ผี พราหมณ์ พุทธ : ‘ศาสนาไทย’ ในศาสนา ‘ผี-พราหมณ์-พุทธ’ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

‘ศาสนาไทย’

ในศาสนา ‘ผี-พราหมณ์-พุทธ’

 

“ผี พราหมณ์ พุทธ” กลายเป็นคำติดปากของหลายๆ คนไปแล้ว เมื่อจะต้องกล่าวถึงศาสนาในสังคมไทย ที่จริงคำนี้ไม่ใช่คำของผมเอง แต่เกิดจากการอ่านงานเขียนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยเสนอว่า ตกลงแล้วเรานับถือ “ผี พราหมณ์ พุทธ” หรือ “พุทธ พราหมณ์ ผี”

ก่อนหน้าที่อาจารย์นิธิจะเสนอคำนี้ เราเคยได้ยินคำว่า “พุทธ พราหมณ์ ผี” กันมาก่อน โดยเราเอาพุทธไว้แรกสุดเพราะถือว่าสำคัญที่สุด แต่ข้อเสนออาจารย์นิธินั้นตรงข้าม คือผีนั้นมีอำนาจครอบงำทั้งพุทธและพราหมณ์ จึงควรเป็น “ผี พราหมณ์ พุทธ”

ศาสนาผสมในลักษณะดังกล่าว อาจารย์นิธิเรียกว่า “ศาสนาไทย” คำอธิบายที่รวบรัดที่สุดคือศาสนาผีที่ประดับฉากหน้าด้วยพุทธและพราหมณ์ โดยเลือกส่วนที่ไม่ขัดกับผี

ข้อเสนอนี้อาจไม่เป็นที่ชอบใจของชาวพุทธส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะท่านที่พยายามนิยามตนเองว่าเป็นพุทธแท้

แต่ใครจะอ้างว่าตนเองแท้กว่าคนอื่นได้?

วัดป่า ธรรมยุต พุทธทาส สันติอโศก ธรรมกาย พุทธวจนะ?

มีคนที่พยายามที่จะเอาอิทธิพลของสองศาสนานั้นออกไปจากพุทธศาสนา เช่น ให้เลิกไหว้ผีไหว้เทพ เลิกทำสิ่งสักการะพวกนั้นในวัดพุทธเสีย

แต่ผีและพราหมณ์ในศาสนาไทยไม่ได้เป็นเพียงรูปแบบและพิธีกรรม มันเป็น “ความเชื่อ” และ “มโนทัศน์” ด้วย

ดังนั้น ถึงจะโยนเทวรูปหรือศาลผีทิ้งออกไปจากวัด แต่ยังคิดเรื่องเสกเป่าทำน้ำมนต์พ่นน้ำหมาก หรือมี “หลวงพ่อ” ไม่ว่าจะพระพุทธรูปหรือเกจิที่เชื่อว่ามีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในวัด คิดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์บางแบบ คิดเรื่องบุญกรรมบางแบบ อันนี้อำนาจของผีและพราหมณ์มันก็ไม่ได้หายไปไหน

 

ผีเป็นศาสนาของบรรพชนทุกคนในโลกนี้ ผีเป็นศาสนาดั้งเดิมของโลก ก่อนที่จะมีศาสนาทั้งหลายเกิดขึ้นมา ถ้าพูดแบบคาร์ล ยุง (Carl Gustav Jung) นักจิตวิเคราะห์ชาวสวิส ท่านว่า มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะเข้าหาศาสนาโดยธรรมชาติ และในขณะเดียวกันมนุษย์มีสิ่งที่เรียกว่า “จิตไร้สำนึกร่วม” (collective unconscious) คือ สิ่งที่เราซ่อนเร้นไว้ในจิตใจเรา ซึ่งสั่งสมมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ความเชื่อผีนี้คือส่วนหนึ่งของจิตไร้สำนึกร่วมดังกล่าว การศึกษาทางโบราณคดีได้ช่วยให้เราเห็นความสอดคล้องของวัฒนธรรมและสัญลักษณ์ที่ใช้ตรงกันอย่างน่าแปลกใจ แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันก็ตาม เช่น มโนทัศน์เกี่ยวกับสี และรูปทรงเรขาคณิตที่มักใช้ในศาสนาโบราณทั่วโลก

ที่ยกคาร์ล ยุง มา ไม่ใช่เพราะผมอยากจะเอานักวิชาการฝรั่งมาโน้มน้าวให้เรากลับไปนับถือผีหรือยอมรับนับถือศาสนาผสมนะครับ แต่แค่จะบอกว่าผีนั้นแข็งแกร่งและลึกมากกว่าที่เราคิด

ที่จริงอาจารย์นิธิเองก็เคยเสนอว่า ยิ่งในปัจจุบันดูเหมือนผีจะยิ่งมีความสำคัญมากกว่าในอดีตเสียอีก

วัฒนธรรมผีในปัจจุบันออกหน้ามากกว่าเก่า ไม่ได้ซ่อนอยู่แค่ข้างหลัง ไม่ได้อยู่แค่ในขนบของชาวบ้านอีกต่อไป แต่กลายเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในเมือง ถูกขับเน้นให้สำคัญด้วยระบบทุนนิยมที่ผีกลายเป็นสินค้าทางความเชื่อที่ทำรายได้มากมาย

ที่จริง ใครยากจะชำระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ อยากจะนับถือศาสนาพุทธแท้เพียวๆ นี่ ผมไม่มีปัญหาเลยนะครับ ถ้าท่านหาเจอ

แต่ความพยายามจะหาศาสนาแท้นั้น ฝรั่งทำมานานกว่าเรา ของเราผมเข้าใจว่า เริ่มมีมาในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง

