เครื่องเคียงข้างจอ : ย้ายประเทศกันเถอะ ? / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ย้ายประเทศกันเถอะ ?

 

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วลีที่เป็นที่เกิดกระแสฮือฮาในสังคมคือ “ย้ายประเทศกันเถอะ”

ใครที่ติดตามข่าวคงพอรู้ว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ” เป็นเฟซบุ๊กเพจที่ถูกสร้างขึ้นมาและมีผู้ติดตามถึงกว่า 5 แสนคนในเวลาอันสั้น เรื่องนี้ไม่ธรรมดา

ไม่ว่าจะถูกสร้างขึ้นมาด้วยเจตนาอะไร คิดอย่างนั้นจริงๆ หรือการเมือง หรือประชดประชัน แต่การที่มีคนติดตามเพจจำนวนมากเช่นนี้ น่าจะบอกอะไรบางอย่างให้กับสังคมได้

จำนวนกว่า 5 แสนนั้น แน่นอนคือคนที่เห็นด้วย เอนเอียง คล้อยตามกับความคิดที่ว่า และแน่นอนที่ย่อมมีคนที่ไม่เห็นด้วย และอาจจะมองไปต่างๆ นานา

เรื่องของเด็กงอแงไม่ได้ดั่งใจ หรือแค่ทำประชดรัฐบาลเล่นๆ หรือก็ไปเสียสิ อยู่ทำไมกัน…ก็มี

แต่ไม่ว่าอย่างไร อย่างน้อยเราควรหันมามองและใคร่ครวญ

 

ซึ่งหากใครได้เข้าไปดูในเพจที่ว่านี้ จะน่าแปลกใจที่ไม่ได้อุดมไปด้วยวาจาและความคิดถากถางประชดประชันบ้านเมืองและผู้นำของประเทศอย่างที่เราเข้าใจอย่างเดียว หลายการสนทนาเป็นการให้ข้อมูลของการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ อย่างจริงจัง เหมือนโฆษณาเชิญชวนศึกษาต่อต่างประเทศยังไงยังงั้น

มีแบ่งเป็นทีมประเทศอเมริกา ทีมประเทศแคนาดา และประเทศอื่นๆ อีก พร้อมรายละเอียดการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่นั่น ดูห่างไกลจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองไม่น้อย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็มีหลายคนที่คิดอยากย้ายไปประเทศอื่นจริงๆ การที่คนคนหนึ่งมีความคิดทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ทุกคนสามารถมีความคิดเป็นของตนเองได้ ตามประสบการณ์ชีวิต ตามเงื่อนไข ตามความเชื่อและทัศนคติที่แตกต่างกัน

จริงๆ แล้วทุกวันนี้โลกเปิดกว้างกว่าเดิมขึ้นมาก แม้ประเทศจะมีพรมแดนกั้นระหว่างกันตามลักษณะของภูมิศาสตร์และการปกครอง แต่ในแง่ของความเป็นมนุษย์แล้ว เราทุกคนล้วนเป็นพลเมืองของโลก คุณอาจจะเกิดที่ประเทศหนึ่ง และไปเติบโตอีกประเทศหนึ่ง สุดท้ายอาจไปจบชีวิตที่อีกประเทศหนึ่งก็เป็นได้

ไม่ว่าคุณจะเลือกอยู่กับประเทศไหน อยู่ที่ว่าคุณอยู่ที่นั่นอย่างมีความสุขได้มากแค่ไหนต่างหาก เป็นการอยู่ที่เราจะ “อดทน” ได้หรือไม่

 

พอพูดถึงเรื่อง “อดทน” จึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบธรรมชาติระหว่างวัย ที่ผู้ใหญ่รุ่นเกิน 40 ปีขึ้นไปมักมีความอดทนสูง เพราะสังคมที่เขาเติบโตมาเป็นเช่นนั้น จะว่าไปคนรุ่นนี้ได้เห็นตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เขาแล้วว่าต้องอดทนในการสร้างเนื้อสร้างตัวแค่ไหน อดทนเพื่ออนาคตไม่ใช่เพื่อวันนี้ เป็นยุคของการสร้างหลักฐานเพื่อการเติบโต และคุณภาพชีวิตที่ดี (ตามที่สังคมกำหนด)

เด็กๆ รุ่นหลัง ที่ถูกมองว่า “ความอดทนต่ำ” ก็เพราะสังคมโดยรอบที่เขาเติบโตมามันเป็นเช่นนั้น ทุกอย่างรวดเร็ว ทันใจ มีทางเลือกมากมาย อันนี้ไม่ได้ ไม่เป็นไร หันไปหาสิ่งใหม่ มีทางลือกของชีวิตหลากหลายกว่าคนยุคก่อนๆ เยอะ

ภาพชีวิตของเด็กรุ่นใหม่ที่เขามอง อาจจะแตกต่างจากภาพชีวิตของคนรุ่นพ่อ-แม่อย่างสิ้นเชิงก็ได้

เขาอาจจะไม่อยากมีชีวิตที่ทำงานหนักเพื่อสบายในวันข้างหน้า

เขาอาจจะอยากทำงานแล้วสบาย มีความสุขในวันนี้เลย แม้จะแลกกับโอกาสก้าวหน้าก็ตาม เพราะเขาไม่จำเป็นต้องก้าวหน้าในแบบเดิมๆ ไม่จำเป็นต้องสำเร็จในความสำเร็จแบบที่เคยเป็นมา

เห็นชัดๆ คือ เมื่อผู้เป็นลูกเรียนจบปริญญาตรี พ่อ-แม่ส่วนใหญ่จะบอกว่าให้รีบสมัครงาน จะได้มีงานทำ พ่อฝากให้ได้นะ ที่นี่มั่นคงดี เอาไหม?

