มองปัจเจก-โลกของคนรุ่นใหม่ ผ่าน #ย้ายประเทศกันเถอะ และ #MilkTeaAlliance/รายงานพิเศษ ไซเบอร์ วอชเมน

รายงานพิเศษ

ไซเบอร์ วอชเมน

 

มองปัจเจก-โลกของคนรุ่นใหม่

ผ่าน #ย้ายประเทศกันเถอะ

และ #MilkTeaAlliance

 

กระแสทิศทางประเด็นทางสังคมถูกนำเสนอบนโลกออนไลน์มามากขึ้น

หลายประเด็นก่อความเชื่อมโยงครั้งใหญ่ ยกระดับข้ามพรมแดน ข้ามวิธีคิด ข้ามวัฒนธรรม

ก่อเกิดแนวคิดใหม่ วัฒนธรรมใหม่ สำนึกใหม่ที่แตกต่างจากกรอบเดิมที่เราคุ้นชิน

มีปรากฏการณ์ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

อย่างการรัฐประหารในพม่าที่กลายเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือนจนมีคนถูกจับ ได้รับบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หรือการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย

พร้อมๆ กับกระแสประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นในไทยที่มีปัญหาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด จนการมาถึงของโควิด-19 และเกิดการระบาดระลอก 3 ที่สร้างความเสียหายหลายเท่า จนทำให้ความท้อแท้ของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นอนาคต

สิ่งที่เหมือนกันของกระแสที่เกิดขึ้นทั้งในพม่าและในไทย คือการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่บนโลกออนไลน์ มีการแลกเปลี่ยน ถกเถียงอย่างเข้มข้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

#ย้ายประเทศกันเถอะ

เมื่อไทยไม่ใช่ที่สำหรับคนหนุ่มสาวอีกต่อไป?

ภาวะไม่ทนหรือตัดพ้อต่ออนาคตประเทศที่ไร้ความหวัง ไร้โอกาส เป็นเส้นเรื่องต่อเนื่องจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ทนต่อการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ขึ้นเป็นผู้นำมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 จนมาต่อหลังการเลือกตั้งปี 2562 และแสดงตัวออกมาผ่านการชุมนุมบนท้องถนนตลอดปี 2563

บรรดาข้อเรียกร้องและเสียงที่สื่อสารออกไปถึงผู้นำนั้น พวกเขาได้ยินเสียง แต่ไม่รับฟัง และยังทำการปิดเสียงด้วยการคุกคาม การยัดข้อหาและการปราบปรามในนามการรักษาความสงบเรียบร้อย (ที่สงบจนเงียบงันชวนวังเวง) และศีลธรรมอันดี (แต่ชวนย้อนแย้ง)

ประกอบการระบาดของโควิด-19 ที่เหมือนซ้ำเติมความหวังที่ริบหรี่อยู่แล้วให้แทบสิ้นหวัง จากการแก้ไขปัญหาการระบาดที่ไม่ถูกจุดและล่าช้า ซึ่งสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของบริหารของรัฐบาลและระบบราชการ หรือความอยุติธรรมไร้มาตรฐาน ส่งผลทำให้คนหนุ่มสาวซึ่งมีความสามารถและทักษะที่สูงจำนวนมาก ตัดสินใจมองหาโอกาส ความหวังและอนาคตที่ดีกว่าประเทศนี้

นำไปสู่แฮชแท็กสุดร้อนแรงไม่นานมานี้อย่าง #ย้ายประเทศกันเถอะ

จุดเริ่มต้นมาจากเรื่องราวที่ถูกเปิดเผยของเน็ตไอดอลสาว กลับกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังแชร์คลิปการปราศรัยของอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ล่าสุดได้สถานะผู้ลี้ภัยไปอยู่ที่แคนาดา

ต่อมามีการแสดงความคิดเห็นเชิงเปรียบเทียบโดยหยิบหลายประเทศที่มีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีกว่ามาเทียบกับไทย จนกระทั่งได้เกิดเพจกรุ๊ปในชื่อเดียวกับเทรนด์นี้

