จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ดำดี (2) / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

ดำดี (2)

 

‘ชี่’-‘ซี่’-‘สี้’ หรือ ‘ยาฟัน’ สะท้อนความนิยมของยุคสมัย ในวรรณคดีพบคำดังกล่าวอยู่เสมอ ดังตอนที่นางสร้อยฟ้า เมียอีกคนของพระไวยแต่งตัวไปพบเถนขวาดขอให้ช่วยทำเสน่ห์

“หวีหัวผัดหน้าสียาฟัน                                ห่มสไบสองชั้นเข้าทันที

หยิบหีบหมากส่งให้อีไหมรับ                         พลางขยับลุกเลื่อนออกจากที่”

เสฐียรโกเศศเล่าไว้ในเรื่อง “ค่าของวรรณคดี” ตอนหนึ่งว่า

“เรื่องซี่ที่เล่ามานี้ นายกี อยู่โพธิ์ อธิบายให้ฟังว่า เมื่อเด็กเคยทำให้ผู้ใหญ่ใช้อยู่เสมอ”

ข้อความข้างต้นบอกให้รู้ว่าเด็กสมัยก่อนมีส่วนร่วมในการทำซี่ด้วย ไม่เพียงแต่เท่านั้นเด็กน่าจะได้รับการปลูกฝังให้กินหมากตั้งแต่เล็ก

ดังกรณี ‘พลายชุมพล’ ลูกชายของขุนแผนและนางแก้วกิริยาใน “เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน” เคยกินหมากมาแต่เยาว์วัยหลายครั้งหลายครา

ก่อนนางวันทองจะถูกประหาร ขณะที่นางร่ำลาขออโหสิกรรมจากนางทองประศรี แม่ผัว กวีเล่าถึงพลายชุมพลซึ่งยังเล็กมาก ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ

“ชุมพลหลานคลานเข้าไปหาย่า                       แกยกหลานใส่บ่าน้ำตาไหล

นึกถึงนางวันทองร้องไห้ไป                            อุ้มชุมพลเข้าไว้ให้ดูดนม

เขาจะล้มจะตายอ้ายพลายน้อย                      อย่าร้องไห้อ้ายจ้อยกินขนม

คายหมากจากปากให้หลานอม                     จะเชยชมไม่เป็นสมประดี”

เมื่อพลายชุมพลเติบโต อายุไม่กี่ขวบก็กินหมากเป็นแล้ว ออดอ้อนขอหมากจากแม่แก้วกิริยา ดังที่กวีบรรยายว่า

“ทำชะอ้อนวอนว่าลูกเปรี้ยวปาก                    ช่วยเคี้ยวหมากให้สักคำทำปะเหลาะ”

คำว่า ‘เปรี้ยวปาก’ ในที่นี้เป็นดังที่กาญจนาคพันธุ์อธิบายไว้ในเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง” ว่า

“…การกินหมากนี้ติดกันทั้งหญิงชายทุกคนจนขาดปากไม่ได้ ถ้าไม่ได้กินก็อยากกิน ซึ่งมักพูดกันว่า ‘เปรี้ยวปาก’ …”

‘เปรี้ยวปาก’ จึงเป็นความรู้สึกอยากกินสิ่งที่เคยกิน ในที่นี้พลายชุมพลเปรี้ยวปากอยากกินหมากที่เคยกิน จึงขอให้แม่ทำหมากให้

จะเห็นได้ว่ากุมารน้อยพลายชุมพลเริ่มต้นกินหมากด้วยการอม ‘หมาก’ หรือ ‘ชานหมากจากปากย่า’ ซึ่งใกล้เคียงกับที่เสฐียรโกเศศบันทึกไว้ใน “ค่าของวรรณคดี” ว่า

“เด็กผู้หญิงพอรุ่นสาวก็ต้องสอนให้รู้จักกินหมาก กินยังไม่เป็นก็คายชานหมากในปากให้กินไปพลางก่อนเพื่อให้เป็นอุปนิสัยปัจจัยในการกินหมาก”

การหัดให้เด็กกินชานหมากเท่ากับสร้างความคุ้นลิ้นชินรสเสียก่อน ต่อไปก็กินได้ไม่ยาก ใกล้เคียงกับที่ ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “เด็กคลองบางหลวง” ว่า

“…คนในบ้านกินหมากทุกคน แม้แต่เด็กหญิงอายุราว 9-10 ขวบก็หัดกินหมากกันแล้ว…”

 

เริ่มด้วยการทำชี่-ซี่-สี้-ยาฟันอยู่ดีๆ เลยไปพูดเรื่องเด็กกินหมากนานไปหน่อย ขอกลับมาเรื่องกรรมวิธีทำซี่ต่อ ในหนังสือเรื่อง “ค่าของวรรณคดี” ยังมีรายละเอียดเรื่องนี้ที่นายกี อยู่โพธิ์ เล่าให้เสฐียรโกเศศฟังด้วยว่า นอกจากเคยทำซี่ด้วยกะลาแล้ว

“…กระทำซี่ด้วยวิธีอื่นก็คงมี เคยได้ยินมาเหมือนกัน แต่ไม่ได้สนใจจึงจำไม่ได้…”

รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ อธิบายรายละเอียดของวิธีทำซี่ต่างไป ดังจะเห็นได้จากเอกสารเรื่อง “การชมความงามของนางในวรรณคดีไทย” (ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พ.ศ.2524) ดังนี้

“…จึงต้องเอาเหล็กเผาไฟหรือใช้หัวขวานเผาให้คุแดง แล้วเอากะลาเผาไฟป่นให้ละเอียด โรยลงบนเหล็กที่กำลังคุแดงแล้วบีบมะนาวลงไปก็จะเกิดเป็นยางดำๆ…”

บทความเรื่อง “วรรณคดีไทย : สมบัติที่บรรพบุรุษให้ไว้ด้วยความรัก” ในวารสารรามคำแหง ฉบับเดือนกรกฎาคม 2519 รศ.ดร.ลัลลนา ศิริเจริญ กล่าวถึงวิธีทำซี่ว่าทำได้โดย

“…นำยางสดๆ จากเขม่าไม้มาเผาไฟให้ลุกโชน หรือเอากะลาตัวเมียครอบให้ควันขึ้นจากรูกะลา เอาเหล็กขัดแล้วนำไปลนไฟให้เขม่าควันจับ หรืออีกวิธีหนึ่งเอากะลาเผาไฟ เอาเหล็กวางบนกะลาที่ลุก แล้วเอาใบพลับพลึงหรือใบอะไรก็ได้ทับให้ยางจับ…”

จะเห็นได้ว่าทุกวิธีล้วนมี ‘กะลา’ เป็นอุปกรณ์ที่ขาดมิได้ในการทำซี่ สาวไทยสมัยก่อน ‘สวยด้วยกะลา’ แท้ๆ บางครั้งซี่ทำมาจากกะลาที่ถูกทุบเป็นชิ้นๆ ก็ได้ ทำจากกะลาเผาไฟป่นให้ละเอียด หรือทำจากยางสดจากเขม่าไม้เผาไฟให้ลุกโชน ให้ควันลอยผ่านรูกะลาตัวเมียที่ครอบอยู่ก็ได้เช่นกัน ล้วนได้ผลลัพธ์คือ ยางไม้หรือน้ำมันสีดำที่เกิดจากกะลาเผาไฟ แล้วเอายางนั้นมาใช้ขัดหรือย้อมหรือเคลือบฟันให้ดำเป็นมันวาว

นิยมฟันดำมานานเกินร้อยปี ทำไมฟันขาวมาแทนที่ ติดตามฉบับหน้า