อ่านเกมภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ร่วม ‘ฝ่ายค้าน’ ถล่มงบฯ 2565 ไม่ตอบโจทย์โควิด-รุมสกัด ‘กินรวบ’

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เปิดฉากพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท วางกรอบเวลาอภิปรายไว้ 3 วัน 3 คืน ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-2 มิถุนายน รวมเวลาทั้งหมด 47 ชั่วโมง 30 นาที

ท่ามกลางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด

โดย “นายชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งกำชับและยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 ภายในพื้นที่รัฐสภาขั้นสูงสุด ให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

กำหนดให้ ส.ส.ที่ประสงค์จะอภิปราย หากไม่สะดวกสวมหน้ากากอนามัยในระยะเวลานานได้ ต้องมาใช้แท่นโพเดียม มีกระจกใสกั้นขนาดใหญ่ที่สำนักงานจัดเตรียมไว้ด้วย เพื่อป้องกันละอองฝอยน้ำลอยกระจายเวลาพูด

แน่นอนว่า การพิจารณางบประมาณครั้งนี้ ดูจะแตกต่างกว่าเดิมไม่น้อย เพราะนอกจากพรรคร่วมฝ่ายค้านจัดทัพ จัดขุนพลไว้ถล่มแบบจัดหนักจัดเต็มใส่รัฐบาลแบบไม่ยั้ง โดยเฉพาะการจัดทำงบประมาณที่ไม่มีความสอดคล้อง ตอบโจทย์แก้ปัญหาของประเทศที่กำลังเผชิญกับสงครามโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่อย่างโรคไวรัสโควิด-19 แล้ว ปรากฏว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ร่วมอภิปรายถล่มด้วย

 

เมื่อดูภาพรวมของการเปิดศึกอภิปรายตลอดทั้ง 3 วันนั้น บรรยากาศการประชุมครั้งนี้ เป็นไปด้วยความราบรื่นกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะแทบจะไม่มี ส.ส.คนใดลุกขึ้นประท้วงให้เสียเวลา

โดย “นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ยืนยันชัดเจนว่าไม่สามารถรับหลักการต่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้ เพราะเป็นแผนงบประมาณที่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาเลย ซ้ำยังจัดงบประมาณกระทรวงกลาโหมให้มากกว่าของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการจัดงบประมาณแบบชนเพดานทุกมิติ รู้จักแต่วิธีการกู้เพื่อนำมาใช้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการหมุนของวงรอบทางเศรษฐกิจ

“การจัดงบประมาณเช่นนี้ และด้วยวิธีคิดที่ขาดยุทธศาสตร์ จะทำให้ GDP ของประเทศตกต่ำลง การจัดเก็บภาษีปี 2565 จะพลาดเป้ารุนแรงเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง และจะเรื้อรังไปถึงปี 2566 จนไม่มีทางแก้”

เช่นเดียวกับเหล่าขุนพลพรรคเพื่อไทย ต่างอภิปรายสอดคล้องไปในทำนองเดียวกันและประสานเสียงไม่รับหลักการ เนื่องจากมองว่าการจัดงบประมาณครั้งนี้รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกระทรวงสาธารณสุขเลย ทั้งที่ตอนนี้โควิด-19 ยังระบาดหนัก จากตัวเลขงบฯ สาธารณสุข ลดลงมากถึง 4.3 พันล้านบาท

ฟากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก็จัดหนักไม่แพ้กัน โดย “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” มองว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีสามัญสำนึก จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น ไม่รู้ว่าอะไรควรเร่งด่วน อะไรควรชะลอ กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่เป็นกลไกสำคัญของการควบคุมการระบาดของโควิด และเป็นหน่วยงานที่ประชาชนคนไทยทั้ง 67 ล้านคนฝากชีวิตเอาไว้ เมื่อมาดูงบประมาณกรมควบคุมโรค ที่ได้งบฯ เพียง 3,565 ล้านบาท เมื่อนำไปเทียบกับงบฯ ปี 2562 ที่ยังไม่เจอกับโควิด ปีนั้น กรมควบคุมโรคได้รับงบประมาณอยู่ที่ 4,036 ล้านบาท

เท่ากับว่างบฯ ปี 2565 ที่กรมควบคุมโรคต้องไปสู้กับโควิด ซึ่งเป็นโรคระบาดระดับโลก แต่งบฯ กลับน้อยกว่าปี 2562 ถึง 470 ล้านบาท

“เป็นการจัดงบประมาณที่ไร้สามัญสำนึกที่สุดแล้ว เหมือนใช้เขาไปรบ แต่กลับไปยึดอาวุธเขา จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบุคลากรทางการแพทย์ และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ถึงได้รู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ”

 

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนแรกที่ต้องจับตา คือสองพรรคร่วมรัฐบาล “พรรคภูมิใจไทย (ภท.)” และ “พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)” ขณะนี้ถูกกระแสสังคมบีบให้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต่างอภิปรายแบบจัดหนักด้วยลืมมารยาทการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พุ่งเป้าที่ไปตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่กำกับดูแลสำนักงบประมาณไม่แพ้พรรคฝ่ายค้าน

