“จาตุรนต์” ชี้ ก้าวสู่ปีที่ 8 รัฐประหาร 57 ต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เย้ยไม่เสียของแต่ประเทศเสียหายยับ

วันที่ 23 พฤษภาคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang เขียนเรื่อง ปีที่ 8 หลังการรัฐประหารจะต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

นายจาตุรนต์ระบุว่า ครบรอบ 7 ปีเป็นช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ในวิกฤตหนักหน่วงรุนแรงมากที่สุด ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในปี 2557 เป็นต้นมา

สถานการณ์ของประเทศทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความล้มเหลวในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคุมสถานการณ์ได้และความล่าช้าในการฉีดวัคซีน ทำให้มีผลต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและถดถอยลง รัฐบาลไม่สามารถเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนและยังไม่มีมาตรการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้เลย

ขณะนี้ประเทศไทยติดกับดักทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง คือกำลังเผชิญกับปัญหาที่ใหญ่หลวงแต่ไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้ ต้นตอของวิกฤตนี้มาจากการรัฐประหารและการวางระบบกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการตลอดมานั่นเอง

สิ่งที่ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารไม่เกิดผลตามที่อ้างแม้แต่เรื่องเดียว ไม่มีการปฏิรูปใดๆเกิดขึ้น บ้านเมืองอาจสงบชั่วคราว แต่ก็เพียงกลบเกลื่อนและบ่มเพาะความขัดแย้งไว้จนผู้นำคณะรัฐประหารเองกลายเป็นขั้วหนึ่งของความขัดแย้งกับประชาชนเสียเอง ส่วนที่อ้างว่าจะปราบคอร์รัปชันนั้น นอกจากไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแล้ว ยังสร้างระบบที่เอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะในหมู่ผู้มีอำนาจระดับสูง

คณะรัฐประหารมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้การรัฐประหารไม่ “เสียของ” เหมือนการรัฐประหารก่อนนั้น ซึ่งพวกเขาก็ทำสำเร็จคือทำให้พรรคการเมือง ระบบการเมืองและระบบรัฐสภาอ่อนแอลง การเลือกตั้งไร้ความหมาย ประชาชนไม่สามารถกำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาลและรัฐบาลควรมีนโยบายอย่างไร ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบควบคุมรัฐบาลได้ไม่ว่าโดยตรงหรือผ่านสภา จะอาศัยองค์กรอิสระก็ไม่ได้ เนื่องจากทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจหมดแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหมือนตอนที่ยังเป็น คสช. นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์ชาติที่จะใช้กำกับควบคุมทิศทางในการบริหารประเทศไปอีกยาวนานด้วย

ผู้ทำรัฐประหารกับพวก ไม่ “เสียของ” แต่ประเทศเสียหายยับเยิน

ระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดหลักประกันในการสืบทอดอำนาจเผด็จการอย่างยาวนานนี้ ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่มีใครยอมรับ เป็นรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีใครตรวจสอบได้ ผลที่ตามมาก็คือเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าที่สุดในอาเซียน ความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็ได้รับผลกระทบหนักกว่าหลายๆประเทศและจากนี้ไปก็มีแนวโน้มจะเสียหายมากกว่าใครๆ อีกเช่นกัน

หลายฝ่ายเริ่มเห็นตรงกันว่าหากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ยังบริหารต่อไป ประเทศชาติก็จะเสียหายมากขึ้นถึงขั้นหายนะ จึงมีเสียงเรียกร้องมากขึ้นๆ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก แต่ระบบกติกาที่สร้างไว้ก็ยังคุ้มกันปกป้องไม่ให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ง่ายๆ จนมีความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญกันขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ 7 หลังการรัฐประหารนี้เองได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจะเปลี่ยนระบบกติกาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำไม่ได้อีก

นี่คือการติดกับดักทางการเมืองที่คณะรัฐประหารกับพวกได้วางไว้

ที่ติดกับดักอีกเรื่องหนึ่งก็คือเศรษฐกิจ ระบบการเมืองที่เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่ยึดหลักนิติธรรม รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพและบริหารไม่เป็น ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศมีน้อยลงมาก การลงทุนในประเทศเองก็น้อย การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซ้ำเติมให้สถานการณ์เศรษฐกิจเลวร้ายลงไปอีก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยวและการทำมาค้าขายทั่วไป ประชาชนขาดรายได้ ยากจนและมีหนี้สินมากขึ้น ไม่มีกำลังจะจับจ่ายใช้สอย

สภาพเช่นนี้ การใช้จ่ายภาครัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับประเทศหลายประเทศแล้วประเทศไทยใช้งบประมาณในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจน้อยมากและยังใช้อย่างล่าช้าสะเปะสะปะ ไม่มีประสิทธิภาพ จะลดความเสียหายทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าและกระต้นฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะต้องอาศัยการใช้จ่ายภาครัฐมากกว่าที่รัฐบาลใช้อยู่หรือที่เตรียมจะใช้อีกมาก

แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ทั้งการขาดดุลงบประมาณและเพดานหนี้สาธารณะ ความจริงข้อจำกัดนี้จะแก้เสียก็ได้ ไม่มีประเทศไหนที่มัดมือมัดเท้าตัวเองในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจไว้อย่างประเทศไทย แต่จะแก้กติกาเหล่านี้ก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายเสียแล้วเพราะไม่มีใครไว้ใจว่ารัฐบาลจะไม่ทำให้สูญเปล่าอีก หรือแม้แต่การลักไก่อนุมัติการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกู้เงินอีก 7 แสนล้านบาท ที่ไม่สามารถอธิบายถึงความจำเป็นและไม่มีแผนรองรับ ก็มีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นที่ยอมรับอย่างรุนแรง จนไม่มีใครรู้ว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

การที่รัฐบาลไม่สามารถเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้นและใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยข้อจำกัดที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง จึงทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพติดกับและถ้ายังไม่หลุดพ้นจากกับดักนี้ เศรษฐกิจไทยก็จะเสียหายยับเยินและถดถอย ไม่อาจฟื้นฟูได้ไปอีกนาน

วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองส่งผลต่อกันและกัน กับดักทางเศรษฐกิจและการเมืองก็ผูกติดกันอย่างแยกไม่ออก ปัญหาทั้งหลายรวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรี รัฐบาลและระบบกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการรัฐประหาร หากประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวิกฤตนี้ได้ ต้องทำลายกับดักเหล่านี้เสีย คือต้องทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่

ปีที่ 8 หลังการรัฐประหาร จะต้องเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤต มิฉะนั้นก็อาจต้องอยู่กับความวิบัติหายนะกันไปอีกนาน