ศัลยา ประชาชาติ : สารพัดมาตรการรัฐไร้ผล ราคายางดิ่งเหวจ่อ 3 โล 100 เกษตรกรใกล้ถึงจุดเดือด!

ถึงวันนี้สถานการณ์ราคายางพาราก็ยังคงดำดิ่งทั้งระบบอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูเปิดกรีดปี 2560 นี้

โดยราคายางพาราทุกชนิดทั้งน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ได้เริ่มทรุดหนักมาตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2560 ต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้

ที่สำคัญมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็อยู่ในสภาพแป้ก กระสุนด้านแทบทุกมาตรการ เพราะไม่สามารถที่จะดันราคาให้สูงขึ้นได้ หรือแม้แต่จะรักษาระดับราคามิให้ผันผวนหรือมีเสถียรภาพได้

ล่าสุดราคา “น้ำยางสด” วิกฤตหนัก เพียง 4 วันร่วงลงมามากถึง 8 บาท ในบางพื้นที่ราคาเพียง 38 บาท/ก.ก.

และแนวโน้มราคากำลังถอยหลังเข้าใกล้ 3 กิโล 100 บาท

 

หากดูจากราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ (วันที่ 7 กรกฎาคม 2560) ราคายางแผ่นดิบตกต่ำหลุดแรงต้านที่ 50 บาท/ก.ก. ลงมาอยู่ที่ 49.03 บาท/ก.ก. แล้ว ส่วนยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 ราคาลงมาอยู่ที่ 53.50 บาท/ก.ก. ราคา FOB กรุงเทพฯ อยู่ที่ 57.40 บาท/ก.ก. ส่วนน้ำยางสด (ณ โรงงาน) ลงมาอยู่ที่ 43 บาท/ก.ก. ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดทั่วไป จะมีราคาที่ต่ำกว่าตลาดกลางอยู่แล้ว

บรรดาชาวสวนยางจึงเจอวิบากกรรมอีกระลอก เพราะนอกจากราคาน้ำยางสดจะตกกราวรูดจ่อ 3 โล 100 แล้ว เกษตรกรยังไม่มีที่จะขายอีกด้วย เพราะผู้ซื้อบางรายปฏิเสธที่จะรับซื้อขายน้ำยางสดอีกด้วย

“อุทัย สอนหลักทรัพย์” กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) ออกมาชี้แจงว่า ราคาน้ำยางสดในแต่ละพื้นที่ต่างกัน โดยเริ่มตั้งแต่ 38-40 บาท/ก.ก.

ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่อ้างอิงจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอยู่ที่ 63.65 บาท/ก.ก. เรียกได้ว่าขาดทุนยับนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ (20 มิถุนายน 2560) นายอุทัยและคณะก็ได้เข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯ และในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) พร้อมยื่น 12 ข้อเสนอการแก้ปัญหายางพาราทั้งระยะเร่งด่วน และแก้ปัญหาระยะยาว โดย กนย. จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 1 เดือน

แต่วันนี้ประเด็นสำคัญก็คือ เกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ส่วนใหญ่มีอาชีพขายน้ำยางสดมากถึง 75% กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก

ส่วนพื้นที่ภาคอีสาน ภาคเหนือจะผลิตและขายยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และยางแผ่นรมควัน สภาพปัญหาจึงแตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็เดือดร้อนระงม เพราะราคายางทุกชนิดอยู่ในภาวะขาลงสุดๆ ดับฝันเกษตรกรที่จะโกยรายได้ในช่วงฤดูเปิดกรีด 5-6 เดือนข้างหน้านี้

ที่สำคัญผลพวงของราคายางที่ตกต่ำในตอนนี้ยังก่อปัญหาใหม่ที่ซึมลึกเข้าไปอีกในกลุ่ม/สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ยาง เพราะเจอปัญหาขาดทุนหนัก บางแห่งขาดทุนหลายสิบล้าน

เนื่องจากมีการใช้เงินทุ่มซื้อยางมาสต๊อกไว้เพื่อนำออกขายทำกำไร แต่ก็มาเจอกับดักราคายางผันผวนรายวัน “ซื้อแพง ขายถูก” เพราะกว่าจะนำน้ำยางมาแปรรูปจนได้ยางแผ่นดิบหรือยางแผ่นรมควันใช้เวลา 7-10 วัน แต่ราคาก็ร่วงลงทุกวัน จึงทำให้ขาดทุนกันระนาว และเป็นหนี้ ธ.ก.ส. จำนวนมาก ตอนนี้ยังเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องกันอย่างหนักอีกด้วย

วิกฤตราคายางจึงทำให้เกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ จนทำให้แกนนำชาวสวนยางหลายกลุ่มหลายสังกัด และนักการเมืองในภาคใต้บางคนต้องออกมารุกรบเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องจากรัฐบาลบิ๊กตู่อีกครั้ง แม้ว่าจะถูกสกัดกั้นไม่ให้มีการชุมนุมเช่นในอดีตก็ตาม

 

ส่วนแนวรบอีกกลุ่มจากเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (คยท.) โดย นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายออกมาระบุว่า ทาง คยท. และเกษตรกรชาวสวนยางพารามีมติสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 แก้ปัญหายางพาราเพื่อสนับสนุนโครงการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้น โดยเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศจะทำการขึ้นป้ายในจังหวัดที่ปลูกยางพารา

ขณะที่ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวชี้แจงว่า รัฐบาลพยายามแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งของไทยคือยังมีพื้นที่ปลูกยางมากเกินไป อยากให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกยางลงและหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เช่น ทุเรียน มังคุดที่มีราคาสูง หากไม่เปลี่ยนแปลง ราคายางก็คงไม่สามารถขยับสูงไปมากกว่านี้ได้

นอกจากนั้น “บิ๊กตู่” ยังสำทับด้วยว่า ยังไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหายาง เพราะสามารถสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ นำยางไปใช้งานได้ โดยให้เพิ่มการใช้ประโยชน์ในส่วนของสาธารณสุข กีฬา และสั่งให้กระทรวงคมนาคมนำยางมาใช้สร้างถนนในชุมชนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ก็ออกมาแสดงท่าทีเป็นครั้งแรกว่า จะช่วยหาตลาดส่งออกให้กับผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราอีกแรงหนึ่ง

 

สําหรับแม่งานใหญ่ทั้งกระทรวงเกษตรฯ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยังคงออกมาโปรยยาหอมและขายฝันต่อไปว่า การระดมทุนเงินจัดตั้งกองทุนจำนวน 1,200 ล้านบาท โดยผู้ค้ายางยักษ์ใหญ่ 5 เสือได้ร่วมลงขันบริษัทละ 200 ล้านบาท และ กยท. ควักอีก 200 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการเข้ารับซื้อยางและเทรดในตลาดซื้อขายล่วงหน้าในสัปดาห์หน้านี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะช่วยดันราคายางขึ้นมา

แต่ก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าเม็ดเงินเท่านี้จะไปต่อกรกับบรรดาเฮดจ์ฟันด์หรือกองทุนระดับโลกที่เข้ามาถล่มเก็งกำไรราคายางพาราได้หรือไม่ เพียงใด

ส่วนนโยบายของรัฐบาลที่ให้นำยางมาใช้ในประเทศและเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้นก็ยังไม่ใคร่เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อราคายางตกต่ำก็ปัดฝุ่นขึ้นมาเท่านั้น

นั่นคือภาวะอลหม่านของเกษตรกรชาวสวนยางพารา จึงยังคงยืดเยื้อกันต่อไป