คุยกับทูต จูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ ชีวิตที่อยู่ในต่างแดน มากกว่าบ้านเกิดในโปรตุเกส (ตอน 1)

 

คุยกับทูต จูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์

ชีวิตที่อยู่ในต่างแดน

มากกว่าบ้านเกิดในโปรตุเกส (ตอน 1)

 

วันนี้เรากลับมาเยือนสถานทูตโปรตุเกสซึ่งเป็นสถานทูตแห่งแรกในกรุงเทพฯ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยได้รับเกียรติเข้าพบท่านทูตคนใหม่ ณ ทำเนียบ หรือบ้านพักเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นอาคาร 2 ชั้น สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล หลังคาทรงปั้นหยา สร้างเมื่อปี ค.ศ.1860 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ทำเนียบเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

อาคารแห่งนี้เดิมเป็นที่พำนักของกงสุล ต่อมาเป็นที่พักของเอกอัครราชทูตหลังจากที่สถานกงสุลได้รับการยกสถานะเป็นสถานทูต และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นในวาระการเฉลิมฉลอง 50 ปีของสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ ค.ศ.1984

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) คือ เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ออกมาทักทายพร้อมรอยยิ้มสดใส สลับกับเสียงหัวเราะขณะสนทนาด้วยท่วงท่าสบายๆ เป็นกันเอง ณ ห้องรับรองขนาดใหญ่ ตกแต่งภายในอย่างเรียบง่าย แต่แฝงด้วยเสน่ห์ของภาพเขียนงดงามบนผนัง บริเวณชั้น 2 ของทำเนียบ

“นี่มิใช่การมาประเทศไทยครั้งแรก เพราะผมเคยมาเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อมาเยี่ยมเพื่อนรักชาวสเปนชื่อ ฮวน มานูเอล นาดัล (Juan Manuel Nadal) ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปทูตประเทศสเปนประจำประเทศไทยในขณะนั้น และได้กลับมาเป็นเอกอัครราชทูตในเวลาต่อมา แต่ปัจจุบัน ท่านทูตนาดัลเกษียณอายุราชการแล้ว”

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

“ผมจำได้ว่า ในช่วงนั้น การจราจรในกรุงเทพฯ หนาแน่นมากทีเดียว ประหนึ่งฝันร้าย เพราะยังไม่มีรถไฟฟ้า”

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่รู้จักกันดีในโปรตุเกสว่าเป็นประเทศที่สวยงาม มาคราวนี้ ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปสำรวจประเทศไทยเพราะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงต้องชะลอเรื่องการเดินทางไว้ก่อน ต่างกับที่มาครั้งแรก ผมไปเยือนอยุธยา และเกาะสมุยอันงดงาม สนุกสนานและเพลิดเพลินมาก”

ความประทับใจที่มีต่อเมืองไทย

“สิ่งที่สร้างความประทับใจให้แก่ผมอย่างมากคือ ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมไทย รวมทั้งสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด”

“ผมชอบอากาศร้อนของเมืองไทย เพราะทำให้หวนคิดถึงเรื่องราวสมัยที่อยู่ในอินเดีย ซึ่งมีส่วนดึงดูดให้ผมชอบไปชมวัด และเมื่อมาอยู่ที่นี่ ผมได้เห็นความงดงามของวัด รู้สึกถึงความสงบ จนเกือบจะเข้าสมาธิ”

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

 

ท่านทูตเล่าประวัติความเป็นมาโดยย่อว่า

“ผมเกิดที่กรุงลิสบอน พร้อมกับความคิดที่อยากจะเป็นนักการทูตตั้งแต่แรก จึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ในต่างประเทศ ก่อนที่จะมีอาชีพเป็นนักการทูต”

“ผมเข้าศึกษาที่ Université de Paris I/ Panthéon Sorbonne ในกรุงปารีส 6 ปี จนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์ นับเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก”

ภาษาต่างประเทศนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะใช้ในการสื่อสารแล้วยังเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้และการพัฒนาความคิดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ถ่ายทอดเป็นถ้อยคํา เพื่อใช้ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือถ่ายทอดออกมาเป็นอักษรก็ล้วนมีความสำคัญทั้งสิ้น เพราะความสามารถด้านภาษาทำให้เราได้เรียนรู้และสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ รอบตัว ทั้งในประเทศของตัวเองและกับคนต่างประเทศ ผู้ที่สามารถพูดได้หลายภาษาจึงถือว่าเป็นเรื่องดีที่ได้เปรียบในระดับสากล

