“ข้อจำกัด หรือ ข้ออ้าง” : กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร

ณ องค์กรยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ใจกลาง กทม.

ในห้องประชุมแห่งเดิม ชั้น 28

สมชาย กำลังปวดหัวกับ “ผลงาน” ของลูกน้อง

และนี่ก็เป็นอีกครั้งในการ “ทบทวนแผนงาน” ประจำปี

เป้าหมายที่ “วางไว้” ก็พลาดเช่นเคย

คนในทีมก็มีมากมายไม่ขาดแคลน

“งบประมาณ” ก็ขอมาให้แล้วไม่อั้น

ทุกคนก็ดูตั้งใจทำงาน กลับบ้านกันดึกๆ ดื่นๆ

แต่ทำไมผลงานจึง “ขาดทุน” อยู่ร่ำไป

“เหตุผล” ของการพลาดเป้า มีให้แก้ตัวกันได้เรื่อยๆ

จะเปลี่ยนคนทำงาน ณ ตอนนี้ ก็ดูจะยังไม่เหมาะสม

สมชาย ต้องการ “ที่ปรึกษา”

เขามาหา “เพื่อนคนเก่ง” ที่พึ่งพาได้เสมอ

คุณคือ “เพื่อน” ของสมชาย

คุณจะช่วยเขาอย่างไร

เมื่อสมัยผมเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ประเทศอเมริกา

มีอาจารย์ท่านหนึ่ง เป็นขวัญใจนักเรียนหมู่มาก

ชื่อว่า “ทีน่า ซีลิก (Tina Seelig)” ครับ

ทีน่า เขียนหนังสือขายดีมากมายหลายเล่ม

เล่มหนึ่งที่คนไทยรู้จักดีมีชื่อว่า

“น่าจะรู้อย่างนี้ ตั้งแต่อายุ 20”

หนังสือขายดีตลอดกาลของสำนักพิมพ์ We Learn

ทีน่า สอนวิชา “ผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)”

ในชั้นเรียนครั้งแรก ทีน่ามักจะให้โจทย์ “ฝึก” การเป็นผู้ประกอบการทันที

“ฉันให้เงินพวกคุณ 5 ดอลลาร์ ให้เวลาพวกคุณสองชั่วโมง จงออกไปนอกชั้นเรียนทำให้เงินงอกเงย วิธีใดก็ได้ เดี๋ยวเจอกัน”

เงินก้นถุง 5 ดอลลาร์ กับเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง เป็น “ข้อจำกัด” ที่บังคับให้เราต้องคิด “นอกกรอบ”

ตอนแรก เด็กนักเรียนอย่างเราๆ ก็ร้อง “โอดครวญ” กันใหญ่

คิดว่า จะทำได้ไงเนี่ย สร้างธุรกิจด้วยเงินแค่นี้

แต่ปรากฏว่า มีนักเรียนหลายต่อหลายคน หาเงินได้เกินหนึ่งร้อยดอลลาร์ ภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง

ที่น่าสนใจคือ คนที่ทำเงินได้เยอะ จะไม่ได้ใช้เงิน “5 ดอลลาร์” ที่ให้มาด้วยซ้ำ

เขาคิดใหม่เลยว่า “ถ้าไม่มีเงินสักบาท จะทำธุรกิจได้อย่างไร”

พอพลิกมุมคิด วิธีการใหม่ๆ ก็เปิดออก

ก็ธุรกิจ “บริการ” ไง

บางคนไปรับจ้างสอนหนังสือสั้นๆ

บางคนไปรับจ้าง “ต่อคิว” ซื้อกาแฟร้านดังในเมือง

คนที่ทำ “เงิน” สูงสุด หัวหมอมาก

เอาเวลาที่เขาได้ในการ “นำเสนอ” งานตอนจบชั้นเรียน ไปขายให้บริษัทแถวนั้น

ให้บริษัทเขามานำเสนอบริษัทตัวเอง ชวนเด็กไปทำงานซะงั้น

ได้เงินมาหลายร้อยเหรียญเลยทีเดียว

คนเราเมื่อมี “ข้อจำกัด” หลายครั้งก็ “สร้างสรรค์” งานได้อย่างไม่น่าเชื่อ

บทเรียนแรกๆ ของเรื่อง “ผู้ประกอบการ”