แต่เด็กยุคใหม่หลายคนคิดว่า เขายังไม่อยากรีบกระโดดสู่โลกการทำงาน หากอยากออกไปเผชิญโลกที่เปิดกว้างมากกว่า หลายคนจึงขอเดินทางท่องเที่ยว 1 ปีเต็มก่อนจะกลับมาคิดถึงเรื่องงาน

หลายคนเลือกที่จะทดลองทำงานที่หลากหลายแบบไม่จริงจัง เพื่อจะได้เห็นงานในแบบต่างๆ กัน

ช่วง 1 ปีนั้น เป็นโอกาสที่เขาจะได้เปิดโลกทัศน์ เปิดมุมมองที่หลากหลายของโลกใบนี้ เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาชื่นชอบและมีความสุขกับมันจริงๆ ซึ่งบางคนก็ได้รับคำตอบ บางคนก็หาคำตอบไม่พบ และวนเวียนอยู่กับคำถามนั้นต่อไป

 

ย้อนกลับมาเรื่องย้ายประเทศกันเถอะ ที่คนกลุ่มหนึ่งมีความรู้สึกเช่นนี้ก็เป็นหนึ่งในความรู้สึกที่เปิดกว้างที่ว่า

เขาอาจจะรู้สึกสิ้นหวังกับประเทศนี้แล้วจริงๆ ก็ได้จึงคิดจะย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ซึ่งแน่นอนที่ทุกที่ย่อมมีความแตกต่างกัน มีปัญหาและพื้นฐานที่แตกต่างกัน หากคุณอยู่ประเทศเดิมแล้วไม่รอดจริงๆ ไม่เอา ไม่ทนแล้ว หากการย้ายประเทศใหม่แล้วตอบโจทย์คุณได้ แม้จะต้องเจอกับปัญหาใหม่ที่เราต้องเผชิญ แต่หากคุณ “อดทน” กับมันได้ ก็เป็นเรื่องที่คุณเลือกเอง และขอแสดงความยินดีที่คุณเลือกถูกและมีความสุขกว่าที่เดิม

แต่หากการขอย้ายประเทศกันเถอะ เป็นแค่เสียงที่อยากสะท้อนถึงผู้นำประเทศให้ได้ตระหนักว่า พวกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ เป็นเสียงเพื่อกระตุกพวกเขาให้คิดถึงประชาชนมากขึ้น ก็เท่ากับว่าคุณยังยินดีอยู่ในประเทศนี้ แม้จะต้อง “อดทน” ก็ตาม

เป็นการอยู่ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ หากจะต้องพูดจา โต้เถียง ตบตีกันบ้าง ก็ควรช่วยกันทำเพื่อให้ประเทศที่เราเลือกอยู่นี้ดีขึ้นในสายตาของเรา เพราะต้องยอมรับว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้จริงๆ

เพราะเราเลือกคนอยู่ร่วมกับเราไม่ได้ เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่ทั้งเหมือนเราและที่ต่างจากเรา ทำอย่างไรที่เราจะอยู่ร่วมกันให้ดีที่สุด

เราจะเลือกใช้วิธีไหนที่จะทำให้ประเทศที่เราเลือกอยู่นั้นดีขึ้น แต่ละคนก็ต่างวิธีกันไป แต่ละคนก็ต่างเป้าหมายสุดท้าย

 

ความสวยงามของโลกประชาธิปไตย คือความหลากหลายที่ยอมรับร่วมกัน การยอมรับนี้ขอเรียกร้องจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้มีอำนาจและฝ่ายผู้อยู่ใต้อำนาจ

แน่นอน ที่คนมีอำนาจจำต้องลุกขึ้นมาแสดงออกถึงท่าทีแห่งการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างจริงใจเสียก่อน เชื่อว่าเมื่อนั้นเราจะพูดคุยกันได้มากขึ้น รู้เรื่องขึ้น

เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องจากผืนดินที่เราเลือกที่จะอยู่นี้ไปในวันหนึ่ง วันนั้นมาถึงทุกอย่างก็เป็นอนิจจังที่แท้จริง

ย้ายหรือไม่ย้าย อาจจะไม่สำคัญเท่ากับ เราทุกคนมาจากศูนย์ แล้วก็จบไปแบบศูนย์ ไม่ว่าคุณจะอยู่บนประเทศไหนในโลกใบนี้ก็ตามที