คณิตศาสตร์วัคซีน/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

คณิตศาสตร์วัคซีน

 

ในทางคณิตศาสตร์มีตัวเลขสำคัญอย่างน้อย 3 ตัว ซึ่งผู้มีหน้าที่ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ควรให้ความสนใจและนำมาเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขวิกฤต คือจำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้ฉีดวัคซีน และแผนการจัดการวัคซีนในอนาคต

ตัวเลขทั้งหมด คือข้อเท็จจริงที่หากเรานำมาคิดวิเคราะห์ เราอาจเห็นมุมมองที่น่าสนใจต่างๆ และเป็นเครื่องมือในการวางแผนที่ถูกต้องเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

แต่หากเรามุ่งแต่แก้ปัญหาเป็นรายวัน ดูแค่สถานการณ์เฉพาะหน้า คงไม่ต่างกับหนูติดจั่นที่วิ่งวุ่นไปมาอย่างเหน็ดเหนื่อย

และไม่เห็นทางออก

ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อ

 

นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2563 ที่ปรากฏผู้ติดเชื้อคนแรกของไทยเป็นคนขับรถแท็กซี่ที่รับผู้โดยสารชาวจีนที่มาจากเมืองอู่ฮั่นไปส่งที่โรงพยาบาล จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นจากหลักสิบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ไปสู่หลักร้อยในช่วงปลายมีนาคม 2563 และสามารถกดให้ลดลงเหลือหลักสิบได้ในกลางเดือนเมษายน 2563 ด้วยมาตรการล็อกดาวน์ห้ามเข้า-ออกจังหวัดบางจังหวัดโดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หลังจากนั้นราว 8 เดือนจนถึงธันวาคม 2563 เราสามารถกดตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันให้ต่ำกว่าสิบรายได้เป็นเวลายาวนาน ด้วยการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการมีมาตรการรณรงค์ต่างๆ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ วันที่ 19 ธันวาคม 2563 เมื่อมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นวันเดียว 576 คน จากกรณีแรงงานพม่าที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ตลาดกุ้ง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โดยร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างด้าว ตัวเลขหลังจากนั้น จึงเป็นตัวเลขหลักร้อยมาโดยตลอด

จนถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อ 14 เมษายน 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อทะยานขึ้นหลักพัน คือ 1,335 คน หลังจากนั้น ตัวเลขหลักพันเป็นตัวเลขที่ยังคงปรากฏรายวันของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย

ในแง่ของการใช้ตัวเลขเพื่อพยากรณ์การขยายตัวของโรคระบาด คือ R0 หรือ R Number (R zero หรือ Reproduction Number) เป็นตัวเลขที่บ่งบอกถึงอัตราการแพร่เชื้อ ค่า R ยิ่งสูงหมายถึงอัตราการขยายตัวในการแพร่เชื้อยิ่งมาก เช่น R = 2.5 เท่ากับคนติดเชื้อหนึ่งคนได้แพร่กระจายเชื้อไปให้คนอื่นอีก 2.5 คน

ตัวเลขที่ทางการแพทย์ถือว่าต้องกังวลใจ คือ หาก R มีค่ามากกว่า 1 เป็นสถานการณ์ที่ต้องตื่นตัวระมัดระวัง

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลข R ของประเทศต่างๆ ในโลกนั้น สหรัฐอเมริกาเคยขึ้นสูงสุดเมื่อ 17 มีนาคม 2563 ถึง 3.67 แต่ก็ควบคุม จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเพียง 0.85 (ข้อมูลเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกขณะนี้ อยู่ที่ 1.0 (ข้อมูลเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 : Ourworldindata.org)

สำหรับประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยรับรู้นัก คือ เราเคยมีค่า R สูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2564 ถึง 2.23 แต่ในปัจจุบันลดลงเหลือ 1.14 (ข้อมูลเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564) แต่ก็ยังเป็นค่าที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน และตัวเลข R เป็นตัวเลขที่ผู้บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศพึงให้ความใส่ใจ ไม่ใช่เพื่อตื่นตระหนก แต่เพื่อเร่งหามาตรการในการควบคุมอย่างชาญฉลาดและทันเหตุการณ์ เพื่อมิให้ค่า R นั้นเติบโตตามธรรมชาติ ไม่มีการควบคุม

เพราะตัวเลขในอดีตบอกเราแล้วว่า ค่า R แม้จะสูง แต่ถ้าการจัดการดี สามารถทำให้ลดลงได้

ตัวเลขจำนวนผู้ฉีดวัคซีน

 

ร้อยละของจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ถือเป็นตัวเลขสำคัญที่สะท้อนความก้าวหน้าในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ว่าจะมีความเห็นมากมายถึงประสิทธิภาพของยา (Efficacy) แต่ละบริษัทที่แตกต่างกัน

