วรศักดิ์ มหัทธโนบล สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (12)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ขัณฑสีมาที่ขุ่นเคือง (ต่อ)

จากพฤติกรรมทรราชดังกล่าวของต่งจว๋อ ต่อมาได้นำมาซึ่งความไม่พอใจให้กับขุนนางกลุ่มหนึ่ง ขุนนางกลุ่มนี้จึงได้ร่วมกันวางแผนกำจัดต่งจว๋อด้วยการลอบสังหาร แผนนี้คงเป็นไปได้ยากหากมิใช่เพราะต่งจว๋อได้เกิดความขัดแย้งกับหลี่ว์ปู้ขึ้นมา

โดยสาเหตุของความขัดแย้งนี้มีที่มาจากต่งจว๋อจับได้ว่าหลี่ว์ปู้ไปมีความสัมพันธ์กับหญิงรับใช้คนหนึ่งของเขา1 ตอนที่จับได้ต่งจว๋อให้บันดาลโทสะจนถึงกับใช้กำลังกับหลี่ว์ปู้ และเป็นเหตุให้หลี่ว์ปู้เก็บความไม่พอใจต่งจว๋อไว้ในใจนับแต่นั้นมา โดยต่อหน้าต่งจว๋อก็ยังคงเป็นนายทหารคนสนิท

แต่เมื่อเกิดแผนสังหารต่งจว๋อขึ้นมา แผนนี้จึงมีแรงจูงใจให้หลี่ว์ปู้เข้าร่วมด้วย

 

แผนสังหารมีขึ้นในวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ค.ศ.192 ขณะที่ต่งจว๋อกำลังโดยสารรถม้าของตนเพื่อไปราชการ ระหว่างทางขุนนางใกล้ชิดคนหนึ่งได้บุกเข้าแทงต่งจว๋อตามแผนที่วางเอาไว้ แต่ต่งจว๋อไหวตัวทันพร้อมกับร้องตะโกนให้หลี่ว์ปู้เข้ามาช่วย ครั้นได้ยินแล้วแทนที่หลี่ว์ปู้จะเข้าช่วยก็กลับแทงต่งจว๋อเสียเอง

ต่งจว๋อจึงถึงแก่ความตายด้วยเหตุนี้

ความตายของต่งจว๋อได้นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเมื่อสิ้นต่งจว๋อก็เท่ากับสิ้นศูนย์กลางอำนาจ และทำให้กลุ่มอำนาจต่างๆ ในขณะนั้นมีอิสระมากขึ้น

แต่อิสระที่มากขึ้นก็ถูกท้าทายด้วยปัญหาเดิมๆ นั่นคือ เมื่อสิ้นศูนย์กลางอำนาจอย่างต่งจว๋อไปแล้ว ขุนนางบางกลุ่มบางคนก็ย่อมคิดตั้งตนเป็นศูนย์กลางขึ้นมา

 

อนึ่ง เรื่องราวเกี่ยวกับต่งจว๋อนี้มีประเด็นที่อภิปรายกันอยู่ประเด็นหนึ่งคือ พฤติกรรมที่ดูหยาบกระด้างและโหดร้ายอำมหิตผิดกับคนทั่วไป เกี่ยวกับประเด็นนี้เมื่อดูจากประวัติของเขาที่มีอยู่ในบันทึกแล้วพบว่า ต่งจว๋อเกิดที่เมืองหลินเถา ปัจจุบันคืออำเภอหมิน (หมินเซี่ยน) ของมณฑลกานซู่ ถิ่นที่เขาเกิดนี้เป็นที่อยู่อาศัยของชนชาติเชียงเป็นส่วนใหญ่ จากสภาพแวดล้อมนี้ทำให้ต่งจว๋อใช้ชีวิตวัยรุ่นขลุกอยู่กับชนชาตินี้

กล่าวกันว่า ต่งจว๋อชอบขี่ม้าและยิงธนูแบบอัศวินตั้งแต่นั้น และมีเพื่อนสนิทที่เป็นชนชาติเชียงที่กล้าหาญชาญชัยอยู่ไม่น้อย

ตราบจนโตเป็นหนุ่มจึงได้กลับมายังบ้านเกิดแล้วทำการเกษตร จากอาชีพเกษตรกรนี้ทำให้เขามีความสามารถในการใช้ของมีคมโดยบังเอิญ ความสามารถในเรื่องนี้ปรากฏอยู่ในประวัติที่คลุมเครือของเขาในตอนหนึ่งเมื่อเขาพูดว่า “จะฟันกษัตริย์ดุจตัดต้นไม้”

ภูมิหลังเช่นนี้ของต่งจว๋อจึงมีผู้วิเคราะห์ว่า สิ่งที่เขาทำไปที่ดูค่อนข้างจะป่าเถื่อนหลังจากมีอำนาจนั้น บางทีอาจมาจากประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กก็ได้

