สมุดปกขาวทิเบต ความพยายามเปลี่ยนความทรงจำ เรื่องราวของพญามังกรต่อดินแดนหลังคาโลก/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

สมุดปกขาวทิเบต

ความพยายามเปลี่ยนความทรงจำ

เรื่องราวของพญามังกรต่อดินแดนหลังคาโลก

 

ในช่วงที่โลกกำลังสาละวนกับการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 จีนเองก็ต้องคอยระวังการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ แต่จากการรับมือก่อนที่อื่นเพราะโดนก่อน จนตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายลงจนใกล้เข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้จีนหันมาให้ความสนใจกับนโยบายความมั่นคงกับพื้นที่รอบจีนเพื่อรักษาเสถียรภาพ ด้วยทุกเครื่องมือที่คิดค้นขึ้น

เมื่อช่วงปลายพฤษภาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หัวสีของรัฐบาลจีนอย่างโกลบอล ไทม์ส ได้เผยแพร่สมุดปกขาวชุดใหม่เกี่ยวกับพื้นที่ปกครองตนเองทิเบตในชื่อ “ทิเบตตั้งแต่ปี 1951 : การปลดปล่อย, การพัฒนาและความมั่งคั่ง (Tibet Since 1951: Liberation, Development and Prosperity)

ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการสร้างรักษาเสถียรภาพบนแผ่นดินทิเบตของจีน ผ่านการสร้างชุดความจริงด้วยอาศัยการอธิบายเชิงประวัติศาสตร์เพื่อพยายามเปลี่ยนมุมมองจีนกับเรื่องทิเบตที่ไม่ใช่ผู้ร้ายหรือผู้รุกราน

ต่อสายตาชาวทิเบตและชาวโลก

 

เอกสารยาวกว่า 40 หน้า โดยแบ่งออกเป็น 10 ตอน ถูกทำขึ้นในวาระครบรอบ 70 ปีของการยึดครองทิเบตโดยจีนพรรณนาถึงประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันระหว่างจีนกับทิเบต

โดยสมุดปกขาวเล่าเรื่องถึงประวัติศาสตร์แบบจีน อย่างอาณาจักรทูโบในทิเบตที่ก่อตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 7 ก็อ้างว่ามีส่วนสำคัญต่อการสำรวจพรมแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หรือการอ้างสืบชาติพันธุ์อย่างชนชาวทิเบตบนที่ราบสูง มีความใกล้ชิดกับชาวฮั่นและชนชาติอื่นผ่านสายเลือด

หรือบทบาทของการก่อตั้งสำนักพุทธทิเบตและตำแหน่งผู้นำอย่างทะไลลามะ ก็เกิดขึ้นจากราชสำนักราชวงศ์ชิง

อีกทั้งยังเรียกแนวคิด “การปลดปล่อยทิเบต” ในหมู่ชาวทิเบต แต่ในสายตาจีนมองว่าเป็นแนวคิดที่จักรวรรรดินิยมชาติตะวันตก ปลุกปั่นเพื่อสร้างความแตกแยกจากจีน และสร้างความเป็นผู้ร้ายของชาติตะวันตก อย่างกรณีจักรวรรดิอังกฤษส่งกองทัพรุกรานทิเบต 2 ครั้ง

จนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เรียกการผนวกดินแดนทิเบตอยู่ภายใต้อำนาจพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 1951ว่าเป็น “การปลดปล่อยอย่างสันติ” ไม่ใช่ “การรุกรานยึดครอง”

นอกจากนี้ เล่าถึงนโยบาย แผนงานต่างๆ ที่เล่าเรื่องความเป็นพระเอกของจีนในฐานะผู้สร้างสันติสุขและผู้นำการพัฒนาสร้างความเจริญให้กับทิเบต และแปะป้ายกลุ่มเรียกร้องเอกราชทิเบตเป็นผู้ร้ายที่ชาติตะวันตกสนับสนุน

สะท้อนภาวะทางความคิดของจีนที่มีอยู่ยาวนานว่าเป็นผู้ถูกกระทำจากพวกต่างชาติ ตั้งแต่โบราณ จนถึงปัจจุบันที่จีนกำลังเผชิญการถูกล้อมกรอบ ในขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพลไปไกลเกินประเทศรอบข้างจีน

และยังมีอีกหลายอย่างเกี่ยวกับทิเบต ที่ถูกเล่าขึ้นแบบจีนๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมต่อการอ้างอำนาจอธิปไตยด้วยการสร้างประวัติศาสตร์แบบของตัวเองเป็นเครื่องมือ

 

