On History : พระพุทธรูปประทับนอน ที่เมืองเสมา คือปางปรินิพพาน ไม่ใช่การบรรทมสีหไสยาสน์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
พระพุทธรูปประทับนอนในวัฒนธรรมทวารวดี ที่เมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา สร้างเมื่อราว พ.ศ.1200-1400

 

พระพุทธรูปประทับนอน

ที่เมืองเสมา คือปางปรินิพพาน

ไม่ใช่การบรรทมสีหไสยาสน์

 

ถึงแม้จะเป็นหนังสือที่ว่าด้วย “พระพุทธรูปประทับนอน” ที่ประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ในหนังสือเรื่อง “ทำเนียบพระพุทธไสยาสน์ ในเขตกรุงเทพมหานคร” ที่กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่มาตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2558 ก็ยังได้กล่าวถึงพระพุทธรูปประทับนอน ในวัฒนธรรมทวารวดี ที่วัดธรรมจักรเสมาราม อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา (ซึ่งไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพฯ แน่) เอาไว้ว่า

“มีลักษณะคล้ายกับการสร้างพระพุทธรูปอิริยาบถนอนในศรีลังกา ที่แสดงถึงพุทธจริยาวัตร 5 ประการ ในวัฏจักรหนึ่งวันหรือกิจวัตรประจำวันของพระพุทธองค์”

ส่วนกิจวัตรประจำวันตอนที่ว่า ทางผู้รู้ของกรมศิลปากรท่านก็สรุปข้อความจากอรรถกถาของกสิสูตรในพระไตรปิฎกออกมาไว้ด้วยว่า คือกิจวัตรในช่วงปัจฉิมยาม ระยะที่ 2

(ความในอรรถกถากสิสูตรระบุว่า กิจวัตรในแต่ละวันของพระพุทธเจ้านับตั้งแต่ตื่นนอน จนถึงเข้านอนนั้น แบ่งออกเป็น 5 ช่วง เฉพาะช่วงสุดท้ายคือปัจฉิมยามเท่านั้นที่จำแนกย่อยออกเป็นอีก 3 ระยะ ส่วนกิจวัตรในช่วงอื่นของแต่ละวัน จะไม่มีการจำแนกเป็นระยะย่อย)

ในแต่ละวันของพระพุทธเจ้าที่จะเสด็จเข้าไปยังคันธกุฎี (คือกุฏิของพระพุทธเจ้า) ทรงพระบรรทมสีหไสยา (สีหไสยาสน์ก็เรียก) โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (คือนอนตะแคงขวา) อย่างมีสติสัมปชัญญะ

และหลักใหญ่ใจความที่ทำให้ทางกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปที่เมืองเสมาสร้างขึ้นตามพุทธจริยาวัตรในแต่ละวันก็เป็นเพราะว่า พระพุทธรูปองค์นี้ประทับนอนสีหไสยาสน์ คือนอนตะแคงขวาอยู่ในอาคาร

แตกต่างไปจากพระพุทธรูปประทับนอนโดยทั่วไปในวัฒนธรรมทวารวดี ที่มักจะสร้างอยู่ในถ้ำหรือเพิงผา

ดังนั้น ทางกรมศิลปากรจึงนำไปเทียบเคียงกับการสร้างพระพุทธรูปนอนในวิหาร อันเป็นสัญลักษณ์แทนคันธกุฎีของลังกา ที่สร้างขึ้นตามอุดมคติเกี่ยวกับพุทธจริยาวัตรในอรรถกถากสิสูตรนั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในคันธกุฎีจำลองของศรีลังกานั้น มักจะสร้างอยู่เป็นกลุ่มร่วมกันกับพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพุทธจริยาวัตรอื่นๆ ในแต่ละวันของพระพุทธเจ้า ทำนองเดียวกันกับที่วัฒนธรรมสุโขทัยรับอิทธิพลดังกล่าวมาพร้อมพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ แล้วเรียกคติการสร้างพระพุทธรูปแบบนี้ว่า “พระสี่อิริยาบถ” นั่นเอง

แถมเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่เห็นจะมีเหตุผลอะไรเลยที่จะสร้างรูปพระพุทธเจ้าตอนนอนเฉยๆ ในแต่ละวันด้วยนะครับ แตกต่าง

ลักษณะอย่างนี้จากการสร้างพระพุทธรูปตามพุทธประวัติที่สำคัญตอนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนตรัสรู้, ปฐมเทศนา, ยมกปาฏิหาริย์, เสด็จจากดาวดึงส์, ปรินิพพาน หรือพุทธประวัติตอนอื่นที่ล้วนแต่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ที่ผูกอยู่กับอำนาจของทั้งผู้สร้างและสถานที่สร้างอย่างแน่นหนา ซึ่งแม้จะแตกต่างกันไปในรายละเอียดของการเลือกสร้าง “พุทธประวัติ” แต่ละตอน แต่จะยังประโยชน์ให้แก่ผู้สร้าง หรือสถานที่สร้างอยู่เสมอ

และแม้กระทั่งการสร้างพระพุทธรูปเป็นกลุ่ม ทำนองพระสี่อิริยาบถเองก็ตาม ถ้าจะไม่คำนึงถึงสัญลักษณ์เชิงอำนาจแล้ว อย่างน้อยการสร้างพระพุทธรูปเป็นกลุ่มตามคติความเชื่อแบบนี้ ก็ยังเป็นตัวอย่างให้นักบวชในศาสนา คือพระภิกษุสงฆ์ ใช้เป็นอนุสรณ์ในการครองตนตามอุดมคติ ที่พระศาสดากระทำไว้เป็นแบบอย่างได้

แต่การสร้างพระพุทธรูปประทับนอนอยู่โดดๆ ด้วยหวังใจให้หมายถึงการนอนในแต่ละวันของพระพุทธเจ้านั้น ออกจะไม่มีความหมาย หรือประโยชน์ต่อทั้งผู้สร้าง และสถานที่สร้างสักเท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับการสร้างเพื่อเป็นความหมายของพุทธประวัติตอนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดเจน

ที่สำคัญก็คือ นักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างก็ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า พระพุทธรูปที่เมืองเสมาองค์นี้ สร้างขึ้นราว พ.ศ.1200-1400 ในขณะที่คตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปประทับนอนในคันธกุฎีอย่างลังกานั้น เพิ่งจะมานิยมเอาเมื่อศูนย์กลางของอำนาจในเกาะลังกาอยู่ที่เมืองโปโลนนารุวะ เมื่อระหว่าง พ.ศ.1598-1779

ดังนั้น ถ้าเทียบจากอายุเวลาแล้ว พระพุทธรูปประทับนอนที่เมืองเสมา จึงไม่ควรจะได้รับอิทธิพลจากศรีลังกาหรอกนะครับ เพราะกว่าที่เกาะลังกาจะมีคตินิยมเรื่องนี้ ก็เนิ่นนานหลังจากมีการสร้างพระพุทธรูปที่เมืองเสมานับร้อยๆ ปีแล้วเลยทีเดียว

 

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ บริเวณรอบเมืองเสมานั้นเป็นแหล่งวัฒนธรรมหินใหญ่มาก่อน แถมยังมีชื่อบ้านนามเมืองปรากฏอยู่ในชื่อ “บ้านหินตั้ง” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับเมืองเสมา โดยเฉพาะวัดธรรมจักรเสมาราม ที่ประดิษฐานของพระนอนองค์นี้อีกด้วย

เมื่อคราวที่นักสำรวจชาวฝรั่งเศสในยุคอาณานิคมอย่างเอเตียน อายโมนิเย่ร์ (Étienne Aymonier) ได้มาสำรวจเมืองเสมาในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ้านหินตั้งและเมืองเสมาเอาไว้ว่า

