บูสเตอร์รัฐประยุทธ์ ด้วยเลือดและน้ำตา/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

บูสเตอร์รัฐประยุทธ์

ด้วยเลือดและน้ำตา

 

เป็นเรื่องทันทีเมื่อเว็บไซต์ “ไทยรู้สู้โควิด” ของรัฐบาลโพสต์โฆษณาว่า “ไทยฉีดวัคซีนเข้าใกล้ภูมิคุ้มกันหมู่ 50 ล้านคนตามแผน”

ด้วยความรู้ไม่มีหรือเจตนาจะชวนเชื่อ!

ใครๆ ก็รู้ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่จะสู้โควิด-19 จะเกิดขึ้นเมื่อประชากรร้อยละ 70 ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ประเทศไทยมี 70 ล้านคน ร้อยละ 70 ของประชากรคือ 50 ล้าน ในวันนี้ได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีอยู่ราว 6 ล้านคน คิดแล้วได้แค่ 12 เปอร์เซ็นต์ ยังห่างไกลจากเป้าหมายอีกเท่าใด?

พฤติการณ์จงใจให้ข้อมูลกลบเกลื่อน ชอบแก้ตัว ชวนให้ผู้คนรู้สึกอึดอัด

ซ้ำร้ายในเว็บเดียวกันนั้นยังโพสต์ชิ้นงานโฆษณาติเตียนชาวบ้านอีกว่า “ถ้าเรามีวินัย ปฏิบัติตามมาตรการ ศบค.ไม่ปล่อยให้ Fake news ด้อยค่าวัคซีนยี่ห้อใดๆ ให้ผู้คนเต็มใจไปฉีดวัคซีน เราน่าจะเปิดประเทศได้ในกลางไตรมาส 4”

นี่ยิ่งตอกย้ำให้ผู้คนคับข้องใจสงสัย!?

ที่เปิดกิจการร้านค้า ขายอาหาร ขายสินค้าบริการไม่ได้ เปิดประเทศไม่ได้ในวันนี้เป็นเพราะ “ประชาชนไม่มีวินัย”

หรือเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาล!

 

วันก่อน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคฯ กรมควบคุมโรค ได้จำแนกวัคซีนที่ใช้ในประเทศว่า ซิโนแวค 11,399,453 โดส, แอสตราเซนเนก้า 10,255,294 โดส, ซิโนฟาร์ม 2,036,818 โดส และไฟเซอร์ 409,066 โดส

ตั้งแต่แรก รัฐบาลประยุทธ์กับพวกจองวัคซีนโควิด-19 เอาไว้แค่ “ยี่ห้อเดียว” ยังไม่เคยได้ยินว่ามีใคร “ด้อยค่า” แอสตร้าเซนเนก้า

ความเสียหายทั้งหลายเกิดจากระบบความคิด การวางแผน และการบริหารจัดการด้านวัคซีนของ “รัฐบาลประยุทธ์”

ไม่ใช่ “ประชาชนไม่มีวินัย” ไม่ใช่เกิดจากมีคนไป “ด้อยค่า” วัคซีนยี่ห้อใด เพียงแต่ยิ่งเนิ่นนานไปยิ่งพบศพกับยิ่งพบผู้ป่วย ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 1 เข็มบ้าง 2 เข็มบ้าง

เช่น ที่กบินทร์บุรี ผู้เป็นภรรยาร่ำไห้ปานจะขาดใจร้องขอ “ถ้าย้อนเวลากลับมาได้ อยากให้เอาวัคซีนคืนไป เอาสามีกลับคืนมา”

หรือที่โคราช “น้องน้ำค้าง” ฉีดซิโนแวคผ่านไปได้ 2 วัน เลือดออกในโพรงสมองต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทราและต่อมาก็เสียชีวิต

ที่บัวใหญ่ นครราชสีมา หญิงวัย 65 (ที่ด้วยวัยควรจะได้ฉีดแอสตร้าเซนเนก้า) ไปฉีดซิโนแวค “เข็มแรก” วันที่ 11 สิงหาคม อีก 4 วันต่อมาน้ำลายฟูมปากชักเกร็งเสียชีวิต

สาวพยาบาลที่ กทม.เสียชีวิตทั้งที่ฉีดซิโนแวคครบแล้ว 2 เข็ม ยังไม่ต้องนับที่ฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้วติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีอยู่มากมายจนไม่เปิดเผยตัวเลข

“ซิโนแวค” กลายเป็น “วัคซีนที่คนไทยไม่มีทางเลือก” ถูกฉีดให้กับคนไทยไปแล้วราว 12 ล้านโดส

ขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ ลดลงจนแทบไม่เหลืออะไร จึงจำเป็นต้องใช้วัคซีนยี่ห้ออื่นมาช่วยบูสเตอร์เป็นเข็มที่ 3