เพจ “ย้ายประเทศกันเถอะ” นำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนไทยที่ไปต่างประเทศไม่ว่าเรียนต่อ ทำงานหรือพำนักอาศัยมากว่า 3 ปี มาให้กับใครก็ตามที่สิ้นหวังกับชีวิตไร้อนาคตในไทยหรือเพราะบางเหตุผล ก็ทำให้มีสมาชิกเติบโตรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อด้วยจำนวนกว่า 6 แสนคนจากการเปิดในเวลาไม่ถึงสัปดาห์

มีการแบ่งทีมสำหรับคนหลายอาชีพตามกลุ่มประเทศ ไม่ว่าโซนอเมริกา โซนยุโรปหรือโซนเอเชีย ได้ให้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

แล้วจะเห็นความปรารถนาของคนที่อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้นั้นเป็นอย่างไร

 

#MilkTeaAlliance

พันธมิตรออนไลน์ที่มาไกลกว่าที่คิด

ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อชวนน่ากินอย่าง “พันธมิตรชานม” เริ่มต้นจากเรื่องไม่เป็นเรื่องกลายเป็นพันธมิตรประชาธิปไตยเอเชียบนโลกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดและกำลังขยายแนวร่วมไปยังคนรุ่นใหม่อีกหลายประเทศที่ปรารถนาการสร้างประเทศและสังคมที่เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเชื่อมโยงไปการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเอเชียโดยเฉพาะบางประเทศที่จีนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

ความเคลื่อนไหวนี้คึกคักมากในทวิตเตอร์ จนเมื่อเดือนที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ได้ปล่อยอิโมจิเพื่อยกย่องเชิดชูการเคลื่อนไหวทางการเมืองบนโลกออนไลน์ที่โดดเด่น ซึ่งสร้างความปลื้มปีติให้กับคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน ไทย พม่าและอีกหลายที่ทั่วโลก

แต่การยกย่องให้กลุ่มพันธมิตรชานมขึ้นมาโดดเด่น กลับเป็นเรื่องไม่ถูกใจอย่างยิ่งในสายตารัฐบาลจีน

โดยทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกบล็อกในจีนเช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก เพราะกระแสพันธมิตรชานมบนทวิตเตอร์ ได้สร้างปรากฏการณ์ของคนที่ต่อต้านจีนอย่างเหนียวแน่น รัฐบาลจีนก็ออกมาโจมตีทวิตเตอร์ไม่หยุด รวมถึงโจมตีกลุ่มพันธมิตรชานมที่ออกมามีส่วนร่วมกับการต่อสู้ของคนหนุ่ม-สาวในพม่า

เนื่องด้วยจีนกลายเป็นตำบลกระสุนตกเพราะถูกมองว่าสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าที่ก่อการรัฐประหารและกลายเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาชาวพม่าที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ในการต่อสู้ทางการเมืองในพม่า จะเห็นกระแสความเป็นหนึ่งเดียวของพันธมิตรชานมในหลายประเทศ เช่น พันธมิตรชานมพม่า หรือมาเลเซีย ก็จะช่วยเผยแพร่เนื้อหาสถานการณ์ในพม่าที่รัฐบาลปิดกั้นออกสู่สายตาทั่วโลก

พันธมิตรชานมถือเป็นกรณีศึกษาของการเชื่อมโยงของคนรุ่นใหม่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ นำไปสู่การสร้างสำนึกใหม่ในระดับโลกที่กำลังท้าทายโครงสร้างรัฐดั้งเดิมได้อย่างน่าสนใจ

เมื่อพินิจกระแส “ย้ายประเทศกันเถอะ” หรือ “พันธมิตรชานม” โลกออนไลน์ได้แสดงศักยภาพของการเป็นพื้นที่ระดมความคิด เติมเต็มแรงบันดาลใจ เยียวยาใจอันท้อแท้สิ้นหวัง เชื่อมโยงความเป็นปัจเจก เข้ากับโลกที่พวกเขาปรารถนาที่สุด

โลก…ที่ชีวิตมีอนาคต