ซินหัวได้รายงานข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศของสภาแห่งรัฐของจีน โดยเรียกสมุดปกขาวเป็นเอกสาร เพื่อทบทวนประวัติศาสตร์และความสำเร็จที่จีนทำต่อทิเบต

และยังนำเสนอ “ความจริง” รวมถึงภาพในอนาคตของสิ่งที่เรียกว่า “สังคมนิยมใหม่ในทิเบต” ด้วย

อีกทั้งยังช่วยตอบโต้การโฆษณาชวนเชื่อที่มาจากชาติตะวันตกและเหล่าพันธมิตร

พร้อมกับให้ข้อมูลที่รอบด้านสมดุลกับประชาคมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในทิเบต

แต่กระนั้น เมื่อจีนเผยแพร่เรื่องเล่าของตัวเอง ก็ต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอย่างที่สุด

 

ไม่กี่วันต่อมา (23 พฤษภาคม 2564) สำนักงานบริหารกลางทิเบต ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดเรียกร้องเอกราชทิเบต ได้ออกมาตอบโต้สมุดปกขาวของจีน ด้วยการปล่อยบทสัมภาษณ์ของทะไลลามะ โดยมีปิโก้ ไอเยอร์ นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียเป็นผู้สัมภาษณ์ ทะไลลามะย้ำว่า วิถีพุทธแบบทิเบตได้รับสืบทอดจากวัฒนธรรมพุทธแบบอินเดียและปฏิเสธวิถีจีน

โดยเล่าย้อนไปเมื่อศตวรรษที่ 8 พระครูนามว่า นาลันทะ จันตรักษ์ชิตา ได้รับคำเชิญจากกษัตริย์ทิเบต ให้มานำเสนอวิถีปฏิบัติธรรมแบบนาลันทะ ซึ่งได้กลายเป็นรูปแบบการสอนหลักธรรมของทิเบตที่เน้นการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และถกเถียงเชิงตรรกะในปัจจุบัน

ทะไลลามะกล่าวว่า ทิเบตได้รักษาวิถีแบบนาลันทะนี้ไว้ และปฏิเสธวิถีพุทธแบบจีนที่เน้นแต่การทำสมาธิมากกว่าเรียนรู้ธรรม

มีครั้งหนึ่ง พระกมลาชิลา ลูกศิษย์ของนาลันทะ ได้ร่วมถกเถียงเรื่องหลักคิดกับจีนกับแนวปฏิบัติแบบอินเดีย ต่อหน้าจักรพรรดิจีน แล้ววิถีปฏิบัติแบบอินเดียเป็นฝ่ายชนะ และผู้เจรจาชาวจีนได้ขอให้กลับไปยังจีน นับตั้งแต่นั้น เราได้ยอมรับหลักตรรกะ ซึ่งตกทอดและถ่ายทอดให้กับชาวทิเบต

ส่วนเรื่องเล่าที่ว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนในทางประวัติศาสตร์โดยอ้างว่า กษัตริย์ของทิเบตได้แต่งงานกับเจ้าหญิงของราชวงศ์ถังและรับพุทธศาสนาเข้ามาทิเบต แต่ที่จริง กษัตริย์ผู้รวมแผ่นดินทิเบตนี้แต่งงานกับราชินีจากเนปาล

อีกทั้งชาวทิเบตสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์จากอินเดียที่ได้อพยพมายังทิเบตพร้อมกับบริวารหลังสงครามมหาภารตะ หรือเหล่าเชื้อสายราชวงศ์ทิเบตก็มาจากเจ้าชายแห่งแคว้นมคธที่ถูกเนรเทศจากบ้านเกิดตัวเอง

สำนักงานบริหารแห่งทิเบตมองว่า สมุดปกขาวของจีนทำขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมกับการยึดครองทิเบตของจีนตามข้อตกลง 17 ข้อ ที่ทำขึ้นในปี 1951 และให้ประเด็นว่า ข้อตกลงที่ทำขึ้นนั้นก็มาจากการบังคับของจีนที่ข่มขู่จะใช้กำลังขั้นรุนแรงกับทิเบต ทำให้ทิเบตไม่มีทางเลือกนอกจากต้องลงนามเพื่อการอยู่ร่วมอย่างสันติกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เทวัง กยัลโป อารยา ผู้แทนขององค์ทะไลลามะ กล่าวว่า แม้ข้อตกลง 17 ข้อจะบังคับโดยรัฐบาลทิเบตของจีน แต่ก็ยังคงยืนยันถึงข้อเท็จจริงว่า ทิเบตไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาก่อนข้อตกลงนี้จะเกิดขึ้น

และเรียกสิ่งที่จีนทำว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างความเข้าใจผิดกับประชาคมระหว่างประเทศและลดทอนความจริงในประวัติศาสตร์