ไฟเซอร์ : แคนาดาไฟเขียวให้ฉีดในเด็กอายุ 12-15 ปี ‘นิวยอร์กไทม์ส’ แก้กราฟฟิค หลังเข้าใจคลาดเคลื่อนไทยนำเข้า

วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 บีบีซี รายงานว่า แคนาดาได้อนุญาตให้ใช้วัคซีนโควิดของไฟเซอร์-ไบออนเทค กับกลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 12-15 ปีได้แล้ว นับเป็นประเทศแรกที่ให้ฉีดวัคซีนโควิดของไฟเซอร์กับกลุ่มอายุดังกล่าว โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขของแคนาดาเปิดเผยว่า จากข้อมูลการทดสอบในเฟส 3 กับกลุ่มเยาวชน พบว่า วัคซีนดังกล่าวปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการใช้กับกลุ่มเยาวชน

ก่อนหน้านี้ แคนาดา ได้อนุญาตให้ใช้วัคซีนของไฟเซอร์กับกลุ่มคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นปี โดยที่เขตอัลเบอร์ต้า ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อในระดับสูงกล่าวว่า ได้เสนอให้ใช้วัคซีนกลุ่มอายุ 12 ปีขึ้นไปตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

สำหรับแคนาดา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1.2 ล้านคน โดยมี 20% ของจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 19 ปี ส่วนการฉีดวัคซีนในแคนดา ตามข้อมูลของ Our World in Data ระบุ ค่อนข้างเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากปัญหาการขนส่ง โดยตอนนี้มีประชาชนราว 34% ของประเทศที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส ขณะที่สหรัฐฯข้อมูลระบุมีการฉีดวัคซีนโควิดอย่างน้อย 1 โดสแล้ว 44%

ขณะที่ ประเทศไทยนั้น กลายเป็นประเด็นเดือดหลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าวัคซีน ยี่ห้อไฟเซอร์ มาเพื่อฉีดคนบางกลุ่ม โดยอ้างอิงจากเว็บไซต์นิวยอร์กไทม์ ที่มีการแสดงแผนภูมิประเทศที่มีการใช้วัคซีนไฟเซอร์ และมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในการใช้วัคซีนฉุกเฉิน

ด้าน อย.ได้แถลงยืนยันว่า ไม่มีการขออนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด และ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทย ก็มีการออกมาชี้แจงเช่นเดียวกัน ว่า ยังไม่มีการนำเข้ามายังประเทศไทย และอยู่ระหว่างขั้นตอน การทำงานกับประเทศไทย

ล่าสุด พบว่า เว็บไซต์ นิวยอร์กไทม์ ได้แก้ไขกราฟิกที่มีการอ้างอิงว่า ประเทศไทย มีการนำเข้าวัคซีน ไฟเซอร์ โดยอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน จากเดิมที่กราฟฟิกประเทศไทยเป็นสีเหลือง กลายเป็นสีขาว โดยรายงานดังกล่าว รวบรวมข้อมูลการอนุมัติใช้งานวัคซีนแต่ละตัว ในแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งอ้างอิงมาจาก สำนักข่าวเอพี

ภาพใหม่ กราฟฟิกประเทศไทย หายไปแล้ว

โดยรายงานต้นฉบับ สำนักข่าวเอพี รายงานไว้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ประเทศไทยจะเริ่มลดเวลากักตัว สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งต้องได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย และ/หรือ จากองค์การอนามัยโลกเท่านั้น รวมทั้งมีข้อความว่าไทยให้การรับรองวัคซีนไปแล้ว 7 ตัว ทำให้อาจจะมีการเข้าใจผิด หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ว่า ประเทศไทยนำเข้า แต่บทความดังกล่าว หมายถึง หากฉีดวัคซีนที่รับรอง 7 ตัว ก็จะได้รับการลดระยะเวลากักตัวเท่านั้น