หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ผลพลอยได้’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กระทิง - โป่งกลางป่าลึก คือแหล่งอาหารสำคัญที่กระทิงแวะมาเสมอๆ

 

‘ผลพลอยได้’

 

…ผมทำงานอยู่ในป่า แต่หลายๆ ครั้งก็รู้สึกราวกับทำงานอยู่ต่างประเทศ

สิ่งหนึ่งอันทำให้รู้สึกเช่นนั้นคือ ภาษาที่ใช้สื่อสาร ส่วนใหญ่แล้วเพื่อนๆ ร่วมงานผมเป็นชนเผ่าต่างๆ ผู้ซึ่งมีภาษา มีวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง

การมีโอกาสร่วมงานกับพวกเขา สิ่งหนึ่งที่ได้แน่ๆ คือ ความเข้าใจภาษา รวมทั้งวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ที่พวกเขายึดถือ

ในป่าด้านตะวันตกนั้น คนทำงานในป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าทุ่งใหญ่นเรศวร กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่มาจากหมู่บ้านรอบๆ ป่าทุ่งใหญ่

ไม่ได้กีดกัน หรือรับเข้าทำงานเฉพาะคนจากหมู่บ้านรอบๆ หรอก

สาเหตุหลักๆ เพราะเป็นพื้นที่ทำงานที่ค่อนข้างกันดารพอสมควร จึงหาคนทำงานจากที่อื่นๆ ได้ยาก คนจากหมู่บ้านคุ้นชินกับสภาพเช่นนี้มากกว่า

อย่างที่ผมเคยเล่าบ่อยๆ นั่นแหละ ถ้าถามใครสักคนที่ประจำหน่วยพิทักษ์ป่าไกลๆ อยู่หน่วยทั้งเดือน หากจะกลับบ้าน ใช้วิธีเดินในเวลา 2-3 วัน ถึงบ้านอยู่ได้วันเดียวก็ต้องกลับแล้ว ไม่อย่างนั้นจะเกินวันลา

ถ้าถามด้วยคำถามว่า “ลำบากไหมครับ อยู่แบบนี้”

คำตอบมักจะเหมือนกัน “ไม่ลำบากหรอก อยู่หน่วยสบายกว่า อยู่บ้านเมียใช้งานเยอะ”

 

ผมนึกถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรบ่อยๆ

ความกันดารของเส้นทาง ความหลากหลายของพืชพันธุ์ และสัตว์ป่า นั่นเป็นส่วนหนึ่ง

ความกันดารทำให้ผมมีมิตรภาพที่ดี มีหลายเรื่องราวให้จดจำ

อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะป่าทุ่งใหญ่เป็นป่าที่ผมรู้จัก ได้ยินชื่อตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้เริ่มต้นดูนก

ในปี พ.ศ.2516 มี “วีไอพี” กลุ่มหนึ่งเข้ามาล่าสัตว์ในป่าทุ่งใหญ่ พวกเขาใช้เฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะด้วย ตั้งแคมป์พักริมลำห้วยเซซาโว่

การเข้ามาล่าสัตว์ของพวกเขากลายเป็นเรื่องใหญ่ ในขากลับ เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งเกิดอุบัติเหตุตกลงทุ่งนาแถวๆ อำเภอบางเลน พบว่ามีอุปกรณ์ล่าสัตว์และอาวุธปืน รวมทั้งซากสัตว์กระจัดกระจาย

นั่นคือจุดเริ่มต้นอันทำให้ขยายไปกระทั่งใหญ่โต

ปีต่อมา ป่าทุ่งใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่กว้างใหญ่ถูกแบ่งการบริหารจัดการเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

ป่าทุ่งใหญ่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งอาศัยอันสมบูรณ์ของเหล่าสัตว์ป่า ภาพกระทิงฝูงใหญ่วิ่งในทุ่ง ล้อมรอบด้วยทิวเขา ที่สืบ นาคะเสถียร บันทึกได้จากการสำรวจโดยเฮลิคอปเตอร์ เป็นภาพอันติดตา

ผมมีโอกาสได้ใช้เวลาในป่านี้หลายปี เวลาส่วนใหญ่พักพิงอาศัยไม่ไกลจากลำห้วยเซซาโว่…

 

เซซาโว่ หมายถึง ลูกไม้สีแดง และหมายถึง หน่วยพิทักษ์ป่าชั่วคราวหน่วยหนึ่งด้วย

ในทางการ เมื่อสื่อสารทางวิทยุ ที่นี่คือหน่วยลูกไม้แดง แต่เราจะเรียกกันอย่างคุ้นชินว่า เซซาโว่

เพราะมีสถานภาพหน่วยชั่วคราว ที่นี่จึงมีสภาพเดิมๆ ดังเช่นหน่วยพิทักษ์ป่าในยุคแรกเริ่ม ไม่มีอาคารที่ก่อสร้างด้วยปูน มีบ้านพักที่เดิมเป็นกระต๊อบไม้ไผ่ ปรับปรุงเป็นบ้านใต้ถุนสูง หลังคาสังกระสี ฝาใช้ไม้สังเคราะห์ ใต้ถุนสูงต่อเติมกั้นเป็นห้องในภายหลัง

