอาศัยอยู่ในศรีราชาเป็นจำนวนมาก

ทำให้ความต้องการในเรื่องการกินอยู่แบบชาวญี่ปุ่นเป็นอุปสงค์สำคัญ และมีอุปทานตอบสนอง

ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ผมแวะไปซื้อของเข้าไปกินที่โรงแรมเมื่อวานนี้คุณเจ้าของร้านบอกว่าเปิดมา 28 ปีแล้ว เป็นอาหารรสชาติดีราคามิตรภาพ มีเมนูทั้งภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทยให้เลือกอ่าน

โรงแรมที่พักของผมก็มีชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่ระยะยาวหลายคน ห้องพักมีบริการแบบเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ กล่าวคือ มีจานชามช้อนส้อมเครื่องใช้ไมโครเวฟครบถ้วน มื้อเช้าก็เป็นเบนโตะแบบญี่ปุ่น ไปรับมาจากห้องอาหารข้างล่างมากินในห้องตัวเองถูกต้องตามกฎกติกาทุกประการ

ผมเกิดนึกสนุกอยากหุงข้าวญี่ปุ่นกินเอง ในห้องพักก็มีหม้อหุงข้าวที่มีปุ่มสำหรับหุงข้าวแบบญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ขาดอย่างเดียวคือข้าวญี่ปุ่น

จะไปยากใจอะไรเล่า ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรมก็มีมุมขนาดใหญ่ขายสินค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ข้าวญี่ปุ่นมีให้เลือกทั้งข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในเมืองไทยหรือส่งมาจากเมืองญี่ปุ่น จะเอาหรูหราขนาดข้าวพันธุ์ Koshihikari จากเมือง Nikata ที่เปรียบได้ประมาณอารมณ์ว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกจากทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ดยังมีให้บริการเลยครับ

มีคนมาอยู่มากเข้า คนเจ็บคนป่วยก็ต้องเพิ่มขึ้น นอกจากโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของสภากาชาดไทยที่มีมาไม่น้อยกว่าร้อยปีแล้ว โรงพยาบาลเอกชนหรูหราก็มาตั้งสาขาขึ้นที่นี่หลายโรง บางโรงมีตึกแยกพิเศษสำหรับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ นี่ไปไกลกันถึงขนาดนั้นแล้ว

เห็นไหมครับว่าศรีราชากว่าจะมาถึงวันนี้ต้องเดินผ่านอะไรมาบ้าง

 

ถ้าจะเรียนประวัติศาสตร์ให้สนุกแล้ว เรื่องพัฒนาการของศรีราชาเองก็ดี เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นก็ดี หรือจะเอาสองเรื่องนี้มาผูกโยงกัน ว่าด้วยเรื่องศรีราชากับญี่ปุ่นก็ดี มีเรื่องให้เรียนรู้และเป็นประเด็นให้ขบคิดได้อีกมากและเป็นอย่างที่ผมว่าเสียด้วย คือสามารถเชื่อมโยงไปหาอะไรต่อมิอะไรได้อีกหลายอย่างโดยไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว

แถมยังเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่น่าจะทำให้เด็กศรีราชาที่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ เข้าใจตำแหน่งที่ยืนของตัวเองในปัจจุบันได้ถ่องแท้ และรู้ว่าจะใช้ชีวิตในวันข้างหน้าต่อไปอย่างไรด้วย

แล้วอย่าลืมมองศรีราชากับคนญี่ปุ่นที่เดินอยู่ในศรีราชาให้เกี่ยวข้องโยงใยไปถึงภาพใหญ่ของประเทศ ภาพใหญ่ของโลกด้วยนะครับ ว่าโลกนี้เขาทำมาหากินกันอย่างไร เขาดูแลผลประโยชน์ของประเทศและแสวงหาผลประโยชน์หรือร่วมมือข้ามประเทศกันอย่างไร

กำลังตื่นเต้นกับเรื่องอีอีซีอยู่ในย่านนี้มิใช่หรือ

ผมไม่ทราบจริงๆ และต้องขออภัยด้วยถ้าหากว่าการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์หรือวิชาอื่นใดก็แล้วแต่ในโรงเรียนของอำเภอศรีราชาพูดกันถึงเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ถ้ายังไม่ได้พูดหรือพูดน้อยอยู่ ก็ต้องฝากให้ท่านที่รับผิดชอบเรื่องการจัดการศึกษาได้ช่วยตรึกตรองดูแล้วล่ะครับ

ระหว่างนี้การเดินทางระหว่างประเทศยังไม่สะดวก ถ้าอยากได้กลิ่นอายเมืองญี่ปุ่นนิดหน่อยพอหอมปากหอมคอจะใช้ชีวิตแบบผมในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้นะครับ ซื้ออาหารญี่ปุ่นเข้าไปกินในโรงแรมที่มีบรรยากาศคล้ายๆ เมืองญี่ปุ่น เปิดโทรทัศน์ดูรายการช่องเอ็นเอชเคเสียหน่อย ฟังไม่รู้เรื่องจะเป็นอะไรไป เอาแค่มีเสียงภาษาญี่ปุ่นเข้าหูก็ครึ้มใจแล้ว

ศรีราชาก็กลายเป็นลิตเติลโตเกียวได้เพียงแค่พริบตา