 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุความตายของต่งจว๋อดังกล่าว แทนที่สถานการณ์จะดีขึ้นก็กลับเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆ ขึ้นมา ความขัดแย้งนี้แสดงตนไปในสองทางด้วยกัน ทางหนึ่ง บรรดาผู้นำมณฑลต่างๆ ต่างหันมาช่วงชิงการนำกันเอง ในทางนี้มีทั้งที่ขัดแย้งกันภายในมณฑลนั้นๆ กับที่ขัดแย้งกันระหว่างมณฑล

อีกทางหนึ่ง ผู้นำที่ช่วงชิงการนำกันนี้ยังคงแสวงหาความชอบธรรมให้แก่ตนเองโดยผ่านองค์จักรพรรดิ ในทางนี้มีทั้งผู้นำที่พยายามแย่งยึดเอาจักรพรรดิมาไว้ในความควบคุมของตน (ดังที่ต่งจว๋อทำ) กับที่พยายามตั้งตนหรือผู้อื่นเป็นจักรพรรดิแทน ถึงแม้ฮั่นเสี้ยนตี้จะยังคงมีตัวตนอยู่ก็ตาม แต่ผู้นำในกลุ่มหลังนี้ก็อ้างว่าฮั่นเสี้ยนตี้ไม่มีอำนาจที่แท้จริง

เวลานั้นฮั่นเสี้ยนตี้ซึ่งยังทรงพำนักอยู่ที่ฉางอาน และตกอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมและวังวนของความขัดแย้งข้างต้น กล่าวเฉพาะในฉางอานก็มีความขัดแย้งกันระหว่างขุนนางด้วยกันเอง ส่วนนอกฉางอานออกไปก็ไม่ต่างกัน เพราะนอกจากบรรดาผู้นำมณฑลหรือเมืองต่างๆ จะขัดแย้งกันเองแล้ว ผู้นำบางคนในบางพื้นที่ก็ยังต้องสู้รบกับขบวนการโพกผ้าเหลืองและสำนักเต้าข้าวสารห้าโต่วอีกด้วย

และทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้ผู้นำที่โดดเด่นที่สุดที่มาแทนที่ต่งจว๋อในขณะนั้นก็คือ หยวนเส้า

โดยสรุปแล้ว หลังต่งจว๋อตายไปแล้ว บ้านเมืองจีนก็ยังหาความสงบไม่ได้ เพราะเมื่อสิ้นความขุ่นเคืองที่มีต่อต่งจว๋อแล้ว ก็กลับถูกแทนที่ด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้นำระดับต่างๆ ที่ต่างก็พยายามตั้งตนเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ขึ้นมา ที่สำคัญ ความไม่สงบนี้ยังคงทอดเวลาออกไปอีกหลายปี

 

การดิ้นรนของเสนามาตย์

การศึกษาที่ดำเนินมาตลอดก่อนหน้านี้นั้น ได้สะท้อนให้เห็นในประเด็นอันเกี่ยวกับเหล่าขุนนางอยู่ข้อหนึ่งคือ บทบาทของขุนนางในกิจการพลเรือนและกิจการทหาร ที่สามารถสังเกตได้ว่าขุนนางบางคนมีบทบาททั้งสองด้านควบคู่กันไป

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีประเด็นที่พึงทำความเข้าใจในที่นี้ด้วยว่า อันที่จริงแล้วระบบการปกครองของจีนตั้งแต่ยุคก่อนหน้าราชวงศ์ฮั่นนั้น ได้มีการแบ่งตำแหน่งขุนนางเป็นสองสายมาก่อนแล้ว ถ้าเป็นกิจการพลเรือนจะเรียกว่า เหวิน แต่ถ้าเป็นกิจการทหารจะเรียกว่า อู่

หรือที่ไทยเราเรียกผ่านเสียงถิ่นจีนแต้จิ๋วว่า บุ๋น และ บู๊ ตามลำดับ

จากทั้งสองสายสองกิจการดังกล่าวจะสังเกตได้ต่อไปว่า ผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงให้เป็นที่ประจักษ์นั้น ต่อไปจะได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

และตำแหน่งหนึ่งที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้คือ ข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่น (ชื่อสื่อ) กับข้าหลวงผู้ตรวจการส่วนกลาง (ซือลี่เสี้ยวเว่ย) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่สูงมาก

 

จากนั้นงานศึกษานี้ก็ได้กล่าวต่อไปถึงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑล ว่ามีความสำคัญเท่ากับหรือเหนือกว่าตำแหน่งผู้ตรวจการทั้งสองอย่างไร