ไม่มีเงิน ไม่ใช่ประเด็นในการทำธุรกิจ

เป็นเพียง “ข้ออ้าง” เท่านั้นเอง

“อดัม แกรนต์” อาจารย์ชื่อดังที่มหาวิทยาลัย “วอร์ตัน”

โรงเรียนธุรกิจอันดับต้นๆ ของโลก จากรัฐเพนซิลเวเนีย

เคยเขียนข้อสังเกตหนึ่งไว้ในหนังสือ “ออริจินอล (Originals)” ของเขา อย่างน่าสนใจ

เขาค้นเจอข้อมูลว่า ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จหลายคน

หรือคนที่ทำอาชีพที่อาจจะดูไม่มั่นคง ไม่เหมือนคนหมู่มาก เช่น นักแสดงตลก นักกีฬาเบสบอล นักกีฬารักบี้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับบาดเจ็บมากกว่านักกีฬาชนิดอื่นๆ

คนเหล่านี้มักจะเป็น “ลูกคนเล็ก”

ถามว่า ทำไม

ศึกษาไป ศึกษามา ก็พบว่า

หนึ่ง ผู้ปกครองมักจะตื่นเต้นกับ “ลูกคนแรก” มากกว่า

มีกฎระเบียบอะไรมากมาย จะจัดการให้คนแรกอยู่กับร่องกับรอย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีลูกหลายคนเข้า

ก็มักจะลดความเข้มงวดลง

ทำให้ “ลูกคนเล็ก” มีอิสระ จะทำอะไรได้มากกว่าลูกคนโต ที่ดูจะเป็น “ต้นแบบ” ของครอบครัว

ข้อสอง ทำไมหนอ ลูกคนเล็กจึงกล้าเสี่ยงนอกกรอบมากกว่าลูกคนโต

เพราะลูกคนเล็กจะเด่นได้ ต้องทำตัว “แตกต่าง” จากพี่ๆ

ลูกคนโต พี่ใหญ่ ตัวโตกว่า เรียนสูงกว่า ฉลาดกว่า ทำอะไรได้เยอะกว่าเสมอ

น้องคนเล็ก จะเด่น ได้ความสนใจจากคนรอบข้าง

ต้องหาทางทำอะไรที่ “แตกต่าง” ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งสู้ “พี่” ไม่ได้

ข้อจำกัด ผลักดันให้พวกเขาต้อง “คิดนอกกรอบ”

แจ๊ก หม่า (Jack Ma) นักธุรกิจชาวจีน ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

ผมโชคดีสองอย่าง จึงทำให้ประสบความสำเร็จ

หนึ่ง ผมไม่มีความรู้เรื่อง “เทคโนโลยี” ของที่ทำขึ้นมาทุกอย่าง ถ้าผมใช้เป็น คนทั่วๆ ไปก็ควรจะใช้เป็น

ผมจึงเป็น “บททดสอบ” ที่ดีของผลิตภัณฑ์อาลีบาบา ก่อนจะออกสู่ตลาด

สอง ผมมี “เงินน้อย” ตอนเริ่มทำธุรกิจ

ทำให้ทุกบาททุกสตางค์ที่จะต้องใช้ ต้องคิดแล้วคิดอีก

ไม่ได้ใช้เงินเหมือนลูกคนรวยชาวจีนหลายคนที่ทำธุรกิจ ลงเอย เจ๊งทุกราย เพราะคิดไม่ถี่ถ้วน ไม่รอบคอบ

“ข้อจำกัด” ทำให้ผมต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น

ทำให้ผมประสบความสำเร็จมาจนทุกวันนี้

นึกคำแนะนำให้สมชายเพื่อนรัก ออกรึยังครับ

“ลองให้เงิน 5 ดอลลาร์ และเวลาสองชั่วโมง” ดูมั้ย

เผื่อลูกน้อง จะ “คิดนอกกรอบ” ดูบ้าง

“ข้อจำกัด” ช่วยให้สร้างสรรค์งาน “นอกกรอบ” ได้

นี่แหละ หลักการสร้างสรรค์ จากข้อจำกัดที่เรียกว่า Creative Constraint ที่มีอยู่จริง

อาวุธลับของ “มวยรอง” โดยแท้