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า อินโดนีเซียยอมรับวัคซีนซิโนแวค “ด้อยค่าลง” จากระยะแรกกันตายได้ 95% คงเหลือ 79% จากเดิมที่ป้องกันอาการหนักได้ 74% คงเหลือ 53%

สำหรับมาเลเซียประกาศเลิกใช้วัคซีนซิโนแวคภายในกันยายนนี้ ทั้งที่ยังมีซิโนแวคเหลืออยู่อีก 14 ล้านโดส

แต่ที่ประเทศไทยยังแร้นแค้นและโหยหาวัคซีน

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ เปิดเผยว่า หลังจากถูกเทซ้ำเทซ้อนมาหลายหนจากหลายที่ วันนี้ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ให้กับคนที่รอคอยได้ 2,261 คน วัคซีนนี้ยืมมาจากเพื่อนโรงพยาบาลอื่นที่ยังพอมีเหลือ กับขอวัคซีนแอสตร้าฯ จาก ผวจ.และ สสจ.ปทุมธานี ได้มาเพิ่มอีก 790 ขวด

ทุลักทุเลกันจนในที่สุด “สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” มีมติเอกฉันท์ออกข้อบังคับจัดหาและจัดการกับวัควัคซีนทางเลือกเอง

 

รัฐบาลนี้ “ติดกระดุมผิด” ตั้งแต่เม็ดแรก ทั้งยังไม่เคยรู้สึกสำนึกผิด กับคนที่วิจารณ์-จะใช้บริวารสลับหน้ามาตอบโต้ กับผู้ชุมนุมต่อต้านไม่เชื่อฟัง- จับกุมดำเนินคดี ไม่ได้ยินเสียงร่ำไห้ ไม่รู้ไม่เห็นความเคว้งคว้างวังเวงเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่มีคำว่า “ขอโทษ” หรือขออภัยในความขาดแคลน เลินเล่อ ล่าช้า จนทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และเสียชีวิตเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่า

ไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงเมื่อกล่าวถึงการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก “คำสั่ง” ของรัฐในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารต่างๆ ได้ฉายภาพให้เห็นร่วมกันว่า ถ้าการฉีดวัคซีนยังล่าช้า ผู้ติดเชื้อรายวันยังสูง มาตรการล็อกดาวน์ยังไม่มีกำหนดแน่นอน การเยียวยาและพยุงช่วยน้อยกว่าที่คาดเอาไว้ เศรษฐกิจไทยจะพังยับเยิน

ภาคเอกชนมองเห็นภาพล่วงหน้าว่า “จะมีวันนี้” ที่ผู้ป่วยพุ่งขึ้นนับหมื่นต่อวัน มีคนตายวันละหลายร้อย จึงพยายามนำเสนอกับ “นายกรัฐมนตรี” หลายครั้งเพื่อขอร่วมจัดหาวัคซีนมาเร่งฉีดให้เพียงพอกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

แต่อหังการราคาคุยนำไปสู่ความล้มเหลว!

จึงปรากฏตัวเลขที่ชวนสยองในภาคเอกชนว่า จากจำนวนผู้ประกันตน 474,109 คนนั้น มีผู้ได้ฉีดวัคซีนกันแล้วเพียงกว่า 40,000 คน หรือร้อยละ 8.5

 

“เกรียงไกร เธียรนุกูล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงบอกกล่าวง่ายๆ ตรงๆ ว่า สิ่งที่เอกชนต้องการมากที่สุดคือ วัคซีนกับชุดตรวจเชื้อโควิด ATK เสียเวลาพร่ำพิไรในโครงการแฟ็กทอรี่ แซนด์บอกซ์

เมื่อเห็นลางหายนะอยู่ข้างหน้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ก็ขยับเจรจากับรัฐบาลประยุทธ์อีกครั้ง

วางแผนบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดทำให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว ลนลานใช้มาตรการเหวี่ยงแหจนหลายกิจการล่มสลาย ลุกไม่ขึ้นอีกต่อไป

ไม่มีคำว่า แก้ไขทันท่วงทีและรีบเร่งเยียวยา

วางแผนบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดนำไปสู่ความคุคั่งคับแค้นจนการชุมนุมขับไล่รัฐบาลขยายวง ไม่มีคำว่า พูดคุยเจรจา ประนีประนอม

รัฐประยุทธ์เดินหน้าใช้กำลังและเครื่องทุ่นแรงตอบโต้ดุเดือดถึงใจ

ทำความผิดพลาดจนบ้านเมืองบอบช้ำขนาดนี้ เชื่อหรือไม่ว่า…ยังมี “ขบวนการ” บูสเตอร์ให้ประยุทธ์ครองอำนาจอีกต่อไป!?!!