ใคร ‘ไม่พร้อม’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ใคร ‘ไม่พร้อม’

 

รณรงค์กันยกใหญ่เพื่อให้ประชาชนมาฉีดวัดซีนโควิด-19 ทั้งขู่ให้เห็นว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อ อันตรายกว่าความเสี่ยงจากการแพ้วัคซีน ทั้งปลอบว่าวัคซีนยี่ห้อที่ดีที่สุดคือวัคซีนที่ได้ฉีด ทั้งอ้อนวอนว่า “ฉีดเพื่อชาติ”

แต่ถึงที่สุดการฉีดวัคซียนของประเทศไทยเรายังห่างไกลจากเปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้เกิด “ภูมิต้านทานหมู่” อีกมากมาย

ทั้งที่เห็นกันชัดๆ ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสู้หลักหมื่นในแต่ละวันแล้ว

เปล่าเลย! ไม่ใช่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ หากลองหาข้อมูลให้ลึกลงไปจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะภาครัฐเองที่ “ไม่พร้อม” ต่างหาก

มีวัคซีนไม่พอนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่กระทั่งวัคซีนที่มีอยู่ยังคิดกระบวนการที่จะฉีดให้เร็วให้กว้างขวางเต็มที่ไม่ได้

นั่นเป็นสภาพที่เกิดขึ้น

 

เป็นความไม่พร้อม และคิดไม่ออกบอกไม่ได้ของกลไกรัฐบาลเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปริมาณวัคซีนที่มีแค่คำสั่งจอง มีคนขายให้หรือไม่ก็ไม่รู้ มีแต่การเชิญชวนให้ลงทะเบียน จนถึงประกาศให้วอล์กอินฉีดได้เลย แต่จิ้มโทรศัพท์กันมือหงิกก็ไม่ได้วันนัด และไม่รู้ว่าจะวอล์กอินไปที่ไหน

ชาวบ้านธรรมดาแทบไม่มีโอกาส ขณะในโลกออนไลน์คนกลุ่มหนึ่งกลับโชว์ว่าฉีดแล้วกันคึกคัก

ยิ่งรณรงค์ทำให้คนอยากฉีดกันมาก ยิ่งเกิดคำถามเรื่องอภิสิทธิ์ชนมากเท่านั้น

ขณะที่รัฐบาลไม่มีคำตอบอะไรเลย แถมยังสร้างกระแสเหมือนกับว่าคนทั่วไปไม่อยากฉีด ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำขึงขังประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ”

จนรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นชั้นเชิงเบี่ยงประเด็นปกป้องตัวเองของรัฐบาล ให้ความผิดเป็นของประชาชน

หากถามว่าเป็นเช่นนั้นหรือ

 

“กรุงเทพโพลล์” ล่าสุดที่สำรวจเรื่อง “คนไทยพร้อมไหม? หาก COVID-19 ไม่ห่างไกลเรา” อาจจะพอให้คำตอบได้

ในคำถามที่ว่า “รู้หรือไม่ว่าต้องทำตัวอย่างไร หากติดเชื้อ COVID-19” ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่า “รู้” โดยมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 80.1 ขณะที่ระบุว่า “ไม่รู้” โดยมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 19.9

นั่นหมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ หรือว่าไปคือเกือบทั้งหมดตามข้อมูลโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

ที่ชัดยิ่งขึ้นคือเมื่อถามว่า “อยากให้ภาครัฐเร่งให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องใด เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีน COVID-19”

ร้อยละ 76.6 ตอบว่าอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีด, ร้อยละ 68.8 ผลดีผลเสียจากการฉีด, ร้อยละ 65.9 วิธีปฏิบัติตัวทั้งก่อนฉีดและหลังฉีด, ร้อยละ 59.7 ความชัดเจนเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ หรือผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

ร้อยละ 55.8 ให้มีระบบจัดการ/ป้องกันข้าวปลอมหรือเฟกนิวส์เรื่องวัคซีน

 

เป็นผลสำรวจที่คล้ายจะสะท้อนความไม่รู้เรื่องอะไรเลยของประชาชน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุนำไปสู่การลังเลที่จะฉีด

แต่อีกมุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นเหมือนกันว่า การเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมค่อนข้างแย่ บริหารจัดการกันอย่างไรจึงทำให้ประชาชนกลัววัคซีนที่ประเทศไทยเลือกใช้กันขนาดนั้น

เป็นผลสำรวจที่เบี่ยงประเด็นจากไม่มีวัคซีนพอ และระบบจัดการเพื่อให้สามารถฉีดได้อย่างทั่วถึงไม่พร้อม กลายเป็นประชาชนหวาดระแวงกันไปเอง

“วาระแห่งชาติ” ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักถึงความไม่พร้อม

ช่างมีกลไกมากมายที่จะชี้ให้เห็นว่า ที่ “ไม่พร้อม” คือประชาชน