คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : โหราศาสตร์ : ความคิดพื้นฐานและปัญหาบางประการ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คุณตาผมเป็นโหรครับ ตอนแกมีชีวิตอยู่ผมไม่คิดอยากเรียนกับแก

พอแกตายก็ทิ้งตำราไว้ดูต่างหน้าหนึ่งเล่มซึ่งไม่ใช่ตำราลับเก่าแก่อะไรหรอกครับ เพียงแต่คุณตารวบรวมความรู้ที่คิดว่าใช้ได้กับสถิติทางโหราศาสตร์ที่แกทายเอาไว้

ภายหลังเมื่อมาทำงานที่ภาควิชาปรัชญาแล้วได้พบกับท่าน ผศ.สุนัย ครองยุทธ ซึ่งสอนปรัชญาตะวันตก แต่ท่านเองสนใจเรื่องโหราศาสตร์ในแบบวิเคราะห์วิพากษ์ ได้ลองปรึกษาหาความรู้กับท่านแล้วก็ทดลองเรียนแบบมือสมัครเล่น

ที่เรียนก็ด้วยสาเหตุสองอย่างครับ อย่างแรก คืออยากรู้ว่าที่เขาดูดวงกันนี่มันอะไรยังไง

กับสอง คิดว่าถ้าพอมีความรู้บ้างจะได้ไม่ไปต้องเสียเงินแพง ดูเองได้ ดูให้ญาติมิตร

และที่สำคัญมันเป็นวิชาที่สาวๆ ชอบครับ (ฮา)

ดังนั้น สิ่งที่ผมเสนอนี้มาจากทัศนะของมือสมัครเล่นที่รู้อย่างพองูๆ ปลาๆ เท่านั้นครับ เป็นการพยายามมองจากภาพรวมเท่าที่เห็น

หากท่านใดเข้าใจในขั้นลึกได้โปรดสั่งสอนชี้แนะเพิ่มเติม

 

วิชาดูดวงหรือทำนายทายทักมันมีหลายแบบครับ ดูลายมือ โหงวเฮ้ง เลขเจ็ดตัว ไพ่สารพัด

แต่ในวงการเขามีธรรมเนียมว่า คนดูดวงโดยวิชาโหราศาสตร์ไทย (คือทายดวงดาวจากแผนภูมิกำเนิดที่เรียกว่า “ราศีจักร”) เท่านั้นถึงจะได้รับการเรียกว่า “โหร” นอกนั้นเรียกหมอดูหมดครับ

ก็เพราะวิชาโหราศาสตร์นี่มันยากที่สุด ซับซ้อนที่สุด และอาจเก่าแก่มากๆ ในบรรดาวิชาดูดวงทั้งหลาย

วิชาโหราศาสตร์สยามนี่เราได้รับมาจากอินเดียครับ แต่อินเดียจะรับมาจากทางไหนคงต้องสืบค้นอีกที บางท่านว่ามันมาจากอารยธรรมเมโสโปเตเมียเป็นที่แรก บางท่านว่ามันกำเนิดในอินเดียเอง แต่เรารับแล้วก็เอามาปรับในแบบของเราเอง ไม่เหมือนเขาซะทีเดียว

วิชานี้เริ่มจากการสังเกตเทหวัตถุบนท้องฟ้าคือดวงดาวเป็นหลัก จากนั้นจึงคำนวณเพื่อสร้าง “แผนภูมิ” ของดวงดาวนั้นๆ ขึ้นมา ใช้ดาวหลักในระบบสุริยจักรวาล ได้แก่ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์

ต่อมาเพิ่มจุดตัดที่ก่อให้เกิดเงาขึ้นมาในการคำนวณเรียกว่า “ราหู” และดาวหางหรือ “เกตุ” ขึ้นมาครบเป็น “นพเคราะห์” ทั้งเก้า ราหูจึงไม่ใช่ “ดาว” ในความหมายของเทหวัตถุบนฟ้าแต่เป็น “เงา” หรือความมืด ท่านถึงให้ “มัวเมาทายราหู”

ตารางกลมๆ ที่ท่านเห็นเวลาไป “ผูกดวง” (ผูกดวงไม่ได้หมายความว่าเอาดวงไปผูกกับใคร แต่หมายถึงการสร้างรูปแผนที่ดวงดาวในเวลาเกิดของเราขึ้นมา) คือแผนผังท้องฟ้า พร้อมด้วยตำแหน่งดาวทั้งหลาย จำเพาะในเวลาที่เราเกิด หรือเวลาที่เราจะใช้ (ขึ้นบ้าน ยกเสาเอก ฯลฯ)

จากนั้นจึงทำนายโดยใช้ “ความสัมพันธ์” ระหว่างดวงดาวเหล่านั้นแหละครับมา ไม่ว่าจะ “เล็ง” “ทับ” ตรีโกณ จตุโกณ เป็นสิบสิบเอ็ด ฯลฯ ซึ่งโหรท่านก็จะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการตีความ รวมทั้งคุณสมบัติของดาวเหล่านั้น แล้วจึงออกคำทำนาย