 

ก่อนหน้านั้นการนับถือศาสนาแบบผสมๆ ดูจะเป็นเรื่องปกติของแถวนี้ ที่จริงในโลก ศาสนา “เอกเทวนิยม” ในสายอับราฮัมมิกต่างหากที่ทำให้แนวคิดของการนับถือศาสนาของมนุษย์เปลี่ยนไป

คำสอนที่ว่า มีเพียงพระเจ้าองค์เดียวที่แท้จริง นอกนั้นเป็น “พระเจ้าจอมปลอม” หรือศาสนาอื่นเป็น “ศาสนาเท็จเทียม” ทำให้การขีดเส้นแบ่งของศาสนาชัดเจนเด็ดขาด และแม้แต่ในศาสนาเดียวกัน ก็ยังต้องมาแบ่งว่าใครนอกรีต ใครแท้ นิกายไหนจริง นิกายไหนบิดเบือน

ในอุษาคเนย์ แม้แต่ชนชั้นนำยังนับถือศาสนาผสมอย่างเปิดเผย แม้จะมีบางยุคบางสมัยก็อาจเน้นศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลอื่นก็ตาม)

ผมจำได้ว่าในหนังสือศาสนาพราหมณ์ในอาณาจักรขอมก็มีข้อมูลว่า กษัตริย์เขมรโบราณนับถือศาสนาผสม คือ ไศวนิกาย ไวษณพนิกาย และมหายาน

ส่วนบ้านเรา ในสมัยอยุธยา มีจารึกที่ฐานพระอิศวรกำแพงเพชร สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ เขียนบทความไว้ ผมขอยกข้อความจากจารึกมาว่า “และช่วยเลิกพระศาสนาพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และพระเทพกรรมมิให้หม่นให้หมอง ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” คือให้ทำนุบำรุงทั้งสามศาสนา คือ พุทธ พราหมณ์ (ไสยศาสน์) และศาสนาผี (พระเทพกรรม)

รายละเอียดลองย้อนไปค้นบทความมาอ่านดูนะครับ

 

กระนั้น ผมเองยังถือว่า ทุกๆ ศาสนามี “ท่าที” ที่ชัดเจนบางอย่างอยู่ โดยเฉพาะท่าทีต่อสถานการณ์ทั้งสังคมและชีวิตส่วนตัว หรือมีคำสอนที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่าง ดังนั้น หากท่านต้องการจะเป็นศาสนิกที่ดี ลองค้นหาดูครับว่า ท่าทีที่ว่านั่นคืออะไร

ทั้งนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาหลักคือการด้อยค่าคนที่นับถือศาสนาแบบผสม กลายเป็นว่า ถ้านับถือศาสนาแบบผสมคือโง่เง่างมงาย ไม่รู้อะไรถูก-ผิด ทั้งๆ ที่การนับถือศาสนาแบบผสมเป็นอะไรที่มีมานานและแพร่หลายทั่วไปมาก่อน

คนที่อยากจะนับถือศาสนาเพียวๆ ก็ควรจะนับถือไป คนที่อยากจะนับถือศาสนาแบบผสมก็นับถือไป ต่างคนก็ต่างมีปัญญาและปัญหาในแบบตัวเอง ต่างก็วิจารณ์กันได้ครับ แต่ไม่ใช่มีใครถืออำนาจจะไปตัดสินชี้ขาดอีกฝ่าย

เอาเข้าจริงๆ ระยะหลังๆ ผมชอบและสนใจศาสนาผีเป็นพิเศษนะครับ แต่ผมมีความรู้น้อยในเรื่องนี้มากๆ คนมักเห็นว่าผมรู้เรื่องพราหมณ์ดี แต่ผมก็สนใจพุทธศาสนาโดยเฉพาะฝ่ายมหายาน พอแก่ก็เริ่มมาสนใจวัฒนธรรมของบรรพชนตัวเองที่เป็นจีนอพยพด้วย ผมจึงอาจสะท้อนความเป็นคนนับถืออะไรผสมๆ จนหลายคนเริ่มด่าผมแล้วว่า “ตกลงมึงอยู่สำนักไหนกันแน่”

ถ้าผมมีโอกาสตอบ คงตอบเขาไปว่า “สำนักไหนเขาไม่รังเกียจกู กูก็อยากไปศึกษาให้หมด” โลกของความรู้มันกว้างขวางมาก แต่ถ้าใจคนมันแคบเสียแล้ว โลกความรู้กว้างแค่ไหนก็เข้าไปไม่ได้ เพราะมัวล้อมกรอบตัวเองอยู่ ซึ่งก็คือมึงนั่นแหละ

 

ที่เล่าบ่นมายืดยาว เพื่อจะบอกว่าที่จริงช่วงนี้มีหนังสือบางเล่มที่สนใจเรื่อง “ศาสนาไทย” เป็นพิเศษ ผุดขึ้นมาในบรรณพิภพ ใครสนใจลองไปหาอ่านดูครับ

แต่ผมจะไม่พูดถึงหนังสือเล่มนี้มากเพราะจะดูไม่เหมาะ ท่านไหนสนใจไปค้นหาดูครับ มีนักเขียนหน้าตาดีสามคนอยู่ในเล่มเดียวกัน เขียนกันคนละแง่คนละมุม

อีกอย่าง ก็อยากจะชวนมาทบทวนเรื่องศาสนาไทยอีกครา เผื่อผมจะตกหล่นอะไรไป ซึ่งก็มักตกหล่นอยู่เสมอ

โปรดชี้แนะข้าน้อยด้วย