แต่การได้ฉีดเร็วและกว้างขวางทั่วถึง ย่อมหมายถึงการคืบหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค และเห็นอนาคตของการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ตัวเลขของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.82 (ข้อมูลเมื่อ 8 พฤษภาคม 2564) ซึ่งถือว่ายังเป็นอัตราที่ต่ำมาก

เมื่อนำข้อมูลการฉีดวัคซีนของไทยในอดีต นับตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แก่ประชาชน จนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 เป็นเวลา 72 วัน เราสามารถฉีดวัคซีนทั้งเข็มแรกและเข็มที่สองได้เพียง 1,809,894 โดส หรือหากคิดเป็นสมรรถนะในการฉีดเฉลี่ยรายวัน คือ 25,137 เข็มเท่านั้น

ตัวเลขดังกล่าว แม้จะมีข้อแก้ตัวว่า เป็นเรื่องของการฉีดในระยะแรกที่จัดฉีดแก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการโรค และยังมีจำนวนวัคซีนเข้ามาไม่มากนัก แต่ก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่า หากสมรรถนะในการฉีดเป็นเช่นนี้หรือสูงกว่านี้ไม่มาก แผนการจัดฉีดวัคซีนแบบปูพรมในอนาคตจำนวนถึง 500,000 โดสต่อวันจะมีความเป็นไปได้เพียงไร

ลองเอาตัวเลขวัคซีนอีก 98.2 ล้านโดสที่ยังไม่ฉีด จากเป้าหมาย 100 ล้านโดสในสิ้นปี 2564 ที่รัฐบาลประกาศเป็นตัวตั้ง แล้วเอาจำนวนค่าเฉลี่ยที่สามารถฉีดได้ในอดีตเป็นตัวหาร ได้เท่ากับ 3,906 วัน หรือเท่ากับเกือบ 11 ปีจึงจะฉีดครบ

หรือลองเอาจำนวนที่เคยฉีดได้สูงสุดในอดีต คือ 1.52 แสนโดสในวันที่ 22 เมษายน 2564 ตัวเลขที่หารได้คือ 646 วัน หรือประมาณ 1 ปี 10 เดือนจึงแล้วเสร็จ

การฉีดให้ได้ตามเป้า 100 ล้านโดสในสิ้นปี จึงต้องเพิ่มสมรรถนะในการฉีดให้ได้ถึงราว 500,000 โดสต่อวัน หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยฉีดได้ราว 20 เท่า

นี่คือสิ่งที่ท้าทายการจัดระบบการบริหารจัดการฉีดวัคซีนของรัฐบาลประยุทธ์ว่าจะสามารถทำได้หรือเป็นเพียงแค่คำพูดปลอบใจชาวบ้านไปวันๆ

ตัวเลขแผนการจัดฉีดวัคซีน

 

หากเป้าหมายคือ 98.2 ล้านโดส ในกรอบเวลาราว 7 เดือนที่เหลือ ตัวเลขที่ต้องสามารถฉีดได้ต่อวันคือ 500,000 โดส จะต้องถูกกระจายออกไปยังโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่มีขีดความสามารถในการฉีดประมาณ 1,300 แห่งทั่วประเทศ

ตัวเลขราว 400 โดสต่อวันคือยอดจัดสรรที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งสามารถฉีดได้ในแต่ละวัน หรือหากคำนวณว่า 1 วันมี 8 ชั่วโมงที่ทำงานเต็มที่ ยังเท่ากับจำนวน 50 คนต่อชั่วโมง

การคำนวณตัวเลขดูไม่ยาก แต่สำหรับการจัดการนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนการฉีดนั้นหมายความถึงนับแต่ระบบการขนส่งแจกจ่ายวัคซีน การเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม การจัดระบบการนัดหมาย สถานที่รอคอย การตรวจเบื้องต้น ไปจนถึงกระบวนการฉีด และการรอคอยหลังฉีดอีกอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงเพื่อดูผลที่ตามมา ไม่รวมความเครียด ความเหนื่อยล้าของบุคลากร ตลอดจนแรงกดดันจากอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ทั้งหมดจะเป็นการจัดการที่ใหญ่ที่สุดนับแต่ตั้งประเทศไทยมา

คณิตศาสตร์วัคซีน จึงเป็นเรื่องการคำนวณตัวเลขที่เป็นสิ่งเตือนให้รู้ถึงข้อเท็จจริง ปัญหาอุปสรรคต่างๆ และการพยากรณ์ถึงสิ่งที่อาจต้องเผชิญในอนาคต

ตัวเลขบอกให้เรารู้ว่า เกิดอะไรในอดีต ต้องทำอะไรในปัจจุบัน และสมควรเตรียมการอะไรในอนาคต

และนอกจากตัวเลข 3 ตัวที่ต้องกังวลแล้ว เมื่อมองความสามารถในการบริหารจัดการของผู้นำประเทศในปัจจุบัน หลายคนอาจจะห่วงในตัวเลขที่ 4 คือจำนวนเซลล์ในสมองที่มีจะเพียงพอกับการจัดการความยากลำบากครั้งนี้ให้ผ่านลุล่วงได้หรือไม่