ประเด็นที่จะกล่าวถึงในที่นี้ก็คือว่า จนถึงก่อนที่ต่งจว๋อจะใช้อำนาจแทนจักรพรรดิจนถูกต่อต้านจากพันธมิตร 18 หน่วยปกครองนั้น มีขุนนางหลายคนที่มีความดีความชอบจากการปราบกบฏต่างๆ และได้รับการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งที่สูงขึ้น (ซึ่งมีรายละเอียดของตำแหน่งต่างๆ อยู่มาก) และที่สูงสุดก็คือตำแหน่งดังกล่าวข้างต้น

ถึงตรงนี้ก็มีข้อสังเกตว่า ในบรรดาขุนนางที่มีตำแหน่งที่สูงขึ้นหรือมีตำแหน่งที่สูงสุดเหล่านั้น จะมีขุนนางอยู่จำนวนหนึ่งที่มีความสามารถทั้งในกิจการพลเรือนและกิจการทหารควบคู่กันไป เรื่องนี้ถือเป็นปกติธรรมดาของการเมืองการปกครองของจีน ที่ว่าจะมีผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้อยู่ด้วยเสมอทุกยุคทุกสมัย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่จะมีขุนนางประเภทนี้แล้วมีตำแหน่งที่ดูเหมือนอยู่ในกิจการพลเรือน แต่กลับสามารถบัญชาการศึกได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ขุนนางบางคนจะมีความสามารถเฉพาะสายใดสายหนึ่งอย่างชัดเจน และฉายความสามารถนั้นของตนให้เห็นเป็นกรณีๆ ไป

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ขุนนางที่มีความสามารถพร้อมทั้งสองกิจการควบคู่กันไปหรือเฉพาะสายใดสายหนึ่งเหล่านี้ ย่อมมีทั้งที่ประสบความสำเร็จในบางครั้งและล้มเหลวในบางครั้ง

มีน้อยคนนักที่จะประสบด้านใดด้านหนึ่งไปจนตาย

 

จากความเข้าใจข้างต้นจึงมีประเด็นที่พึงกล่าวต่อไป นั่นคือ ขุนนางที่มีความสามารถจนได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงๆ ในเวลานั้นมีอยู่หลายคน และแต่ละคนก็ถูกกล่าวถึงใน จดหมายเหตุสามรัฐ แตกต่างกันไป แต่หากกล่าวเฉพาะที่โดดเด่นและมีบทบาทสำคัญต่อไปจะมีเพียงไม่กี่คน

เหตุดังนั้น หลังจากที่ต่งจว๋อตายไปแล้ว ขุนนางที่ทรงอิทธิพลที่พอจะแทนที่ต่งจว๋อหากไม่นับหยวนเส้าแล้วย่อมมีอยู่หลายคน ในระยะแรกที่ต่งจว๋อตายไปนั้น ขุนนางเหล่านี้แม้จะยังมิอาจเทียบหยวนเส้าได้ก็จริง แต่ครั้นเวลาผ่านไปก็จะค่อยๆ ฉายแววความรุ่งโรจน์ให้เห็น

ประเด็นของเราในที่นี้ก็คือเรื่องราวดังที่ได้กล่าวไปในตอนท้ายของหัวข้อที่ผ่านมา ที่ว่าเมื่อต่งจว๋อตายไปแล้ว บ้านเมืองจีนก็ยังมิอาจสงบลงได้ เพราะแม้หยวนเส้าจะทรงอิทธิพลสูงสุดก็จริง แต่ก็มีขุนนางในพื้นที่ต่างๆ ต่างก็ดิ้นรนเพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ขึ้นบ้าง ส่วนที่ว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้น ย่อมขึ้นอยู่ความสามารถในการต่อสู้ของแต่ละคน อันเป็นประเด็นที่จะได้กล่าวถึงต่อไปในหัวข้อนี้

บุคคลแรกที่พึงกล่าวถึงที่สุดก็คือ เฉาเชา ขุนนางที่งานศึกษานี้ได้เอ่ยชื่อของเขาอยู่เป็นระยะแล้วก่อนหน้านี้

และเป็นบุคคลที่นักอ่านวรรณกรรม สามก๊ก ชาวไทยรู้จักดีในนามว่า โจโฉ

———————————————————————————————————
1หญิงรับใช้คนนี้ถูกผูกให้มีตัวตนขึ้นมาในงานวรรณกรรม สามก๊ก ชื่อว่า เตียวฉาน (เตียวเสี้ยน) เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของวรรณกรรมจีน จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “สี่ผู้เลอโฉม” (ซื่อต้าเหม่ยเหญิน, Four Beauties) ของจีน โดยผู้เลอโฉมอีกสามคนคือ หวังเจาจวิน ซีซือ (ไซซี) และหยางกุ้ยเฟย เฉพาะเรื่องของเตียวฉานนี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นหนังครั้งแรกโดยมีชื่อเรื่องว่า เตียวฉาน เมื่อ ค.ศ.1938 จากการกำกับภาพยนตร์ของปู่ว่านชาง (ค.ศ.1903-1974)