มั่วไม่มีทิศทาง : รัฐบาลทำตัวกลายเป็นตัวแปรความไม่แน่นอนเสียเอง ?

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

มั่วไม่มีทิศทาง

 

แม้จะรู้กันอยู่ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนมากมาย แต่คนทำงาน คนบริหารองค์กรธุรกิจต้องพยายามทำความเข้าใจปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์อนาคตอันใกล้ให้ได้ใกล้เคียงความจริงให้มากที่สุด

ดังจะเห็นว่า นักธุรกิจทั้งหลายจะสนใจข้อมูลการพยากรณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศกันมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อนำมาวางแผนการดำเนินงานทั้งหลายนั่นเอง เพราะการทำงานต้องมีเป้าหมายที่จะบรรลุและมีการวางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ถ้าสภาพแวดล้อมผิดไปจากที่คาด ก็ต้องมาทบทวนวางแผนกันใหม่

รัฐบาลมีหน้าที่บริหารจัดการมหภาคหรือภาครวมประเทศ ก็จะพยายามให้เศรษฐกิจด้านต่างๆ มีเสถียรภาพให้มากที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามบริหารให้อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประะเทศ อัตราเงินเฟ้อ ให้แกว่งขึ้น-ลงให้น้อยที่สุด รัฐบาลก็จะพยายามบริหารจัดการด้านงบประมาณ ภาษีให้สมดุลที่สุด เพื่อให้ธุรกิจเศรษฐกิจดำเนินไปได้ราบรื่น

แต่ประเทศไทย 1-2 เดือนมานี้ ไม่เป็นอย่างที่ควรจะเป็นซะหยั่งงั้น ตัวรัฐบาลเองทำตัวกลายเป็นตัวแปรความไม่แน่นอนเสียเอง

 

สัปดาห์ที่แล้ววันที่ 16 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จัดแถลงการณ์อย่างเป็นทางการครึกโครมใหญ่โตให้คนรอรับฟัง ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน และขอให้คนไทยทำใจยอมรับความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดที่อาจมีตามมา แต่นายกฯ มีความจำเป็นต้องตัดสินใจ

ฟังเนื้อหาดูแล้ว แม้จะเป็นเพียงการแสดงความตั้งใจเช่นนั้น ไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับแผนการที่จะทำให้ไปสู่เป้าหมายที่ว่าก็ตาม หรือไม่มีแผนการรับมือความเสี่ยงการแพร่เชื้อที่อาจเกิดได้ก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าการที่ประเทศไม่มีเป้าหมายอะไรเลย ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่างๆ องค์กรธุรกิจเอกชนเคว้งคว้างไม่มีเป้า

ผ่านไปได้เพียง 2 วัน โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงว่า ที่นายกรัฐมนตรีแถลงเปิดประเทศ 120 วันนั้นไม่ใช่การ “เคาต์ดาวน์” หรือนับถอยหลัง กดปุ่มเปิดประเทศ แต่เป็นการให้แต่ละพื้นที่เตรียมความพร้อม พื้นที่ใดพร้อมก็ทยอยเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาได้เลย

อย่างนี้ไม่รู้จะแถลงการณ์ใหญ่โตไปทำไม ที่โฆษกมาแถลงภายหลังนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องทำอะไรมากเหตุการณ์ต้องเป็นไปอย่างนั้นอยู่แล้ว ใครพร้อมก็เปิด ยังไม่พร้อมก็รอ

 

ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 มิถุนายน วัคซีน AstraZeneca มาล็อตใหญ่ล็อตแรก นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า จะโต้กลับไวรัสโควิด-19 มีการระดมฉีดกันทั่วประเทศหลายแสนโดส ทำเอาคนไทยไม่น้อยอุ่นใจ มองเห็นทางออกและวิธีออก แต่ก็รู้สึกอย่างนั้นอยู่ได้ 1-2 วัน ปริมาณการฉีดก็ลดลง หลายโรงพยาบาลประกาศเลื่อนการฉีดแบบไม่ระบุเวลานัดใหม่เพราะยังไม่ได้วัคซีน

ไปๆ มาๆ กลายเป็นเรื่องหมอ-พยาบาลฉีดเร็วเกินไป กลายเป็นประเด็นตามหาคนผิดแบบใส่เสื้อวินมอเตอร์ไซค์มารับการฉีดวัคซีนไป

ย้อนขึ้นไปอีกหน่อยหนึ่ง ปลายเดือนเมษายน รัฐบาลปรับนโนบายให้มีวัคซีนทางเลือก จากเดิมที่มีการสั่งซื้อวัคซีนอยู่เพียง 2 ยี่ห้อ ขณะเดียวกันก็ประกาศเป้าหมายชัดเจนว่า จะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้คนไทยให้ได้ 100 ล้านโดส ฉีดให้ 50 ล้านคน หรือ 70% ของประชากร เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันใหม่ภายในสิ้นปี 2564

ประกาศคราวนั้นก็สร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยได้เยอะพอสมควร อย่างน้อยประเทศก็มาถูกทางเหมือนอย่างที่หลายประเทศเขาทำสำเร็จมาแล้ว ฉีดวัคซีนแบบปูพรมให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ทั้งประเทศ

แต่ถัดมาสักสัปดาห์ได้ ก็มีโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะฉีดวัคซีนให้คนไทย 150 ล้านโดส แต่ไม่ได้ยึดเอาภายในสิ้นปี 2564 เป็นเวลาเป้าหมายอีกแล้ว

 

สรุปว่า หลายรอบแล้วที่รัฐบาลประกาศเป้าหมาย แล้วสุดท้ายก็เปลี่ยนไปง่ายๆ แบบไม่มีเหตุปัจจัยที่ไปที่มาอะไร ไม่สามารถยึดเอาเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศได้ มิหนำซ้ำยังกลายเป็นปัจจัยความไม่แน่นอนอีกปัจจัยหนึ่งที่มาสร้างความเข้าใจผิดและคาดหวังผิดๆ อีกด้วย

อย่าลืมว่าศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ที่รับผิดชอบออกนโยบาย มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมโรค มี พล.อ.ประยุทธ์นายกรัฐมนตรีเป็นประธานและศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ที่รับผิดชอบฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤต ก็มีประธานเป็นคนคนเดียวกัน

เล่นเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนเป็นตัวแปรที่ไม่แน่นอน หรือกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงเสียเอง

ไม่ไหวแล้วนะเนี่ย