โดยพรรค ภท.พุ่งเป้าประเด็นที่งบฯ กระทรวงสาธารณสุขที่มี “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. นั่งคุมบังเหียน ถูกตัดงบฯ ไปกว่า 4 พันล้านบาท

เริ่มจาก ส.ส.รุ่นพี่ “ชาดา ไทยเศรษฐ์” ถึงขนาดอภิปรายตัดพ้อว่า “สำนักงบประมาณคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะไม่รักนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเสียแล้ว ถึงได้ตัดงบประมาณแบบนี้ ผมก็อยากจะบอกว่า หัวหน้าครับ ถ้าเขาไม่รักก็กลับบ้านเราเถอะ”

ด้าน 2 พี่น้องตระกูลปริศนานันทกุล ทายาท “นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ก็ปล่อยหมัดใส่รัฐบาลไม่มียั้ง โดยผู้พี่ “ภราดร ปริศนานันทกุล” ระบุว่า กรมควบคุมโรคเสนองบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดซื้อวัคซีน 70 ล้านโดสมาฉีดให้ประชาชนทั้งประเทศ แต่งบฯ ส่วนนี้กลับถูกตัดออก อ้างเหตุผลว่าจะให้ไปใช้งบฯ กลางหรืองบฯ เงินกู้ นี่คือความผิดหวังจากการจัดสรรงบฯ ของสำนักงบประมาณ

ขณะที่ผู้น้อง “กรวีร์ ปริศนานันทกุล” บอกว่า การจัดทำงบประมาณปีนี้ผิดแปลกและแตกต่างไปจากการทำงบประมาณช่วงปี 2563-2564 กระทรวงสาธารณสุขเปรียบเสมือนหัวหอกและเรือธงในการแก้ปัญหาโควิด กลับถูกตัดงบฯ อย่างน่าใจหาย ค่อนข้างพิลึกพิลั่น ไม่มีใครรู้ว่าการจัดทำงบประมาณครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของรัฐบาลและรัฐสภาแห่งนี้ก็ได้ หากเป็นครั้งสุดท้ายอยากเห็นว่าจัดสรรงบฯ เพื่อแก้ปัญหาและพาชีวิตคนไทยไปสู่ภาวะปกติ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีความเป็นห่วงด้านตัวเลขเศรษฐกิจ โดย “กนก วงษ์ตระหง่าน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายว่า สถานะการเงินของประเทศ รัฐบาลตั้งรายได้สุทธิในปี 2565 ไว้ที่ 2.4 ล้านล้าน แต่พบหนี้สาธารณะจำนวน 8.195 ล้านล้าน เพิ่มจากปี 2564 ถึง 2.1 ล้านล้าน ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบฯ เพื่อชำระเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 1,000 ล้าน แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือน 13 ล้านล้าน คิดเป็น 86.6% ของจีดีพี และเมื่อรวมหนี้รัฐบาล รวมกับของประชาชน จะมีมากกว่า 21 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศ เรียกว่าหนี้ท่วมรายได้ โดยรัฐบาลมีหนี้สูงกว่ารายได้ มากถึง 3.3 เท่า และต้องใช้เวลา 81 ปีเพื่อชำระหนี้สิน

ดังนั้น งบประมาณปี 2565 จึงไม่ตอบโจทย์

อย่างไรก็ดี เซียนการเมืองฟันธงตรงกันว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2565 จะผ่านวาระแรกในชั้นรับหลักการ เพราะอย่างไรเสียพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังต้องพึ่งพางบประมาณปี 2565 ไปขับเคลื่อนแก้ปัญหาและสร้างคะแนนนิยมของรัฐบาลให้ฟื้นกลับคืนมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่รัฐบาลเสียเรตติ้งจากแฟนคลับ กองเชียร์ไปไม่น้อย

แต่การอภิปรายของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรค ภท. และพรรค ปชป. ในวาระแรก คือการส่งสัญญาณไปยังคีย์แมนรัฐบาลว่าจะจัดงบประมาณแบบกินรวบ เอาไปกองไว้ที่งบฯ กลางถึง 5.71 แสนล้านบาท เพื่อให้นายกฯ กดปุ่มว่าจะจัดสรรให้พรรคไหนได้งบฯ เท่าใด เหมือนเป็นการต่อรองทางการเมืองไว้อีกชั้นหนึ่ง

หากในชั้นการพิจารณาในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ในวาระที่ 2 หากผู้มีอำนาจยังแข็งขืน ไม่ยอมหั่น ปรับลดงบประมาณตามข้อเสนอแนะของพรรคร่วมรัฐบาล คงต้องไปลุ้นระทึกกันอีกครั้งในการโหวตชี้ขาด พ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวาระที่ 2 และ 3

ว่ารัฐบาลจะได้ไปต่อหรือไม่