โรงครัวอยู่ใกล้ลำห้วย แม้ว่าหลังคาจะมุงด้วยสังกะสี แต่ส่วนประกอบอาคารยังปิดด้วยไม้ไผ่ สับฟากพื้นดินปรับเรียบ มีโต๊ะยาว ที่นั่งสองฝั่ง สองตัว

นี่เป็นครัวสภาพเดิมๆ ดังเช่นครั้งผมเริ่มทำงานใหม่ๆ ในป่าแห่งอื่นๆ ส่วนใหญ่ไม่มีสภาพอย่างนี้แล้ว

ช่วงฤดูฝน ที่นี่คึกคักบ่อยๆ เพราะเป็นจุดพักแรมของรถและคนที่มา หรือจะไปบ้าน และหน่วยจะแก

ถึงแม้ว่าจะออกเดินทางจากเขตตั้งแต่เช้า ไม่มีอุปสรรค รถเสีย หรืออะไร อย่างดีที่สุดก็จะถึงที่นี่ 2 หรือ 3 ทุ่ม

คนที่นี่จะรอรับฟังข่าวจากวิทยุ เมื่อมีรถเดินทางออกจากเขต เตรียมหุงข้าว ทำกับข้าวไว้ให้พอสำหรับคนที่หิวและเหนื่อยมาอย่างเต็มที่

 

ที่นี่อยู่บนระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 900 เมตร สภาพป่าค่อนข้างโล่ง โดยรอบเป็นทุ่งหญ้า ที่นี่จึงหนาวจัดในฤดูหนาว น้ำในลำห้วยเย็นยะเยือก กองไฟใกล้ครัวไม่เคยดับ ควันลอยเป็นสายตลอด

เดินเลาะๆ ทวนลำห้วยขึ้นไปราว 800 เมตร มีที่ราบๆ ริมห้วย ที่นี่คือแคมป์ที่คณะล่าสัตว์ครั้งนั้นใช้พักแรม เป็นทำเลที่ดี

หน่วยมีเจ้าหน้าที่ประจำ 9 คน มีคน 9 คน แต่มี 10 ชีวิต ชีวิตหนึ่งอยู่แบบผิดกฎ เพราะเป็นแมวรูปร่างล่ำสัน ชื่อหมอก

มันเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ และจะมานอนขดอยู่ข้างกองไฟ ฟังคนคุยเรื่องซ้ำไปซ้ำมา หลายๆ ครั้งก็แย่งกันพูด มันนอนเฉย ปรือตา ไม่รู้ว่าเบื่อไหม

ที่นี่ก็เหมือนกับหน่วยอื่นๆ คือ ใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษากลาง

 

งานหนักขึ้น ในฤดูแล้ง หลังไฟไหม้ทุ่งหญ้า เปลี่ยนสภาพจากขี้เถ้าดำๆ เป็นระบัดเขียวสด งานลาดตระเวนเข้มข้นขึ้น กระทิงและสัตว์กินพืชอื่นๆ มาชุมนุม และเป็นหน้าที่ของสัตว์ผู้ล่าจะตามมา

ซากกระทิงปรากฏให้เห็นบ่อยๆ หลายตัวตายเพราะคมเขี้ยว ซากพวกมันคืองานของสัตว์ผู้ล่า การกินของสัตว์ผู้ล่า เป็นเพียงผลพลอยได้

ในจำนวนซาก มีบางตัวตายเพราะกระสุน คนฆ่าสัตว์รู้ช่วงเวลาที่กระทิงจะมาชุมนุมเช่นกัน

กระทิงที่ตายเพราะคมกระสุนถูกฆ่าเพื่อเอาเขา

กระทั่งโลกเดินทางมาถึงวันนี้แล้ว ยังมีคนจำนวนไม่น้อย หาซื้อเขาสัตว์อย่างกระทิงไปสะสม ครอบครอง

โดยไม่ใส่ใจว่า ก่อนมาเป็นเขาและหัวประดับบ้าน พวกมัน มีชีวิต

 

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นี่ ถ้าทำงานไม่ไกลนักผมจะกลับมานอนที่นี่ อากาศดี แม้ว่าจะหนาวไปสักนิด

ค่ำเราสำราญข้างกองไฟ เสียงน้ำไหลรินๆ เจ้าหมอกนอนใกล้ๆ

ที่นี่ ทุกคนเรียกผมในภาษากะเหรี่ยงว่า หม่องโจ

เช่นเดียวกับตอนอยู่ในป่าอื่นๆ บนดอยอินทนนท์ เพื่อนชาวม้งเรียกผมว่า ซายจัว เพื่อนแถบทิวเขาบูโดเรียกว่า กอแซ

ได้รับชื่อ นั่นย่อมหมายถึง พวกเขายอมรับผมเป็นพวก

พวกเขาทำให้ผมรู้และเข้าใจอย่างแท้จริงว่า สิ่งที่ผมรู้นั้น มีไม่มาก

และนี่ย่อมเป็นความหมายที่แท้จริงของการทำงาน

งานภาพสัตว์ป่านั้นคล้ายเป็นเพียง “ผลพลอยได้” เป็นเรื่องราวที่จะบันทึกไว้ข้างในใจ