“ผมสามารถพูดได้ 7 ภาษาคือ ภาษาโปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี สเปน และโรมาเนีย ส่วนภาษาไทย ผมยังไม่ได้แม้แต่คำเดียว ก็หวังว่าคงจะมีโอกาสได้เรียนภาษาไทยแม้จะค่อนข้างยาก ตอนนี้ผมจึงพูดได้ดีเฉพาะภาษาตะวันตกเท่านั้น”

“หลังจากจบการศึกษาที่ปารีส ผมเข้าทำงานที่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก หลังจากนั้นได้กลับไปสอนหนังสือ โดยเป็นศาสตราจารย์ที่ National Institute of Administration ประเทศโปรตุเกสสามปี ก่อนจะมามีอาชีพเป็นนักการทูต”

“นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมมักจะใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่”

การแกะสลักที่สวยงามบนกำแพงรั้วของสถานทูตโปรตุเกส โดยศิลปินชาวโปรตุเกสชื่อ Vhils

“สําหรับประสบการณ์ในการทำงานครั้งแรกและครั้งใหญ่ของผม คือที่ประเทศเคนยาเกี่ยวกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ซึ่งเป็นแฟชั่นเมื่อสามสิบปีที่แล้ว เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการและความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม”

“ผมอยู่ที่เคนยานาน เพราะระยะเวลาของการประชุม Governors’ Council ยาวนานมาก ในช่วง 3 ปี ผมจึงไปเคนยาทุกปี โดยใช้เวลาปีละ 6 สัปดาห์ติดต่อกัน โชคดีที่มีคนขับรถซึ่งพาผมเดินทางไปทั่วเคนยา ทำให้ผมได้รู้จักเคนยาเป็นอย่างดี และเคนยาเป็นประเทศที่สวยงามมาก”

“เริ่มต้นทำงานที่กระทรวงต่างประเทศโปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ.1986 และออกไปประจำการครั้งแรกที่สถานทูตโปรตุเกส ในประเทศอินเดีย ปี ค.ศ.1991 เป็นเวลาสามปี ผมเรียนภาษาฮินดี (Hindi) นิดหน่อยตอนอยู่ที่อินเดีย เลยถูกเพื่อนชาวอินเดียหยอกล้อว่า ผมเสียเวลามาเรียนภาษาฮินดี เพราะทุกคนก็พูดภาษาอังกฤษได้อยู่แล้ว” ท่านทูตหัวเราะ

“ซึ่งก็เป็นความจริง ผมจึงตัดสินใจว่า อาจเป็นความพยายามที่มากเกินไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น ผมจึงไม่คิดจะเรียนภาษาฮินดีอีกต่อไป”

การแกะสลักที่สวยงามบนกำแพงรั้วของสถานทูตโปรตุเกส โดยศิลปินชาวโปรตุเกสชื่อ Vhils

“จากนั้น ก็ไปประจำที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในปี ค.ศ.1994 แล้วกลับไปทำงานที่โปรตุเกสช่วงหนึ่ง พอถึงปี ค.ศ.2003 มีตำแหน่งเป็นกงสุลใหญ่ประจำกรุงลอนดอน และกงสุลใหญ่ประจำเมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนีในอีก 3 ปีต่อมา”

“ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตเป็นครั้งแรกตอนไปประจำประเทศไซปรัส โดยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศเลบานอนและซีเรียในช่วงเริ่มต้นของสงคราม”

“จนกระทั่งปี ค.ศ.2013 จึงย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศโรมาเนีย มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศมอลโดวา”

“ตำแหน่งล่าสุดคือ เอกอัครราชทูตประจำประเทศอิสราเอล ก่อนที่ผมจะมารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย เมื่อต้นปีนี้”

สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกส

เนื่องจากชาวโปรตุเกสเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามามีสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี ค.ศ.1511 และทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีกันในปี ค.ศ.1518 นับถึงวันนี้รวมเวลากว่า 500 ปี นานกว่าชาติอื่นใด และถึงวันนี้สายสัมพันธ์ยังคงสานต่ออย่างแข็งแกร่งจากการค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงเทพฯ

อาชีพนักการทูตเรียกได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างประเทศ

ท่านทูตไวน์สไตน์ชี้แจงถึงการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและโปรตุเกสในปัจจุบันว่า

“หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงเกินดุลการค้ากับโปรตุเกส”

โดรู Douro แม่น้ำสายหลักของกรุงลิสบอน เมืองหลวงของโปรตุเกส ที่ถุฏล้อมรอบด้วยหุบเขา ภาพ- visit Portugal

“ในปี ค.ศ.2019 มูลค่าการส่งออกของโปรตุเกสมายังประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังโปรตุเกสอยู่ที่ประมาณ 231 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“ส่วนในปี ค.ศ.2020 มูลค่าการส่งออกของโปรตุเกสลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณ 78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”

“ไทยยังคงเกินดุลการค้ากับโปรตุเกส แต่ด้วยมูลค่าที่ต่ำกว่าในปี ค.ศ.2019 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์โปรตุเกสไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่มูลค่าการส่งออกของไทยได้ลดลงประมาณ 30%”

“ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้คือ ค.ศ.2021 มูลค่าการส่งออกจากโปรตุเกสอยู่ที่ประมาณ 49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังแสดงการเพิ่มขึ้นประมาณ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี ค.ศ.2020”

“จากการเพิ่มขึ้นเหล่านี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ค.ศ.2021 เราคาดว่าจะเป็นปีที่ดี โดยแย้งกับผลกระทบด้านลบของโควิด”

มาเดรา -Madeira ภาพจาก Turismo de Portugal

“สินค้านำเข้าหลักของโปรตุเกส ได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษและกระดาษแข็ง เครื่องจักรและอุปกรณ์เครื่องกล ไม้ที่ไม่ใช่ไม้สน เฟอร์นิเจอร์ แป้ง และอื่นๆ ส่วนสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังโปรตุเกส ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วนเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก”

“บริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนในโปรตุเกส ได้แก่ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ไทยยูเนี่ยน ผู้ผลิตปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก, อินโดรามา ผู้ผลิตสินค้าจากปิโตรเคมีอันดับต้นๆ ของโลก, ไมเนอร์ ซิกซ์เซนส์เซส เจ้าของและผู้ดำเนินการโรงแรมและรีสอร์ตใน 22 ประเทศทั่วเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลาง ยุโรป อเมริกาใต้ แอฟริกา และมหาสมุทรอินเดีย, สยามซีเมนต์ กรุ๊ป ที่มีธุรกิจหลักคือ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง”

แม้ปัจจุบัน ยังไม่มีเงินลงทุนจากบริษัทโปรตุเกสในไทย ทั้งไทยและโปรตุเกส ต่างพยายามหาช่องทาง โดยการหาพันธมิตรท้องถิ่น เพื่อร่วมมือและพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน

นายจูอาว บีอร์นาร์ดู ไวน์สไตน์ (João Bernardo Weinstein) เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ในโปรตุเกส

สำหรับโปรตุเกส ก็ได้เข้าสู่ระยะใหม่ของการปิดเมืองเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตามรายงานข่าวของสำนักข่าวซินหัว โดยพื้นที่ส่วนมากอยู่ใน “ภาวะเฝ้าระวัง” (state of alert) ซึ่งเป็นลักษณะกฎหมายระดับต่ำที่สุดของกฎหมายคุ้มครองพลเมือง (Civil Protection Law) อย่างไรก็ดี มีการยกเว้นเขตนครลิสบอนซึ่งยังอยู่ใน “ภาวะปรับตัวตามสถานการณ์” (state of contingency) ขณะที่เทศบาลนคร 19 แห่งในเกรตเทอร์ ลิสบอน (greater Lisbon) อยู่ในภาวะภัยพิบัติ (state of calamity) เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในระดับสูงกว่าพื้นที่อื่น

ท่านทูตไวน์สไตน์เปิดเผยว่า

“โปรตุเกสนับว่าเก่งที่สุดในยุโรปเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับดี แต่มาตอนนี้ ถือเป็นภัยพิบัติ เมื่อเราปิดกรุงลิสบอนทำให้อัตราการเสียชีวิตคงที่ ข้อดีคือ มีการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น เป็นการก้าวไปอย่างมั่นคงจากการจัดการที่ดี ผมคิดว่าภายในสองหรือสามเดือนนี้ การฉีดวัคซีนจะครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งการฉีดวัคซีน ถือเป็นภาคบังคับในประเทศโปรตุเกส”