นักพยากรณ์สมัยใหม่ท่านอ้างว่า คำทำนาย คือ “สถิติ” หมายความว่า เมื่อตำแหน่งของดวงดาวเป็นแบบนั้นๆ โบราณก็สังเกตว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจดจำสืบกันต่อมา จึงเอา “เกณฑ์” ดังกล่าวมาใช้พยากรณ์ได้

เรื่องนี้จะจริงหรือเท็จผมยังไม่แน่ใจนัก แต่ในบรรดาวิชาโบราณทั้งหลาย ทั้งโลกตะวันตกและตะวันออกดูจะสนใจพยากรณ์ศาสตร์หรือโหราศาสตร์มากที่สุด พอๆ กับพวกเรื่องการรักษาพื้นบ้าน

เพราะคล้ายๆ มันมี “ความรู้” อะไรบางอย่างอยู่

 

โหราศาสตร์มีลักษณะผสมผสานความรู้ “แบบ” วิทยาศาสตร์เอาไว้พอสมควร

ดังนั้น หากเราศึกษาดูจะพบว่า การศึกษาโหราศาสตร์ประกอบด้วยสี่ภาคด้วยกัน คือ ภาคดาราศาสตร์ ภาคคำนวณ ภาคพยากรณ์ และภาคพิธีกรรม

สองภาคแรกเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่สุด ท่านอาจารย์สุนัยบอกผมว่า สมัยก่อนใครจะเรียนวิชาโหรต้องผ่านสองภาคนี้มาก่อนทั้งนั้น ไม่มีอยู่ๆ ก็โดดไปทายกันเลยอย่างสมัยนี้

ภาคดาราศาสตร์คือเรียนเรื่องคุณสมบัติของดาวในแง่มุมต่างๆ การโคจร จักรราศี ฯลฯ คล้ายอย่างวิชาดาราศาสตร์ แต่อาจมีจุดเน้นและการตีความต่างกัน

จากนั้นก็มาสู่ภาคที่ยากที่สุดคือภาคคำนวณ คือการคำนวณการโคจรต่างๆ ของดวงดาว การแบ่งวันและเวลา ฯลฯ ต้องเรียนคัมภีร์อินทภาสบาทจันทร์ ไม่มีเครื่องคิดเลขอย่างสมัยนี้ก็ต้องใช้ลูกคิดช่วย

จากนั้นหัดอ่านปฏิทินโหราศาสตร์และทำดวง “อีแปะ” ขึ้นมาดู

 

เมื่อเรียนภาคพยากรณ์ทีนี้จะสนุกแหละครับ หัดตีความ ผสมความหมาย การทำนายทายทัก อันนี้ใครสนใจลองอ่านคอลัมน์ของอาจารย์ ศ.ดุสิต ในมติชนสุดสัปดาห์นี่แหละครับ สนุกและน่าติดตามวิธีการทำความเข้าใจการพยากรณ์แบบไทย จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็อ่านเป็นความรู้ได้

ส่วนภาคสุดท้ายนี่แหละครับที่เป็นปัญหามาก คือ “ภาคพิธีกรรม” นักพยากรณ์บางท่านไม่เอาภาคนี้เลย ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งต่อเติมเข้ามาในวิชาโหราศาสตร์ ซึ่งมาจากความเชื่อทางศาสนาบ้าง ความเชื่อพื้นบ้านบ้าง เช่น การทำพิธีสะเดาะเคราะห์ รับส่งเทวดานพเคราะห์ พิธีบูชาดวงดาว ฯลฯ

ท่านว่านักพยากรณ์มีหน้าที่แค่การออกคำพยากรณ์เท่านั้น เหลือจากนี้ไม่ใช่สาระสำคัญของโหราศาสตร์

แต่ดูเหมือนภาคพิธีกรรมจะกลายเป็นภาคที่นิยมที่สุด ทั้งจากฝ่ายคนมาดู เพราะกลุ้มใจไม่รู้จะทำยังไงให้แก้ปัญหาชีวิตได้ง่ายๆ กับฝ่ายคนดูให้ด้วย เพราะมันช่างเป็นวิธีการหาเงินที่สะดวกจริงๆ

ในยุคแห่งความง่าย คนอยากแก้ปัญหาแบบง่ายๆ มาเจอคนรู้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาอย่างไรให้ง่ายๆ ก็สบายตัวกันเลยครับ อย่างที่ผมเน้นย้ำเสมอ จะเชื่ออย่างไรเป็นสิทธิของท่าน ผมมีหน้าที่นำเสนอข้อมูลความรู้ ท่านต้องดูแลตัวเอง จึงทำได้แต่บอกว่า

“ขอให้โชคดี”

 