“บ้านหินตั้ง ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านของหินตั้ง (ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า the village of the standing stones) ที่พบอิฐและก้อนหินที่ผ่านการขัดแต่งรูปทรงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแผ่นหินตั้งที่ทำขึ้นจากหินทรายแดง ที่บางชิ้นยังคงตั้งอยู่ ส่วนบางชิ้นก็ล้มลงกับพื้นเสียแล้ว

กำแพงเมืองโคราชเก่า หรือเมืองเสมาเก่า ซึ่งแปลว่าเมืองแห่งหินเสมา อย่างที่ชาวสยามเรียก ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านหินตั้งที่ว่านี้”

ควรทราบด้วยว่า อายโมนิเย่ร์ไม่ได้เป็นเพียงนักสำรวจทางโบราณคดีเท่านั้น เขายังเป็นนักภาษาศาสตร์ที่สนใจภาษาต่างๆ ในอุษาคเนย์ ถึงขนาดที่ทำดิกชันนารีภาษาจามเลยทีเดียว ดังนั้น เมื่อเขาให้ความเห็นเกี่ยวกับภาษา เทียบเคียงกับหลักฐานทางโบราณคดีจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นพิเศษ

ที่สำคัญก็คือ ในวิหารที่พระพุทธรูปประทับนอนที่วัดธรรมจักรเสมารามนั้นมีแผ่น “หินตั้ง” ที่ถูกจับบวชเข้ามาอยู่ศาสนาพุทธเรียกว่า “ใบเสมา” ตั้งล้อมอยู่ โดยก่อนหน้าที่พุทธศาสนาจะเผยแพร่เข้ามาในอุษาคเนย์นั้น

แผ่นหินพวกนี้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาผีพื้นเมืองมาก่อน

 

งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่มีการเก็บข้อมูลกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย มาจนถึงยุคปัจจุบันชี้ให้เห็นความเชื่อในศาสนาผีดั้งเดิมที่แพร่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาคตะวันออกไกล รวมทั้งอุษาคเนย์ว่า “หินตั้ง” เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้นำชุมชนในยุคศาสนาผีเมื่อตายไปแล้วนั้น จะกลับเข้าไปรวมกับพลังงานความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชน เพื่อคอยบันดาลความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุขให้กับชุมชน หรือลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่

ในจีนตั้งแต่ยุคราชวงศ์โจวราว 3,000 ปีที่แล้วเป็นต้นมา เรียกพลังงานความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่านี้ว่า “เทียน” (แปลว่าฟ้า หรือสวรรค์) ส่วนอุษาคเนย์ในกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทย-ลาว เรียกพลังงานเดียวกันนี้ว่า “แถน”

คติการนับถือหินที่เกี่ยวข้องกับ “ความตาย” นั้น ดูจะเข้ากันได้ดีกับพุทธประวัติการ “ปรินิพพาน” ของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะเมื่อความตายนั้น ยังนำไปสู่การให้คุณให้โทษต่อเราได้

และต้องอย่าลืมด้วยว่า ถึงแม้ในทางอุดมคติของศาสนาพุทธนั้นจะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าจะหลุดพ้นจากวัฏสงสาร คือถึงพระนิพพานไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัตินั้น ผู้คนก็ยังคงกราบไหว้พระพุทธรูปในฐานะที่ให้คุณกับตนเองได้มาตั้งแต่อดีตนับจนกระทั่งทุกวันนี้

ดังนั้น จึงไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยสักนิด ถ้าที่เมืองเสมาจะสร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพาน เพราะเป็นแหล่งหินตั้ง ในวัฒนธรรมหินใหญ่ของศาสนาผีพื้นเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความตายและความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพชนมาก่อน ชื่อบ้านนามเมืองทั้ง “บ้านหินตั้ง” และ “เมืองเสมา” ก็เป็นหลักฐานอยู่ทนโท่

การสร้างพระพุทธรูปประทับนอนไว้ในอาคาร ไม่เห็นจำเป็นจะต้องหมายถึงการบรรทมสีหไสยาสน์ในคันธกุฎีอย่างเดียวเสียหน่อยไม่ใช่หรือครับ?