แต่นั่นแหละครับ ปัญหาของโหราศาสตร์ โดยเฉพาะในระดับรากฐานหรือตัวความคิดนั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะภาคพิธีกรรม ปัญหาของโหราศาสตร์ในทั้งสี่ภาคเป็นดังนี้ครับ

ในภาคดาราศาสตร์และการคำนวณนั้น ปัญหาหลักๆ อยู่ที่ความถูกต้องของความรู้ครับ เนื่องจากว่าความรู้ทางดาราศาสตร์มีความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่คนในวงการโหราศาสตร์เองก็ตระหนักเรื่องนี้ จึงมีทั้งคนที่เอาดาราศาสตร์สมัยใหม่เข้ามาผสมกับการพยากรณ์ เช่น ระบบยูเรเนี่ยน หรือระบบอื่นๆ

กระนั้นก็มีผู้เห็นว่าแม้วิชาคำนวณของเราบางครั้งตำแหน่งของดาวไม่ตรงกับตำแหน่งจริงบนฟ้า เช่น เมื่อใช้คัมภีร์สุริยยาตรคำนวณ แต่ก็แม่นยำใช้การได้ดีก็ควรจะใช้ต่อไป เรื่องนี้คนในนั้นคงต้องถกเถียงกันเองครับ แต่แสดงให้เราเห็นว่า ความรู้ทางดาราศาสตร์สำหรับนักพยากรณ์ไม่ใช่ความรู้สำคัญ แต่เป็นแค่ “เครื่องมือ” เพื่อนำไปสู่สิ่งอื่นเท่านั้น

ส่วนภาคพยากรณ์ ท่านอาจารย์สุนัยเคยชี้ให้ผมเห็นว่าปัญหามันก็อยู่ที่ “ความสัมพันธ์” นั่นแหละครับ กล่าวคือ อะไรเป็นสิ่งยืนยันความสัมพันธ์ระหว่าง “ดวงดาว” กับ “เหตุการณ์” ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือบนโลกของเรา เนื่องจากเราไม่สามารถยืนยัน “ความสัมพันธ์” อันนี้ได้อย่างแน่นอนชัดเจนทั้งๆ ที่สิ่งนี้คือหัวใจของการพยากรณ์ โหราศาสตร์จึงเป็นศาสตร์ที่ยังอยู่ในฝั่ง “ความเชื่อ” ต่อไป เพราะความเชื่อมโยงเช่นที่ว่ายังเป็นสิ่งลึกลับ

นอกจากนี้ หากเชื่อว่าทุกสิ่งถูกกำหนดมาแล้วล่วงหน้า ทางปรัชญาเรียกทัศนะแบบนี้ว่า “นิยัตินิยม” (Determinism) ปัญหาก็คือ เราจะทราบได้อย่างไรว่า อะไรที่เราเลือกได้หรืออะไรที่ถูกกำหนดมาแล้ว ชีวิตเราจะมีเจตจำนงเสรีแค่ไหนอย่างไร

แน่นอน นักพยากรณ์เองก็ไม่ได้คิดว่าวิชาโหราศาสตร์เป็นการชี้ร่องรอยของสิ่งที่ถูกกำหนดมาแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ กระนั้นปัญหาที่ตามมาคือตกลงคือมันกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ และอะไรบ้างที่ถูกกำหนด อะไรบ้างที่ไม่ถูกกำหนด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนักพยากรณ์และคนดูดวงสังกัดตนเองในศาสนา แนวคิดพื้นฐานของโหราศาสตร์นั้นจะขัดกับศาสนาหรือไม่อย่างไร อันนี้คงได้ไว้วิเคราะห์กันต่อในคราวหน้า

 

ส่วนภาคพิธีกรรม นอกจากปัญหาข้างต้น ผมคิดว่ามันยังสะท้อนอะไรบางอย่างซึ่งเป็นปัญหาในระบบเอง กล่าวคือ ถ้าเชื่อว่าการพยากรณ์ของตนเป็นสิ่งที่ “แม่นยำ” ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม เหตุใดจึงยังคิดว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตามที่เราจะกำหนด

ผมไม่แน่ใจว่าภาวะเช่นนี้ อาจถือเป็น “ข้อขัดแย้งในตัวเอง” (self-contradiction) ได้หรือไม่ คือถ้าเชื่อว่ามันแม่น มันก็ต้องเกิดขึ้น แต่จะทำให้มันไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งแปลว่ามันก็ต้องไม่แม่น? ซึ่งมันแสดงถึงความสับสนบางอย่าง ทำให้นักพยากรณ์บางท่านไม่เอาเรื่องพิธีกรรมนี้เลย

นอกจากนี้ โหราศาสตร์ โดยเฉพาะไทยๆ ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ศาสนา และอะไรต่างๆ มาตลอดประวัติศาสตร์ ไว้จะชวนคุยกันอีกครับ